รายการข่าว 2 ใน 3 ของไทยเป็นรายการขยี้ข่าว ซ้ำเติม ปัญหาสังคม?

กสทช. เผย รายการข่าวในประเทศไทย 20 จาก 30 รายการเป็นการ “ขยี้ข่าว” ชี้เป็นดาบสองคม ให้พื้นที่คนตัวเล็กตัวน้อย แต่ผลิตซ้ำปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ง่ายต่อการละเมิดต่อชนชั้น ชาติพันธุ์ และความเชื่อ

วันที่ 9 พฤษภาคม 2567 ศ.กิตติคุณพิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวในงานสัมมนา “รายการขยี้ข่าว สะท้อน หรือซ้ำเติมปัญหาสังคม” จัดโดย สำนักงาน กสทช. ว่า ปัจจุบันรายการข่าวที่ออกอากาศผ่านเครือข่ายทีวีดิจิทัลในประเทศไทยราว 30 รายการ มีรายการประเภท “ขยี้ข่าว” ราว 20 รายการ เป็น 2 ใน 3

“นักวิชาการหลายคนมองว่า รายการประเภทนี้เป็นวิวัฒนาการใหม่ของการสื่อสารมวลชน ที่รวมเอาการนำข่าวที่รายงานอยู่แล้วมาเล่าใหม่ให้สนุกยิ่งขึ้น มีการให้ความเห็น แสดงอารมณ์ให้คนติดตาม ไม่ว่าจะเป็นการเล่าข่าวแบบละคร หรือ แต่งสีขยี้ความ ใช้ถ้อยความรุนแรง สัมภาษณ์บีบคั้น ฉายภาพไม่เหมาะสมซ้ำ ๆ”

ทั้งนี้ รายการขยี้ข่าว ที่ได้รับความนิยมในประเทศไทยนี่ ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เหมือนดาบสองคม

ข้อดี คือ เป็นการทำให้คนสนใจความจริง เป็นการเฝ้าระวังทางสังคม (watch dog) กระบอกเสียงให้คนตัวเล็กตัวน้อย บางครั้งช่วยยุติความขัดแย้ง

Advertisment

ข้อเสีย คือ การขยี้ประเด็นที่เล่า 2 นาทีก็จบให้ยาวเป็นชั่วโมง อาจเสี่ยงไปละเมิดสิทธิมนุษยชน ละเมิดความเชื่อ กระทบกับชาติพันธุ์ หรือการผลิตซ้ำข้อมูลที่สนับสนุนความรุนแรง เช่น การอธิบายขั้นตอนการฆาตกรรม หรือขั้นตอนการก่อเหตุทำร้ายร่างกาย และผิดจริยธรรมสื่อ

“นอกจากนี้ถ้าเรามองรายการประเภทนี้ คนที่มาออกรายการหรือเป็นประเด็นให้ขยี้มักจะเป็นผู้ที่ด้อยกว่า หรือเป็นชนชั้นล่างในสังคมที่ไม่มีอำนาจต่อรอง ไม่มีโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรและไม่มีพื้นที่ในการโต้ เราไม่ค่อยเห็นคนที่มีอำนาจหรือชื่อเสียงถูกนำมาขยี้มากนัก สิ่งเหล่านี้จะไปสะท้อนและผลิตซ้ำความรุนแรงเชิงโครงสร้างของสังคม”

“ประเด็นอ่อนไหวต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการทราบดีที่สุด ซึ่งจะต้อระมัดระวังในการออกอากาศ”