2 นักเศรษฐศาสตร์ อ่านใจ กนง. “ปิดประตูลดดอกเบี้ย”

Economist

ปมเรื่องดอกเบี้ยนโยบายกำลังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากในขณะนี้ โดยที่ผ่านมาฟากรัฐบาลมีการตั้งคำถามไปถึง “แบงก์ชาติ” หรือธนาคารแห่งประเทศไทย อย่างต่อเนื่อง ว่าเหตุใดจึงไม่ยอมลดดอกเบี้ย ทั้ง ๆ ที่เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันหลายเดือน

ซึ่งแต่เดิม ก่อนหน้านี้บรรดานักเศรษฐศาสตร์ นักวิเคราะห์สำนักต่าง ๆ ก็วิเคราะห์กันว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะลดดอกเบี้ยในช่วงกลางปี 2567 และน่าจะลดรวม 2 ครั้งเป็นอย่างน้อยในปีนี้ ทว่า… หลังจากการประชุม กนง.รอบต้นเดือน เม.ย.ผ่านไป 
สัญญาณที่ส่งออกมา ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ นักวิเคราะห์ ก็เริ่มให้มุมมองเปลี่ยนไปจากเดิม

คาด กนง.ปิดประตูลดดอกเบี้ยปีนี้

“ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ว่า กนง.จะ “ปิดประตูลดดอกเบี้ย” ในปีนี้ เพราะถ้าจะลดก็น่าจะลดแล้ว ซึ่งจากที่ชี้แจงกับนักวิเคราะห์ แบงก์ชาติส่งสัญญาณว่า เมื่อมองไปข้างหน้าเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในปลายปีนี้

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

“แบงก์ชาติรู้อยู่แล้วว่าเศรษฐกิจตอนนี้ไม่ได้ฟื้นตัวดี แต่แบงก์ชาติเห็นว่ามองไปข้างหน้าสถานการณ์จะค่อย ๆ ดีขึ้น เพราะงบประมาณปี 2567 ก็ออกแล้ว รวมถึงดิจิทัลวอลเลตก็จะมา ท่องเที่ยวก็ค่อย ๆ ฟื้่น รวมถึงส่งออกก็น่าจะดีขึ้น คือที่ผ่านมาก็รู้ว่าไม่ดี แต่มองไปข้างหน้า เงินเฟ้อก็น่าจะกลับเข้ากรอบเป้าหมาย”

ดังนั้น หากไม่มีตัวเลขเศรษฐกิจตัวใดที่ทำให้แบงก์ชาติเห็นว่าเศรษฐกิจจะแย่ลงมาก แบงก์ชาติก็คงจะไม่ลดดอกเบี้ย และน่าจะคงดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบันไปตลอดทั้งปี เพราะมองว่าการลดดอกเบี้ยจะทำให้มีการก่อหนี้ครัวเรือนมากขึ้น

Advertisment

“คาดว่าปีนี้ กนง.จะคงดอกเบี้ย ไม่ปรับลดลง แต่จะไปปรับลดในช่วงประมาณไตรมาส 2 ปีหน้า (ปี 2568) เพราะมองไปข้างหน้า ตัวเลขต่าง ๆ จะดีขึ้น แถมยังมีเรื่องภายนอกที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เลื่อนลดดอกเบี้ยอีก ซึ่งจะกระทบค่าเงิน ดังนั้น แบงก์ชาติก็คงมองว่าเก็บกระสุนไว้ดีกว่า”

แรงกดดัน กนง.จาก 3 ปัจจัย

เช่นเดียวกับ “บุรินทร์ อดุลวัฒนะ” กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ศูนย์วิจัยได้ปรับมุมมองการดำเนินนโยบายการเงินของ กนง. จากเดิมคาดการณ์ว่า กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ 2 ครั้ง ในเดือน มิ.ย. กับ ส.ค. แต่ปัจจุบันคาดว่า กนง.จะไม่ปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้แล้ว โดยจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.50% ต่อปี ตลอดทั้งปี

บุรินทร์ อดุลวัฒนะ
บุรินทร์ อดุลวัฒนะ

ทั้งนี้ มองว่าปัจจัยที่กดดันให้ กนง.มีโอกาสลดดอกเบี้ยน้อยลง มาจาก 2-3 ประเด็นคือ 1.นโยบายการเงินทั่วโลกตึงตัวนานกว่าคาด โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงนานต่อไป 
จากเดิมคาดว่าเฟดจะมีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยลงในเดือน ก.ย. แต่เศรษฐกิจออกมาค่อนข้างดี ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อมีทิศทางเพิ่มขึ้น และมีปัจจัยการเลือกตั้งเข้ามาเพิ่มเติม ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าจะเห็นเฟดปรับลดดอกเบี้ยได้ 1 ครั้งภายในเดือน ธ.ค.

2.กนง.จะให้ความสำคัญในเรื่องของเสถียรภาพค่าเงินบาท เนื่องจากไทยมีความผันผวนของค่าเงินค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค จะเห็นการอ่อนค่าค่อนข้างเร็ว รองจากสกุลเงินเยน-ญี่ปุ่นเท่านั้น ทำให้ กนง.จะให้น้ำหนักเสถียรภาพระบบการเงินมากขึ้น

Advertisment

และ 3.อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ซึ่งตัวเลขไตรมาสที่ 1/2567 จะออกมาในช่วงกลางเดือน พ.ค. ขยายตัวได้ แต่อาจจะไม่ได้ขยายตัวสูงมาก เนื่องจากตัวเลขส่งออกยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ โดยศูนย์วิจัยคาดว่าตัวเลขส่งออกทั้งปีจะเติบโตได้ 2% และประเมินจีดีพีปี 2567 ขยายตัว 2.8%

อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อเดือน เม.ย.กลับมาเป็นบวกอยู่ที่ 0.19% และจะทยอยปรับเพิ่มขึ้น กระทั่งกลับเข้ากรอบเป้าหมายที่ 1-3% รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเลต ตลอดจนงบประมาณที่จะมีการเร่งเบิกจ่าย เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้การจะลดดอกเบี้ยของ กนง.มีน้อยลง

ไม่ลดดอกเบี้ยถ้าเศรษฐกิจไม่ถดถอย

“โอกาสที่ กนง.จะลดดอกเบี้ยในปีนี้คงไม่เห็น โดย ธปท.คงดูโมเมนตัมเศรษฐกิจในช่วง 2 ไตรมาส รวมถึงมองเรื่องค่าเงิน เพราะเฟดคงดอกเบี้ยในระดับสูงอาจจะกดดันค่าเงินได้ เนื่องจากที่ผ่านมากระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายของไทยไหลออก ดังนั้น กนง.จะให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน รวมถึงความผันผวนของค่าเงินบาทมากขึ้น”

“บุรินทร์” กล่าวอีกว่า ส่วนปัจจัยที่อาจจะทำให้ กนง.ตัดสินใจลดดอกเบี้ยลงก็คือ หากเศรษฐกิจเกิดภาวะถดถอย (Recession) หรือขยายตัวแผ่วมาก ๆ ตัวเลขออกมาต่ำ แม้ว่าการบริโภคยังขยายตัวดี แต่มาจากภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่จากภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่
ระดับสูงอาจจะฉุดการบริโภคได้ เพราะจะเห็นว่าตัวเลขการผลิตติดลบมานานแล้ว และกรณีที่งบประมาณออกมา แต่การลงทุนไม่ฟื้นตัว อาจทำให้กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน