เครดิตบูโร ไขข้อข้องใจ “แบล็กลิสต์” มีจริงไหม ทำไมคนถึงขอสินเชื่อไม่ผ่าน

เครดิตบูโร เปิดความเข้าใจ “ติดแบล็กลิสต์ มีจริงไหม” หลังมีคนเข้าใจผิด เหตุขอสินเชื่อแบงก์ไม่ผ่าน อ้างเหตุ “ติดเครดิตบูโร-ติดแบล็กลิสต์” เผย จัดเก็บข้อมูลการชำระหนี้ตามความเป็นจริงแค่ 2 สถานะ “ปกติ-ค้างชำระ” พร้อมเก็บข้อมูลย้อนหลังไม่เกิน 3 ปีตามกฎหมายกำหนด ชี้ ขอสินเชื่อไม่ผ่านอาจมาจากหลายสาเหตุ

วันที่ 9 พฤษภาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลายคนอาจจะมีความเข้าใจผิดในเรื่อง “แบล็กลิสต์” หรือ “ติดเครดิตบูโร” ทำให้การขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินไม่ผ่าน เช่น กรณีก่อนหน้านี้ที่มีผู้เสียหายออกมาแชร์เรื่องราวว่าต้องแบกรับหนี้ค้างชำระ 7 เดือน พร้อมกับติด “เครดิตบูโร” แบบงง ๆ หลังจากซื้อเครื่องกรองน้ำบริษัทแห่งหนึ่ง แต่พนักงานไม่นำสินค้าที่ซื้อเข้าระบบ ทำให้ยอดไม่ตัดบัตรจนเสียเครดิต ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาเวลาขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้

ซึ่งเรื่องนี้ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร ได้เคยเผยแพร่บทความในเว็บไซต์ไว้ในเรื่อง “จริงไหม…ที่เขาบอกว่าเรา “ติดแบล็กลิสต์” ? เลยกู้สินเชื่อไม่ผ่านสักที แม้ว่าจะปิดหนี้ไปนานแสนนานแล้วก็ตาม โดยระบุว่า เรื่องนี้ “ไม่เป็นความจริง” การเก็บข้อมูลของเครดิตบูโร ไม่ได้มีการทำเป็นแบล็กลิสต์ หรือบัญชีดำในฐานข้อมูลแต่อย่างใด

สิ่งที่เครดิตบูโรจัดเก็บ คือข้อมูลการชำระหนี้ตามความเป็นจริง โดยมีสถานะกำกับไว้ ว่ามีการชำระปกติ หรือค้างชำระมาแล้วกี่วัน

กรณีที่ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ ไม่ค้างชำระ รายงานจะแสดงสถานะว่าเป็น “ปกติ” กรณีที่มีการผิดนัดชำระ รายงานจะแสดงสถานะ “ค้างชำระ” ในระบบข้อมูลของเครดิตบูโร

Advertisment

รายงานข้อมูลเครดิตเป็นการรายงานประวัติการชำระสินเชื่อตามข้อเท็จจริง แต่ไม่มีการรายงานว่าลูกหนี้คนใดติดแบล็กลิสต์ และเครดิตบูโรไม่มีสิทธิที่จะอนุมัติ หรือร่วมตัดสินใจให้สินเชื่อกับใคร โดยเครดิตบูโรจะเก็บข้อมูลย้อนหลังไม่เกิน 3 ปีตามที่กฎหมายกำหนด หากชำระหนี้เก่าที่ค้างครบแล้ว หรือปิดหนี้แล้ว และไม่ได้มีการค้างชำระอีก ผ่านไป 3 ปี (36 เดือน) ประวัติค้างชำระก็จะหายไป

“รายงานข้อมูลเครดิต” คือข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการชำระหนี้ โดยจัดเก็บไว้ในระบบฐานข้อมูลของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) และจะปรากฏในรายงานข้อมูลเครดิต เมื่อมีผู้ขอเรียกดูข้อมูลในเครดิตบูโร ประกอบด้วย 2 ส่วน

1.ข้อมูลที่บ่งชี้ถึงตัวตนเจ้าของบัญชี เช่น ชื่อ ที่อยู่ วันเดือนปีเกิด สถานภาพการสมรส อาชีพ เลขที่บัตรประชาชน และกรณีที่เป็นนิติบุคคล จะเป็น ชื่อ สถานที่ตั้ง เลขที่ทะเบียนนิติบุคคล เป็นต้น

2.ข้อมูลเกี่ยวกับสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติ และประวัติการชำระสินเชื่อ ประวัติการชำระราคาสินค้าหรือบริการโดยบัตรเครดิต รวมทั้งสถานะบัญชี ว่ามีการชำระตรงเวลาตามปกติหรือไม่ หากมีสินเชื่อหลายบัญชี หรือมีบัตรเครดิตหลาย ๆ ใบ รายงานก็จะมีหลายหน้ามากขึ้น แยกตามแต่ละบัญชีสินเชื่อ

Advertisment

ทำไมผู้กู้ให้ข้อมูลครบหมดแล้ว ประวัติหนี้เสียไม่มี ยังขอสินเชื่อไม่ผ่าน ?

สาเหตุที่สถาบันการเงินไม่อนุมัติสินเชื่อ อาจเป็นไปได้หลายอย่าง ได้แก่

  • นโยบายการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบการแต่ละแห่งแตกต่างกัน
  • ประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาของลูกหนี้
  • โอกาสในการผิดนัดชำระหนี้มากหรือน้อย
  • ภาระหนี้ที่มีอยู่เดิม และความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ขอสินเชื่อ
  • หลักประกันความเสี่ยง เช่น หลักทรัพย์ค้ำประกัน ผู้ค้ำประกัน

ทั้งนี้ ถ้ากู้ไม่ผ่าน หรือถูกปฏิเสธสินเชื่อ โดยธนาคารหรือสถาบันการเงินให้เหตุผลว่า เป็นเพราะข้อมูลในเครดิตบูโรหรือเกี่ยวข้องกับเครดิตบูโร ธนาคารหรือสถาบันการเงินต้องออกหนังสือชี้แจงเหตุผลที่ไม่ให้กู้หรือปฏิเสธให้สินเชื่อโดยชัดเจนว่า ไม่ให้กู้เพราะข้อมูลของท่านในเครดิตบูโรเป็นอย่างไร เช่น มีข้อมูลแสดงว่ามีประวัติค้างชำระ มีหนี้หรือวงเงินสินเชื่อมากเกินไป เป็นต้น

จากนั้นคุณสามารถนำหนังสือชี้แจงดังกล่าว พร้อมกับบัตรประชาชนตัวจริง มายื่นขอตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเครดิตบูโรได้ฟรี ที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโรทุกแห่ง ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือค่ะ