Prachachat BITE SIZE โดย พฤฒินันท์ สุดประเสริฐ
ประเด็นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ มีทั้งฝ่ายคัดค้าน และสนับสนุน เปิดหน้าออกมาแสดงความคิดเห็น ทั้งในรูปแบบลายลักษณ์อักษร และการชุมนุมกดดันที่กระทรวงแรงงาน
โดยฝ่ายคัดค้านส่วนใหญ่ เป็นนายจ้าง ทั้งระดับ SMEs และธุรกิจยักษ์ใหญ่ ที่มีปัญหาใหญ่ คือการเพิ่มขึ้นของต้นทุน ทั้งราคาพลังงาน และรายจ่ายด้านอื่น ๆ ที่อยู่ในช่วงขาขึ้นทั้งสิ้น
ขณะที่ฝ่ายสนับสนุน แน่นอนว่าต้องเป็นฝ่ายลูกจ้าง ที่เป็นเสียงส่วนน้อย มีปัญหาค่าครองชีพและกำลังซื้อที่อ่อนแรง
การประชุมคณะกรรมการไตรภาคี นัดล่าสุด เมื่อ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีมติที่เปิดกว้าง หลากหลาย ให้อนุกรรมการ ระดับจังหวัด สำรวจและพิจารณาว่าอัตราค่าจ้างที่เหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ควรจะเป็นเท่าไร ก่อนเข้าคณะกรรมการไตรภาคีชุดใหญ่ อีกครั้ง
กว่าจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ ยังต้องผ่านขั้นตอนอะไรอีกบ้าง
Prachachat BITE SIZE สรุปเรื่องราวทั้งหมด ดังนี้
มติ “ไตรภาคี” โยนจังหวัดกำหนด
หลังจากมติที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง เห็นชอบให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด เป็นผู้พิจารณาว่าจะปรับขึ้นกี่บาท และกำหนดวันที่จะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่าจะขึ้น 1 ตุลาคม 2567 หรือ 1 มกราคม 2568
โดยคณะกรรมการค่าจ้าง มอบโจทย์ให้แต่ละจังหวัดพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำ โดยคำนึงถึงความเป็นจริงของแต่ละจังหวัด ตั้งแต่ค่าครองชีพ สภาพเศรษฐกิจ สภาพเงินเฟ้อ ราคาสินค้าในท้องตลาด และความต้องการในการจ้างงานของแต่ละจังหวัด เพราะบริบทของแต่ละจังหวัดไม่เหมือนกัน
เมื่ออนุกรรมการแต่ละจังหวัด พิจารณาเรียบร้อยแล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการของการพิจารณาค่าจ้าง ไปศึกษา/กลั่นกรอง และกลับมาพิจารณาในคณะกรรมการไตรภาคีอีกครั้ง ก่อนจะมีมติและบังคับใช้ต่อไป ซึ่งคณะอนุกรรมการ แต่ละจังหวัด ต้องพิจารณาให้เสร็จภายในกรกฎาคมนี้
สารพัดความเห็น “ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท”
หอการค้าไทย และภาคเอกชนร่วม 100 สมาคม ยื่นหนังสือคัดค้านการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ระบุว่า รัฐบาลปรับค่าแรงขั้นต่ำในปีนี้ 2 ครั้งแล้ว ไม่ควรมีครั้งที่ 3 และการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ควรพิจารณาเรื่องฝีมือแรงงาน และความพร้อมแต่ละจังหวัดและแต่ละธุรกิจควบคู่กันด้วย
ภาคเอกชน เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งส่งเสริมมาตรการทางภาษี เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการและแรงงาน ให้ความสำคัญกับการพัฒนาฝีมือแรงงาน ตั้งแต่การ Upskill Reskill และ New Skill เพื่อสร้างแรงงานที่มีฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และเพิ่มผลิตภาพแรงงาน
ขณะที่ความเห็นประชาชน นิด้าโพล สำรวจความเห็นประเด็นดังกล่าวจากกลุ่มตัวอย่างกว่า 1,300 คนทั่วประเทศ พบว่า 44.50% เห็นด้วยกับการทยอยปรับขึ้นทั่วประเทศ เริ่มวันที่ 1 ตุลาคม 2567 นี้
แต่เมื่อถามถึงความคุ้มกับค่าแกง หรือค่าอาหารและค่าครองชีพปัจจุบัน กว่า 60% มองว่าค่าแรงที่ปรับขึ้น ไม่คุ้มค่าแกงที่อาจจะสูงขึ้น
ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท จ่ายเมื่อไหร่ ?
ระหว่างที่คณะกรรมการไตรภาคี ยังไม่สะเด็ดน้ำ ทั้งอัตราและวันเวลาที่จะจ่าย แต่คณะรัฐมนตรี มีมติรับทราบไทม์ไลน์การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามที่กระทรวงแรงงานเสนอไปแล้ว โดยไทม์ไลน์ก่อนขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ถูกแบ่งเป็น 4 ช่วง โดยมีเดดไลน์ว่าจะจ่ายค่าแรงใหม่ 400 บาท ตั้งแต่กันยายน-ตุลาคม 2567
ช่วงที่ 1 เมษายน-มิถุนายน สำรวจค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของแรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงานในภาคอุตสาหกรรม ปี 2567
ช่วงที่ 2 ในเดือนพฤษภาคม การประชุมหารือผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
ช่วงที่ 3 เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2567 คณะกรรมการค่าจ้างพิจารณากรอบแนวทางและหลักเกณฑ์การทบทวนความเหมาะสมของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด
เพื่อให้การประชุมของคณะอนุกรรมการ ทุกจังหวัดและคณะอนุกรรมการวิซาการและกลั่นกรอง เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดอย่างมีหลักวิชาการและเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ
และช่วงสุดท้าย ในเดือนกันยายน-ตุลาคม 2567 คณะกรรมการค่าจ้าง พิจารณาข้อเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำของคณะอนุกรรมการ ทุกจังหวัด และคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง เพื่อทบทวนการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 และเสนอประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ทันที
ติดตาม Prachachat BITE SIZE EP.55 ได้ที่ https://youtu.be/Ns-3KWpK4Ik
เข้าใจง่าย ได้ความรู้ ทุกสถานการณ์ข่าว กับ “Prachachat BITE SIZE” ทุกวันเสาร์ 11.00 น. ทุกช่องทางออนไลน์ของประชาชาติธุรกิจ
- ค่าแรงอาจไม่ใช่ 400 บาท รอสรุปรายจังหวัด และอาจเลื่อนไปขึ้นปี’68
- ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ “เศรษฐา” ยันมีผล กันยายนปีนี้
- รมว.แรงงาน ยืนยันเจตนารมณ์ ค่าแรง 400 บาท ฝากพาณิชย์คุมราคาสินค้า
- 95 สมาคม ผนึกหอการค้า ยื่นหนังสือค้านขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ
- นิด้าโพลเผย มากกว่าครึ่งมองขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ยังไม่คุ้มค่าแกง
- เบรกขึ้นราคาสินค้า อ้างค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท-ดีเซลขึ้นราคา