เศรษฐา ลงพื้นที่จันทบุรี สั่งเข้มรักษาชื่อเสียงทุเรียนส่งออกต้องได้คุณภาพ

นายกเศรษฐาลงพื้นที่จันทบุรี สั่งเข้มรักษาชื่อเสียงทุเรียนส่งออก ปลายทางต้องได้คุณภาพ เกษตรกรต้องเข้าถึงเทคโนโลยี การจัดสรรน้ำในสวนต้องมีเพียงพอ

วันที่ 27 เมษายน 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในโอกาสลงพื้นที่ตรวจราชการที่จังหวัดจันทบุรีติดตามการผลิตทุเรียนคุณภาพปลอดภัยมูลค่าสูงและรับฟังปัญหาจากเกษตรกร ณ สวนนวลทองจันท์ ตำบลมาบไพ อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี

ว่าขณะนี้เป็นต้นฤดูในการเก็บเกี่ยวผลผลิตของผลไม้ภาคตะวันออก โดยเฉพาะทุเรียนซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่รัฐบาลให้ความสำคัญ มีตลาดส่งออกปลายทางหลักคือประเทศจีน จากปริมาณความต้องการบริโภคทุเรียนของชาวจีน เฉลี่ยคนละ 0.7 กิโลกรัมต่อปี

และเชื่อมั่นว่าจากคุณภาพมาตรฐานของทุเรียนไทยที่ส่งออกไป จะทำให้ค่าเฉลี่ยชาวจีนที่บริโภคทุเรียนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต แต่ต้องมีการพัฒนาการปลูกทุเรียนภายใต้มาตรการเพื่อสร้างความได้เปรียบประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม จึงสั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พัฒนาสายพันธุ์ของทุเรียน การแปรรูป การใช้ปุ๋ยเคมีและการกำจัดศัตรูพืช การควบคุมทุเรียนด้อยคุณภาพ

พร้อมทั้งให้บูรณาการร่วมกับกระทรวงพาณิชย์เข้มงวดกับทุเรียนส่งออก เพื่อให้ประเทศปลายทางได้รับทุเรียนคุณภาพ และเป็นการรักษาชื่อเสียงของทุเรียนไทยให้คงอยู่ตลอดไป

Advertisment

นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติและกรมชลประทานจัดสรรน้ำให้เพียงพอต่อการขยายพื้นที่ปลูกทุเรียน ในด้านของการขนส่งโลจิสติกส์ได้สั่งการไปยังกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ให้บูรณาการทำ One Stop Service ที่ด่านชายแดนเพื่อให้การขนส่งออกเป็นไปได้ด้วยดี

การส่งเสริมการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจัดกิจกรรมโปรโมทให้คนมารับประทานทุเรียนและท่องเที่ยวในพื้นที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม ส่วนเรื่องปัญหาด้านแรงงานได้สั่งการให้กระทรวงแรงงานเร่งจัดหาแรงงานให้เพียงพอต่อความต้องการของพี่น้องเกษตรกร และส่งต่อโมเดลการบริหารจัดการนี้ไปยังพื้นที่ปลูกทุเรียนในเขตภาคใต้ต่อไป

ด้าน นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้รายงานสถานการณ์การปลูกทุเรียนของภาคตะวันออกปี 2567 ว่า มีเนื้อที่ยืนต้นรวม 687,140 ไร่ เนื้อที่ให้ผลผลิตแล้วรวม 424,724 ไร่ ปริมาณผลผลิตรวม 782,874 ตัน ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่อยู่ที่ประมาณ 1.8 – 2.5 ตันต่อไร่ ซึ่งจะทำให้ Net Profit Margin อยู่ที่ประมาณ 50 – 60 เปอร์เซ็นต์ โดยการส่งออกในปีที่แล้วมีอัตราการเติบโตอยู่ประมาณ 8% คาดว่าปีนี้จะสามารถส่งออกเพิ่มขึ้นไปได้ถึง 1 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 1.4 แสนล้านบาท

Advertisment

ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรมีมาตรการป้องกันควบคุมคุณภาพ โดยบูรณาการทำงานร่วมกับทุกหน่วยงาน ในส่วนของการจัดการช่วงต้นทาง มีมาตรการตรวจก่อนตัดเพื่อตรวจวัดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งของเนื้อทุเรียน ซึ่งเกษตรกรจะนำผลทุเรียนตัวอย่างมารับบริการที่จุดบริการตรวจก่อนตัด ณ สำนักงานเกษตรอำเภอและจุดให้บริการอื่นที่กำหนด เมื่อผ่านเกณฑ์ที่กำหนดตามแต่ละสายพันธุ์ เจ้าหน้าที่จะออกใบรับรองเพื่อให้เกษตรกรนำไปแนบกับสำเนาใบรับรอง GAP

และได้แนะนำให้เกษตรกรสลักด้านหลังสำเนาไว้ทุกครั้งว่าผลผลิตนั้นนำไปส่งที่ไหนอย่างไร เพื่อส่งไปยังแหล่งรวบรวมรับซื้อได้สอบทานที่รับและให้กรมวิชาการเกษตรได้ตรวจสอบกำกับ

“ความท้าทายต่อไปก็คือการบริหารจัดการน้ำ การปรับเพิ่มผลิตภาพการใช้น้ำในภาคตะวันออกซึ่งต้องมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น การสร้างโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีและเครื่องจักรกลสมัยใหม่ เพื่อทดแทนแรงงานที่ลดน้อยลง และปรับตัวรองรับอุณหภูมิจากผลกระทบของ Climate Change นอกจากนี้เรื่องของการพัฒนาระบบ Cold Chain จะเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านปริมาณและราคา รวมทั้งการเปิดตลาดใหม่ และการเชิญชวนนักท่องเที่ยวเข้ามาบริโภคภายในประเทศมากขึ้น” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

ด้าน นายสุเทพ นพพันธ์ เจ้าของสวนทุเรียนนวลทองจันท์ กล่าวว่า สวนนวลทองจันท์เป็นต้นกำเนิดของทุเรียนสายพันธุ์นวลทองจันทร์ ซึ่งเป็น 1 ใน 15 สายพันธุ์ที่ได้รับการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของจังหวัดจันทบุรี

โดยทางสวนได้ให้ความสำคัญเรื่องของคุณภาพและมาตรฐาน ปฏิบัติตามหลักมาตรฐานการเกษตรที่ดีและเหมาะสมสำหรับพืช (GAP) สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคจนเกิดการสั่งซ้ำและบอกต่อ ทำให้ทุเรียนจากสวนนวลทองจันท์เป็นที่รู้จักและติดตลาด สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้จากแบรนด์และสัญลักษณ์ GI ที่ติดอยู่ข้างกล่อง

นอกจากนี้ทุเรียนที่ไม่สามารถส่งออกได้ ก็นำมาจำหน่ายทางออนไลน์เป็นที่ยอมรับในตลาดดีมาก ซึ่งในอนาคตมีแผนที่จะขยายตลาดเพิ่มมากขึ้น ทั้งตลาดผลสดและแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าต่อไป อย่างไรก็ตามทุกภาคส่วนควรเตรียมพร้อมเพื่อการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบจากปัญหาด้านทรัพยากรน้ำ ด้านการบำรุงรักษาต้นทุเรียนให้สมบูรณ์แข็งแรงสามารถต้านทาน/แก้ปัญหาโรค แมลงศัตรูพืช ด้านการขนส่งและกระจายสินค้า และด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานในช่วงเก็บเกี่ยวที่เพียงพอ