
“กสทช.” เดินหน้าจัดประชาพิจารณ์แผนแม่บทโทรคมนาคมฉบับที่ 3 ปี 2567-2571 ชู 5 ยุทธศาสตร์ “ส่งเสริมการแข่งขัน-ลดเหลื่อมล้ำดิจิทัลและคุ้มครองผู้บริโภค ภาคเอกชน-ประชาชน ตบเท้าแสดงความเห็นคึกคัก จี้ กสทช. ปรับปรุงใบอนุญาต MVNO แนะคุมต้นทุนขายส่งบริการ
วันที่ 23 เมษายน 2567 รศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ร่างประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เรื่องแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2567-2571)
โดยมีผู้เกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อที่ สำนักงาน กสทช.จะได้นำไปปรับปรุง และนำเสนอที่ประชุม กสทช.ให้พิจารณาต่อไปให้เร็วที่สุด
สำหรับร่างแผนดังกล่าวประกอบด้วยยุทธศาสตร์ในการพัฒนา 5 ด้าน ได้แก่
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการแข่งขันเพิ่มขึ้น และการเข้าสู่ตลาดโทรคมนาคมของผู้ประกอบการรายใหม่ โดยเป็นการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบ สนับสนุนเครือข่ายเคลื่อนที่ให้เกิดผู้ประกอบการโครงข่ายเสมือน และโครงข่ายบรอดแบรนด์เร่งให้เกิดการใช้งานโครงข่ายสายปลายทาง (Last Mile) และทบทวนกติกาแข่งขันลดการผูกขาด
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล และส่งเสริมการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากบริการโทรคมนาคมที่หลากหลาย พัฒนาสภาพแวดล้อมเอื้อการลงทุนขยายโครงข่ายโทรคมนาคม จัดสรรคลื่นความถี่เพิ่มเติม สนับสนุนการพัฒนาโครงข่ายอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ที่ขาดแคลนบริการ จัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานให้ครอบคลุมทั้งมิติเชิงพื้นที่และมิติเชิงสังคม
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การบริหารทรัพยากรโทรคมนาคมอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความคุ้มค่า และเพียงพอต่อความต้องการใช้งาน จัดสรรคลื่นความถี่มีประสิทธิภาพ เพียงพอต่อความต้องการ โดยจะทำแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ (Spectrum Roadmap) สำหรับกิจการต่าง ๆ เช่น กิจการ IMT และกิจการอื่น ๆ รวมถึงการบริหารจัดการเลขหมายให้มีความคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ
ศึกษาและพัฒนาหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ภาคประชาชน และคลื่นความถี่ที่อนุญาตให้มีการใช้งานเป็นการทั่วไป เพื่อให้สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ได้สอดคล้องกับความต้องการ และเกิดความคุ้มค่าในการใช้งาน
ทบทวนแนวทางการจัดสรรและใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่สำหรับกิจการวิทยุคมนาคม เพื่อนำไปสู่การใช้คลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า ส่งเสริมการใช้คลื่นความถี่เพื่อสนับสนุนภารกิจป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินและภัยพิบัติ เช่น ส่งเสริมการใช้คลื่นความถี่ย่าน HF โดยเพิ่มจำนวนพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นกลาง
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การอนุญาตและกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมและวิทยุคมนาคมให้เหมาะสมกับนิเวศอุตสาหกรรมดิจิทัล จากบริบทการพัฒนาและการหลอมรวมของเทคโนโลยี และมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้งานด้านการอนุญาต เพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ และยกระดับการให้บริการ รวมถึงการกำกับดูแลประกอบกิจการให้เป็นไปตามกฎหมาย และพัฒนาฐานข้อมูลให้สามารถเชื่อมโยงและบูรณาการกันภายในหน่วยงาน และกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแล เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการละเมิดกฎหมาย ที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนและสาธารณะ
ยุทธศาสตร์ที่ 5 การยกระดับการคุ้มครองและเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้บริโภคในยุคดิจิทัล มุ่งเน้นให้ผู้บริโภคมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม และภัยคุกคามผ่านช่องทางโทรคมนาคม เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้บริโภค ให้สามารถปกป้องสิทธิของตนเองและสามารถรับมือและป้องกันตนเองจากภัยคุกคาม ตลอดจนคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมในการใช้บริการ และปลอดภัยจากภัยคุกคาม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นมีทั้งตัวแทนจากภาคเอกชน ตัวแทนหน่วยงานรัฐ รวมถึงประชาชนทั่วไป โดยส่วนใหญ่ต้องการให้ กสทช. ทำแผนบริหารจัดการคลื่นความถี่ (Spectrum Roadmap) ให้มีความชัดเจน
ด้านนายอธิป กีรติพิชญ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร บริษัท เรดวัน เน็ตเวิร์ค (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เสมือน (MVNO) แสดงความเห็นว่า ทิศทางของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมทั่วโลกเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ ควบรวมกิจการทำให้จำนวนผู้ให้บริการโทรคมนาคมลดลงจึงควรพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการแข่งขัน และการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการรายใหม่
“คำว่าผู้ประกอบการรายใหม่ในที่นี้ มี 2 แบบ คือ MNO (Mobile Network Operator) และ MVNO (Mobile Virtaul Network Operator) ซึ่งความเป็นไปได้เหลืออยู่แค่ MVNO เท่านั้น”
และหากมองย้อนไปในปี 2012 ก่อนมีการนำคลื่น 2100 MHz ออกมาประมูลเป็นครั้งแรก กสทช. ได้ไปโรดโชว์ต่างประเทศทั้งในตะวันออกกลาง อเมริกา และในเอเชีย เพื่อให้มีการเข้ามาลงทุน แต่สุดท้ายแล้วก็ยังไม่มีใครเข้ามาใหม่ และเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2015 ที่มีการประมูลคลื่น 900 MHz และ 1800MHz ก็ปรากฎว่าผู้ประกอบการรายที่ 4 ที่น่าจะเพิ่มขึ้นมาก็ไม่ชำระเงินค่าประมูลทำให้ไม่มีรายใหม่ และภายหลังยังลดจำนวนลงจากการควบรวม
“ดังนั้นที่น่าจะมีเพิ่มขึ้น คือ MVNO ตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา MVNO ที่มีอยู่กว่า 100 กว่าราย เริ่มล้มหายตายจากไปเรื่อย ๆ ที่ยังเหลืออยู่ตอนนี้ คือเรา ภายใต้ NT หรือ บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ ดังนั้น คลื่น NT ที่จะหมดอายุในเดือน ส.ค.ปีหน้า จะถือเป็นบิ๊กอีเวนต์ ที่เราต้องเห็นแผนปฏิบัติการ และกรอบเวลาดำเนินการจาก กสทช. อย่างชัดเจน รวมถึง Agenda ของ MVNO ในแผน”
นายอธิปกล่าวต่อว่า กสทช.จะต้องพิจารณาดูว่ามีกลไกอะไรที่น่าจะผลักดันได้ เช่น ราคาต้นทุนที่ MVNO ต้องไปซื้อต่อมาจากโอเปอเรเตอร์ ถ้าแพง ก็ต้องขายต่อด้วยราคาที่แพงเช่นกัน
“ปัจจุบันต้นทุนต่อนาที หรือต่อกิกะไบต์ ของเราแพงกว่าตลาด ตอนนี้คนไทยใช้งานเฉลี่ย 33 GB ต่อคนต่อเดือน และน่าจะสูงขึ้นไปอีก กสทช. น่าจะต้องมาขยายความการส่งเสริม MVNO ในส่วนเหล่านี้ เพื่อให้เขาทำธุรกิจและอยู่รอดได้”
ด้านตัวแทนจากบริษัทผู้ประกอบการรายหนึ่ง แสดงความเห็นว่าควรมีการปรับปรุงระบบใบอนุญาต MVNO จาก Medium size เป็น Full size และให้ กสทช. บังคับใช้กฎระเบียบที่มีอย่างเข้มข้น และกระตุ้นให้โอเปอเรเตอร์รายใหญ่เปิดให้รายย่อยร่วมค้าส่งบริการได้โดย กสทช. ช่วยลงรายละเอียดราคาค้าส่ง ซึ่งจะทำให้ต้นทุน MVNO ต่ำพอที่จะแข่งขันได้
ตัวแทนจาก บมจ.ไทยคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แผนดังกล่าว กสทช. โฟกัสเพียงแผนการส่งเสริมผู้ประกอบการโทรคมนาคมในประเทศ แต่ในอีกมิติยังมีการแข่งขันด้านโทรคมนาคมระหว่างประเทศด้วย โดยเฉพาะในกิจการดาวเทียม จึงควรมีรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านดาวเทียมด้วย
นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อยุทธศาสตร์ที่ 2 เรื่องความเหลื่อมล้ำด้วยว่าความเหลื่อมล้ำไม่ใช่แค่ในแง่การเข้าถึงบริการโทรคมนาคม แต่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้ประกอบการด้วย
“ความกังวลของ กขค. คือการกำหนดมาตรฐานราคาในการแข่งขัน เพราะตอนนี้รายใหญ่ลดราคาได้ แต่รายเล็กลดได้ยาก กสทช. จึงน่าจะต้องสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขัน”
และในส่วนที่เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ที่ 3 การบริหารทรัพยากรโทรคมนาคมอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความคุ้มค่า และเพียงพอต่อความต้องการใช้งานนั้น ตัวแทน MVNO ได้กระทุ้งให้เร่งจัดทำตารางคลื่น โดยเฉพาะกรณีคลื่น NT ที่กำลังจะหมดลง
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ตัวแทนภาคประชาชนที่ทำงานในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมากกว่า 20 ปี ได้ให้ความเห็นว่า แผนความถี่ต้องละเอียดกว่าที่เคยเป็น เพราะมีคลื่นเดิมที่กำลังหมดอายุ และมีกี่คลื่นที่จะนำมาประมูลใหม่ อีกทั้งความถี่คลื่นใหม่ของผู้ประกอบการมือถือ ที่เป็นคลื่นเก่าในย่าน C band ของผู้ประกอบการเดิม จะบริหารจัดการอย่างไร รวมถึงการบริหารช่วงคลื่นไว้เผื่อสำหรับการศึกษาวิจัยด้วย
นอกจากนี้ ตัวแทนจากสภาองค์การของผู้บริโภค ยังร่วมเสนอการแก้ปัญหาการร้องเรียนเบื้องต้นในเรื่องภัยไซเบอร์ รวมถึงแนวทางการสร้างการรวมกลุ่มของผู้บริโภคให้เข้มแข็งขึ้น ทั้งต้องเสริมความแข็งแกร่งและภูมิคุ้มกันไซเบอร์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ที่มีส่วนได้เสีย และประชาชนทั่วไป สามารถร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ต่อร่างประกาศดังกล่าวข้างต้น ได้จนถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 ทั้งผ่านอีเมล์, ส่งด้วยตนเอง หรือทางไปรษณีย์มายังสำนักงาน กสทช.