มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จี้ กสทช. ลุยทำกฎหมายกำกับแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้อง กสทช. เร่งออกมาตรการกำกับดูแลธุรกิจให้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต ชี้เหตุมีปัญหารอบด้านที่สร้างผลกระทบต่อผู้บริโภค ทั้งด้านกำกับราคา และช่องทางร้องเรียน

วันที่ 8 พฤษภาคม 2567 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ เปิดเผยถึงผลสำรวจการให้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) ว่า OTT คือการให้บริการเนื้อหาสื่อรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ วีดิโอ ผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต การบริการผ่านแพลตฟอร์ม และเป็นแบบ in app purchase คือ การดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน แล้วมีการจ่ายค่าบริการเพิ่มเติม หรือ ที่บอกรับสมาชิกและเรียกเก็บเงินโดยแพลตฟอร์ม

ในปัจจุบันมีผู้ใช้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) เป็นจำนวนมากเนื่องจากสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคจากความสะดวกสบายในการรับฟังและรับชมได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านหลากหลายอุปกรณ์

โดยผู้ให้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) มีทั้งที่จดทะเบียนบริษัทในประเทศไทยที่เสียภาษีให้กับประเทศแบบถูกต้อง และแบบที่ไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทยโดยเงินของคนไทยที่ใช้บริการไหลออกไปยังต่างประเทศ โดยที่ประเทศไทยไม่ได้รับภาษีจากการชำระค่าบริการนั้นๆ

ในปัจจุบัน พบว่า กสทช.มีอำนาจกำกับดูแลเฉพาะบริการไอพีทีวี (IPTV) หรือโทรทัศน์ผ่านอินเตอร์เน็ต แต่สำหรับการให้บริการ OTT นั้น กสทช. ยังไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนมากำกับดูแลโดยเฉพาะ ทำให้เกิดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) ส่วนใหญ่ คือ ไม่สามารถควบคุมเนื้อหาที่เหมาะสม การกำหนดราคาที่เหมาะสมกับผู้บริโภค การมีโฆษณาคั่นในการรับชมผ่าน OTT แม้จะมีการชำระค่าสมาชิกก็หรือค่ารับชมแล้วก็ตาม

Advertisment

เหล่านี้ คือปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคที่ไม่ได้รับการคุ้มครองเท่าที่ควร รวมถึงความเหลื่อมล้ำจากการถูกกำกับดูแลและการเสียภาษี ระหว่างผู้ให้บริการ IPTV และผู้ให้บริการ OTT ทั้งๆ ที่ลักษณะและรูปแบบของการให้บริการมิได้แตกต่างกัน กสทช. ควรหาแนวทางกำกับดูแลกิจการ OTT ให้เป็นธรรมและเหมาะสมเพื่อประชาชน

ผลสำรวจเกี่ยวกับการใช้งาน OTT

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยังได้อ้างถึง รายงานบางส่วนของผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการให้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) โดยศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาที่ได้สุ่มเก็บความเห็นประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพ ฯ จำนวน 1,114 กลุ่มตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 7 – 10 เมษายน 2567

โดยใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 1 แสนคน ต้องการความเชื่อมั่นร้อยละ 95 และความผิดพลาดไม่เกิน ร้อยละ 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง

พบว่า ผู้ใช้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต หรือ OTT ส่วนใหญ่ร้อยละ 87.1 ยอมจ่ายเงินเป็นค่าแพกเกจแบบเสียค่าสมาชิก แต่กลับเจอปัญหาที่ผู้ประกอบการเอาเปรียบด้วยการบรรจุโฆษณาเข้ามาคั่นมีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 25.6 ที่โดนปัญหาแบบนี้

Advertisment

นั่นทำให้เสียงส่วนใหญ่ ร้อยละ 73.8 ต่างให้ความเห็นที่ตรงกันว่า ในเมื่อผู้บริโภคยอมเสียเงินค่าสมาชิกจึงต้องไม่มีโฆษณามาคั่นในแพกเกจ เพราะการที่ยอมเสียเงินก็เพราะต้องการรับชมเนื้อหาที่สนใจอย่างจุใจ

ดังนั้น เสียงส่วนใหญ่ ร้อยละ 70.2 จึงต้องการให้ภาครัฐ ควรกำหนดมาตรการกำกับราคาค่าสมาชิกของผู้ให้บริการ  และ ต้องการให้กำหนดบทลงโทษกับผู้ให้บริการที่ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ โดยเสียงส่วนใหญ่ ร้อยละ 76.4  ต้องการให้จ่ายค่าปรับ นี่ถือเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคเห็นพ้องต้องกันนำโด่งเป็นอันดับ  1  ตามด้วยเสียงสำรวจ ร้อยละ 42.1 ต้องการให้ปิดการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต และ อันดับที่สาม ร้อยละ 1.9 ต้องการให้ยึดใบอนุญาต

ส่วนคำถามที่ว่า พบเห็นปัญหาในการใช้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) จะร้องเรียนผ่านองค์กรใดบ้าง

ปรากฏว่า อันดับที่หนึ่ง คือ คอลเซ็นเตอร์ของผู้ให้บริการ (OTT) ร้อยละ 54.4 อันดับที่สอง คือ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ) ร้อยละ 16 อันดับที่สาม คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  (กสทช.) ร้อยละ 13.6 แต่อันดับที่สี่ ไม่แน่ใจ ร้อยละ 6.6  ส่วนอันดับที่ห้า คือ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) กับ สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้คะแนนสำรวจเท่ากัน ร้อยละ 4.7

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เร่ง ให้ กสทช.ออกเกณฑ์กำกับ OTT

นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์  ให้ความคิดเห็นว่า การดำเนินธุรกิจให้บริการเนื้อหาวิดีโอโดยการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT)  ทาง กสทช. ควรมีบทบาทกำกับดูแลทั้งระบบ เพราะปัจจุบัน มีอำนาจกำกับดูแลเฉพาะบริการไอพีทีวี (IPTV)  แต่กลับยังไม่มีหลักเกณฑ์กำกับดูแลระบบ OTT  ทำให้ผู้บริโภคอาจต้องเจอเนื้อหาที่ไม่สุภาพ

รวมถึง มีโฆษณาที่ไม่เหมาะสม ที่สำคัญหากต้องการดูแบบไม่มีโฆษณาจะถูกคิดค่าบริการที่มีราคาแพง และถูกผู้ให้บริการบังคับต้องใช้อุปกรณ์เท่าที่ระบุไว้ตามราคาเท่านั้น เช่น ถ้าซื้อราคา 99 บาทต่อเดือน ใช้ได้เฉพาะมือถือและแท็ปเล็ต เท่านั้น อีกทั้งพบว่า บริการ OTT ที่ผู้บริโภคใช้บริการ ส่วนมากจะเป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในต่างประเทศซึ่งตรงกับโพลสำรวจข้างต้น

ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้  กสทช.  กำหนดหลักเกณฑ์กำกับดูแลการประกอบธุรกิจบริการ OTT ที่เป็นผู้ประกอบการต่างประเทศ ให้อยู่ภายใต้กฎหมายของประเทศไทยเหมือนกัน ซึ่งหากไม่มีการกำกับดูแลให้ทั่วถึง นอกจากผู้บริโภคไทยจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ รัฐบาลจะเสียผลประโยชน์ด้านภาษีอีกด้วย