แบงก์พาเหรดลดดอกเบี้ย ชะลอ NPL-ไม่กระทบรายได้

แบงก์พาเหรดลดดอกเบี้ย ชะลอ NPL-ไม่กระทบรายได้

แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะยังไม่ปรับลดลง แต่ก็ได้เห็นภาพที่ธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของลูกหนี้ที่เป็นกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะลูกหนี้สินเชื่อบ้านและสินเชื่อเอสเอ็มอีที่เป็นคนฐานรากของประเทศ

กระทบรายได้แบงก์น้อย

โดย “แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์” เปิดเผยว่า แบงก์พาณิชย์ 6 แห่ง ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี ทั้งอัตราดอกเบี้ยรายย่อยชั้นดี (MRR) อัตราดอกเบี้ยรายใหญ่ชั้นดี (MLR) และอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทวงเงินเบิกเงินเกินบัญชี (MOR) สำหรับกลุ่มลูกค้าเปราะบาง ถือเป็นแนวทางการช่วยเหลือเฉพาะ และประเมินกลุ่มเปราะบางตามความเหมาะสมของพอร์ตสินเชื่อตัวเอง ไม่ได้ทำในลักษณะวงกว้างทั้งพอร์ตรวม

ทั้งนี้ หากประเมินผลกระทบแตกต่างกัน แต่โดยเฉลี่ยธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบ (กลุ่ม D-SIBs) พบว่ายอดภาระสินเชื่อที่ได้รับการช่วยเหลือจากการได้รับดอกเบี้ยลดลง คิดเป็นประมาณ 6% ของสินเชื่อรวมของแต่ละธนาคาร ขณะที่ผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 0.2% ของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ จึงอยู่ในขอบเขตที่ธนาคารสามารถดำเนินการได้

“แนวทางการช่วยเหลือไม่ได้ทำวงกว้าง โดยมีแนวทางของสมาคมธนาคารไทย (TBA) เป็นไกด์ไลน์ บางแห่งอาจจะปรับดอกเบี้ยทุกแบบ บางแห่งอาจจะเลือก ตามลักษณะของพอร์ตตัวเอง ทำให้ดีกรีของผลกระทบจะแตกต่างกัน แต่เฉลี่ยรวม 6 ธนาคารใหญ่กลุ่ม D-SIBs กระทบแค่หลักร้อยล้านบาท”

“ธนเดช รังษีธนานนท์” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยมองว่าผลกระทบต่อกลุ่มธนาคารค่อนข้างจำกัด โดย 1.ผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทนสินเชื่อ (Loan Yield) ของกลุ่มธนาคารลดลงไม่เกิน 5 bps ในปี 2567 โดยปกติ MRR จะเป็นดอกเบี้ยคิดกับลูกหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัย และเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ดังนั้นกลุ่ม SMEs ขนาดกลางและใหญ่ และบรรษัทขนาดใหญ่ไม่ได้รับประโยชน์

Advertisment

2.ทำให้เกิดความชัดเจนต่อตลาดว่าธนาคารได้ตอบรับสิ่งที่รัฐบาลร้องขอแล้ว และเน้นจะช่วยเหลือลูกค้าเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และจำกัดเวลาเพื่อไม่ให้เสียกลไกตลาดมากเกินไป

3.อาจช่วยลดแรงกดดันต่อการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือน มิ.ย.ได้ และเศรษฐกิจไทยโตได้จากระดับดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันที่ 2.5% ก็อาจจะทำให้ กนง.คงดอกเบี้ยในการประชุมเดือน มิ.ย.ได้

ลดดอกเบี้ย “แคมเปญระยะสั้น”

“อลงกต บุญมาสุข” เลขาธิการและประธานกรรมการบริหารสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย กล่าวว่า ในแง่ผลต่อสินเชื่อที่อยู่อาศัย แม้ว่าจะช่วยบรรเทาภาระเงินกู้ ทำให้ยอดผ่อนลดลงบ้าง แต่เป็นการช่วยในวงจำกัด และหากดูเม็ดเงินไม่ได้สูงมาก เฉลี่ยเทียบเท่า 1,250 บาทต่อวงเงิน 1 ล้านบาท จึงเป็นเหมือนแคมเปญระยะสั้น ส่วนมาตรการที่จะช่วยหนุนการเติบโตของสินเชื่อบ้านได้ดีกว่า น่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากจะช่วยเร่งการตัดสินใจซื้อของกลุ่มที่มีกำลัง เพราะมีผลต่อค่าใช้จ่ายที่ลดลง

ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องติดตาม คือ หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง รายได้ยังไม่ได้ฟื้นตัว จะเป็นแรงกดดันต่อกำลังซื้อ โดยเฉพาะในกลุ่มราคาบ้านต่ำกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง รายได้ไม่สูง ทำให้อัตราการปฏิเสธ (Rejection Rate) ยังอยู่ในระดับสูงกว่า 50% เมื่อเทียบกับกลุ่มราคาบ้าน 3-7 ล้านบาท

Advertisment

ขณะที่หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มีแนวโน้มไหลเพิ่มขึ้น เพราะจากหนี้ครัวเรือนที่สูง เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ทำให้รายได้สะดุด อย่างไรก็ดี โอกาสที่จะเห็นไหลเพิ่มขึ้นรวดเร็วอาจจะไม่เกิดขึ้น เนื่องจากธนาคารจะเน้นการปรับโครงสร้างก่อนและหลังเป็นหนี้เสียตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้ช่วยชะลอการตกชั้นหนี้ได้

“สินเชื่อบ้านในไตรมาส 2/2567 ยังคงเห็นแบงก์เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ ยอดการรีเจ็กต์ที่เพิ่มขึ้นมาจาก 2 ส่วน คือ ผู้กู้รายได้ไม่พอ และภาระหนี้ที่มีอยู่สูงอยู่แล้ว ส่วนกรณีที่แบงก์ลดดอกเบี้ยลง 0.25% ต่อปี คงไม่ได้มีผลมาก”

หนี้ครัวเรือนกดดันสินเชื่อรายย่อย

ด้าน “กาญจนา โชคไพศาลศิลป์” ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมการปล่อยสินเชื่อรายย่อยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2567 มีสัญญาณทยอยเพิ่มขึ้น แต่อัตราการเติบโตยังเป็นไปอย่างจำกัด จากภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ

อย่างไรก็ดี คาดว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้จะทยอยฟื้นตัวได้ตามทิศทางเศรษฐกิจ