สวนกล้วยไม้ระส่ำสูญหมื่นล้าน พิษโควิด-ต้นทุนปุ๋ย-ยาพุ่ง-ราคาตกต่ำ

โควิด 2 ปีทำสวน-ผู้ส่งออกกล้วยไม้ สูญกว่า 10,000 ล้านบาท เลิกกิจการเหตุตลาดหลักจีน ตรวจเข้มโควิด สินค้าติดคาด่าน ตลาดในประเทศกำลังซื้อลด ราคาตกต่ำ วอนรัฐหาแหล่งเงินทุน ลดภาษีปุ๋ย-ยาราคาพุ่ง

นางสาวกฤษณา มีขำ นายกสมาคมผู้ส่งออกดอกกล้วยไม้ไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมตลาดกล้วยไม้ไทยส่งออกได้น้อยมาก เนื่องจากตลาดหลักส่งออกไปจีนกว่า 70-80% ส่วนประเทศอื่นส่งออกน้อยลง และค่าระวางเครื่องบินราคาสูงขึ้น 3-4 เท่าตัว ส่งผลให้ราคาตกต่ำเฉลี่ยเหลือ 0.50 สต./ช่อ

ทั้งนี้สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อรายได้ของชาวสวน และผู้ประกอบการส่งออก รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 10,000 ล้านบาท โดยชาวสวนประสบภาวะขาดทุนนานหลายปี ทำให้มีการเลิกกิจการไปกว่า 10% ประมาณ 8,000 ไร่ ถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้คาดว่าประมาณกลางปี 2565 ชาวสวนจะเลิกกิจการอีก 10-20%

“เกษตรกรไม่อยากเลิกกิจการ แต่ไม่มีทุนไปต่อ โดยเฉพาะโซนบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร จ.นครปฐม เพราะเจอโควิดมา 2-3 ปี เนื่องจากตลาดกล้วยไม้ไทย ส่งออกไปประเทศจีนเป็นหลัก ทำให้ได้รับผลกระทบ 100% ส่วนตลาดประเทศอื่นก็ใช้ปริมาณน้อยลง”

ตั้งแต่เกิดโรคโควิด-19 ระบาด รัฐบาลยังไม่มีการช่วยเหลือเยียวยาเลย ทั้งผู้ส่งออกและเกษตรประสบภาวะขาดทุน อยากให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนแหล่งเงินทุนให้เกษตรกรเดินหน้าต่อไปได้ เพราะว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก รวมถึงลดภาษีปุ๋ย ยา มีการปรับราคาขึ้นไปประมาณ 30-40% สวนทางกับราคาดอกกล้วยไม้ขายไม่ได้ ส่งออกไม่ได้

“เราขอรัฐบาลแค่ 2 อย่าง ถ้ารัฐบาลช่วยเหลือเกษตรกรก็ไปต่อได้ ก่อนหน้านี้ทางสหกรณ์ผู้ประกอบการกล้วยไม้ไทยเคยเข้าไปเจรจาขอค่าชดเชยระยะสั้น 1,000-2,000 บาท/ต่อไร่จากทางรัฐบาล แต่เรื่องก็ยังเงียบอยู่”

ด้านนายสุวิทชัย แสงเทียน เจ้าของสวนกล้วยไม้บ้านโป่งออร์คิด และประธานกลุ่มผู้เลี้ยงกล้วยไม้ จ.ราชบุรี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลจีนมีนโยบาย Zero COVID ทำให้กล้วยไม้ที่ส่งออกไปติดปัญหาที่ด่านกักกันโรค ทำให้ไม่สามารถส่งออกได้ เป็นปัญหาที่ต้องให้ทางภาครัฐเข้าไปเจรจา ซึ่งไม่ทราบว่าการเจรจามีความก้าวหน้าอย่างไรบ้าง ที่ผ่านมาชาวสวนที่ปลูกกล้วยไม้ขายได้เฉพาะตลาดภายในประเทศ ซึ่งประสบปัญหากำลังซื้อลดลง ทำให้สินค้าล้นตลาด ส่งผลให้ราคาตกต่ำ

“สินค้าเกษตรของไทยทุกตัวที่ส่งออกไปจีน ทั้งทุเรียน มะพร้าวน้ำหอม กล้วยไม้ ฯลฯ ติดปัญหาที่ด่านหมด ตอนนี้ชาวสวนหลายแห่งดึงเงินออมเก่าออกมาใช้ ผู้ส่งออกหลายบริษัทได้รับผลกระทบเรื่องกระแสเงินสด ต้องพยายามลดความเสี่ยง ทำให้ตลาดถูกดาวน์ลงอัตโนมัติ สำหรับสวนขนาดเล็กตัวเกษตรกรอายุมากขึ้น โอกาสจะเลิกกิจการมีสูง โดยเฉพาะแถบชานเมือง เช่น สมุทรสาคร นครปฐม ทั้งนี้ตั้งแต่เกิดโควิดระบาดถึงปัจจุบัน ผู้ปลูกกล้วยไม้ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล ตอนนี้รัฐบาลก็เตี้ยอุ้มค่อม ต้องช่วยเหลือตัวเองมากกว่าทบทวนและแก้ไข”

สำหรับตลาดเดิม เช่น ญี่ปุ่น โซนยุโรป สหรัฐ ต้องการสินค้าคุณภาพ ทำให้ส่งออกได้น้อยลง เนื่องจากเกษตรเน้นผลิตสินค้าส่งออกไปประเทศจีน ทำให้แนวโน้มคุณภาพของกล้วยไม้ไทยในแต่ละฟาร์มมีน้อยลง ตลาดส่งออกสินค้าคุณภาพเริ่มหายไป พอจะกลับไปทำเกษตรกรก็มองว่ายาก ทำให้เกิดปัญหาช่องทางตลาดเล็กลง หากอยากจะฟื้นตลาดต้องกลับไปผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและดีกว่าเดิม

แหล่งข่าววงการธุรกิจกล้วยไม้ไทย กล่าวว่า เนื่องจากเกษตรประสบภาวะขาดทุนมานานกว่า 2 ปี ส่งออกไม่ได้ราคาสินค้าค่อนข้างต่ำ ส่งผลให้ผู้ประกอบการกล้วยไม้เลิกกิจการมากกว่า 50% ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เกษตรกรยังไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยมีการส่งออกกล้วยไม้ประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อปี แต่ปัจจุบันมูลค่าความเสียหาย 2 ปี รวมกว่า 10,000 ล้านบาท

ที่ผ่านมากล้วยไม้ถือเป็นสินค้าอีก 1 ชนิดที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ และอันดับ 1 ของโลกที่มีการส่งออก เช่น กล้วยไม้สกุลหวาย ก่อนหน้าทางสหกรณ์ชาวสวนได้ยื่นข้อเรียกร้องไปที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์หลายครั้ง แต่ไม่มีการตอบรับ ครั้งที่เจอวิกฤตน้ำท่วมปี 2554 ตอนนั้นรัฐบาลมีการเยียวยาและธุรกิจเริ่มฟื้นตัวอีกครั้ง และสร้างรายได้เข้าจำนวนมหาศาล แต่ในคราวนี้ธุรกิจกำลังล้ม หากไม่มีการเยียวยาคงล้มไปเกือบหมด ทั้งนี้ อยากให้รัฐบาลเหลียวแล และหันมามองธุรกิจนี้บ้าง เพราะผู้ประกอบการกล้วยไม้ก็เสียภาษีเหมือนกัน

“อยากจะเป็นเสียงสะท้อนจากชาวสวนกล้วยไม้ไปถึงรัฐบาลว่า สิ่งที่เรียกร้องไม่ได้มากเลยกับการที่จะประคองอาชีพสวนกล้วยไม้ให้คงอยู่ต่อไป เราเข้าใจว่ารัฐบาลลำบากต้องกู้เงินมาเพื่อพยุงเศรษฐกิจในประเทศ”

และไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนไปใช้หนี้ ทุกคนลำบากเพราะไม่รู้ว่าโควิด-19 จะหายเมื่อไหร่ ก็อยากจะให้โรคโควิด-19 หายไปเร็ว ๆ แล้วเรามาเริ่มต้นกันใหม่ ไม่ว่าอาชีพไหนก็คนไทยด้วยกัน”

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุมูลค่า 15 ตลาดหลักส่งออกกล้วยไม้ของไทย ปี 2561 มูลค่า 2,823.10 ล้านบาท ปี 2562 มูลค่า 2,649.23 ล้านบาท ปี 2563 มูลค่า 1,738.51 ล้านบาท ปี 2564 มูลค่า 2,210.58 ล้านบาท ปี 2565 (ม.ค.-มี.ค.) มูลค่า 656.83 ล้านบาท โดยตลาดหลัก ได้แก่ เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ อิตาลี