
กลุ่มยานยนต์ ยันปัญหา “เทรดวอร์” ไม่กระทบฐานผลิตรถจีนในไทย เผยยอดส่งออกรถไปทวีปอมริกามีน้อยมาก “เอ็มจี-เกรท วอลล์ มอเตอร์” ย้ำใช้ไทยเป็นฐานผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาเป็นหลักและไม่คุ้มค่าการลงทุน
วันที่ 18 พฤษภาคม 2567 จากกรณีที่สหรัฐประกาศมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนหลายประเภทในอัตราระหว่าง 25-100% ภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐ มาตรา 301 โดยให้อำนาจในการกำหนดมาตรการตอบโต้ประเทศที่ละเมิดสิทธิและผลประโยชน์สหรัฐ รวมถึงดำเนินการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับสหรัฐด้วย
หนึ่งในรายการสินค้าจีนที่สหรัฐประกาศจะขึ้นภาษี ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) จาก 25% เพิ่มเป็น 100%, แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับ EV จาก 7.5% เป็น 25% โดยให้มีผลบังคับใช้ในปีนี้ทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลว่า เหตุการณ์ดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในฐานะฐานการผลิตรถอีวีแห่งใหม่ของค่ายรถยนต์จากจีนนั้น
ผู้สื่อ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้ สอบถามประเด็นดังกล่าวไปยัง นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ยอมรับว่าขณะนี้ยังจะต้องรอดูในส่วนของรายละเอียดที่ชัดเจนอีกครั้งว่า จะมีการปรับขึ้นภาษีในส่วนใดบ้าง และประเทศไทยจะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
กรณีถ้าจีนจะย้ายฐานผลิตเพื่อส่งออกรถยนต์ไปยังสหรัฐด้วยการเข้ามาตั้งฐานผลิตในไทยนั้น “ก็ต้องรอดู” แต่ส่วนใหญ่ค่ายรถยนต์ที่เข้ามาวันนี้ไม่น่าจะใช้ประเทศไทยเป็นฐานผลิตไปสหรัฐ เนื่องจากสหรัฐใช้ระยนต์พวงมาลัยซ้ายเป็นหลัง ขณะที่รถยนต์ที่ผลิตในประเทศไทยเป็นรถยนต์พวงมาลัยขวา อีกทั้งประเด็นสำคัญ รถ EV ที่เข้าไปทำตลาดในสหรัฐส่วนใหญ่จะเป็นรถที่มาจากยุโรป
จากตัวเลขปริมาณการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกไปยังทวีปอเมริกา ในปี 2566 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีปริมาณการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกไปยังทวีปอเมริกา ซึ่งเป็นรถยนต์นั่งมูลค่า 81.07 ล้านเหรียญ หรือลดลงจากปี 2565 ราว ๆ 28% มีสัดส่วนตลาดแค่ 0.66% ของมูลค่าการส่งออกรถยนต์นั่ง
และในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-มี.ค. 2567) ส่งออกไป 19.93 ล้านเหรียญ หรือเพิ่มขึ้น 97% สัดส่วน 1.89% ของยอดส่งออกรถยนต์นั่ง
“ไทยมีการส่งรถยนต์ไปอเมริกาเหนือ แค่รถนั่งและรถปิกอัพ 3 เดือนปีนี้มีแค่ 16,098 คัน ส่วนส่งตรงเข้าไปยังสหรัฐอเมริกานั้นแทบไม่มีเลย”
ขณะที่นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ยืนยันกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า MG เข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศไทยนั้น จะเป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่จะใช้เป็นฐานผลิตรถ EV และ XEV พวงมาลัยขวา เพื่อรองรับการส่งออกไปยังภูมิภาคอาเซียนและประเทศที่ใช้พวงมาลัยขวาเป็นหลักเท่านั้น
ส่วนการจะผลิตรถเพื่อส่งออกไปยังตลาดสหรัฐนั้น “ไม่น่าจะคุ้มค่า” โดยเฉพาะระยะทางในการขนส่ง เท่าที่ทราบรถยนต์ที่ผลิตจากประเทศไทยส่งเข้าไปสหรัฐไม่เยอะ หรือแทบจะไม่มีเลย ดังนั้นทั้งผลกระทบจากมาตรการตอบโต้ทางการค้ากับจีนในกรณีสินค้าที่เป็นรถยนต์ก็น่าจะไม่เกิดขึ้น
เช่นเดียวกับแหล่งข่าวจาก ค่ายเกรท วอลล์ มอเตอร์ ประเทศไทย ก็ยืนยันว่า บริษัทไม่ได้เข้าไปดำเนินธุรกิจในสหรัฐ อีกทั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในไทยก็เป็นการลงทุนเพื่อรองรับกับความต้องการภายในประเทศไทยและตลาดอาเซียนเป็นหลักมากกว่า
และยังสอดคล้องกับแหล่งข่าวจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ที่กล่าวยืนยันว่า กรณีขึ้นภาษีนำเข้ารถ EV จากจีน ไม่น่าจะส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดยเฉพาะค่ายรถยนต์จีนที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพราะส่วนใหญ่เป็นการเข้ามาลงทุนเพื่อรองรับความต้องการในประเทศกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่า
ส่วนการที่ค่ายจีนอาจจะมีการใช้ไทยเป็นฐานผลิตเพื่อส่งรถยนต์ไปสหรัฐนั้น ยิ่งมีความเป็นไปได้น้อยมาก เพราะลำพังรถยนต์ที่ผลิตจากไทยส่งเข้าไปสหรัฐเองก็มีจำนวนน้อย และหากค่ายจีนจะใช้ช่องว่างตรงนี้ เชื่อว่าจีนน่าจะเข้าไปลงทุนในประเทศอื่น ๆ แถบอเมริกากลาง หรืออเมริกาใต้แทน “น่าจะมีความคุ้มค่ามากกว่า” จากปัจจุบันมีค่ายรถที่เริ่มผลิตรถ EV ในไทยช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา มีปริมาณการผลิตรวม 2,466 คัน นำโดยค่าย GWM, MG และ Honda ส่วนค่าย NETA จะผลิตในต้นเดือนมิถุนายนนี้