สัมภาษณ์พิเศษ
อุตสาหกรรมโทรทัศน์กำลังเผชิญความท้าทายสำคัญจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ท่ามกลางการเข้ามาของยักษ์แพลตฟอร์มข้ามชาติ การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีการออกอากาศไปสู่คุณภาพ 4K ที่ต้องการช่วงคลื่นความถี่ (แบนด์วิดท์) มากขึ้น
ในขณะที่สังคมตั้งคำถาม และวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชุดปัจจุบันในหลายแง่มุม จากปมความขัดแย้งภายใน ตามที่ปรากฏผ่านสื่อ ตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ของการทำงานร่วมกัน
ทั้งกรณีการถ่ายทอดสดบอลโลก, การควบรวมกิจการทรู-ดีแทค, เอไอเอส 3BB ไปจนถึงการสรรหาเลขาธิการ กสทช.ที่ยังคาราคาซัง ส่งผลให้การประชุมล่มนับครั้งไม่ถ้วน ทำให้ร่างประกาศจำนวนมากยังค้างคาอยู่ในการพิจารณา
“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต” กรรมการ กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ จากบอร์ดเสียงข้างน้อยสู่บอร์ดเสียงข้างมาก หลากหลายแง่มุมเกี่ยวกับการทำงานตลอด 2 ปีที่ผ่านมา
การออกประกาศ คือ งาน กสทช.
ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. กล่าวว่า การกำกับดูแลและส่งเสริมกิจการโทรทัศน์ที่อยู่ระหว่างดำเนินการมี 4 เรื่อง คือ 1.ร่างประกาศส่งเสริมการรวมกลุ่มของนักวิชาชีพหรือองค์กรสื่อ ให้เกิดการกำกับดูแลกันเองตามมาตรฐานจริยธรรม 2.ร่างหลักเกณฑ์กำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัล หรือ OTT 3.ร่างประกาศหลักเกณฑ์ส่งเสริมเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และ 4.ร่างใบอนุญาตโทรทัศน์ชุมชน ซึ่งแต่ละเรื่องมีความสำคัญ
“การทำหน้าที่ตามกฎหมาย ก็ต้องออกประกาศถึงจะเป็นเครื่องมือในการดำเนินการ อย่างร่างโอทีที ตามมติบอร์ด กสทช. 9 ส.ค. 2566 บอกชัดเจนว่า วิดีโอออนดีมานด์ และวิดีโอแชริ่งเซอร์วิส เป็นเซอร์วิสโพรไวเดอร์ตาม พ.ร.ฎ.ดิจิทัลแพลตฟอร์ม เราเป็นผู้กำกับดูแล ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯ ที่มีนิยามเรื่องโทรทัศน์ ไม่ว่าจะผ่านแพลตฟอร์มอะไรก็อยู่ในอำนาจเรา”
ส่วนร่างประกาศหลักเกณฑ์ส่งเสริมเนื้อหาที่เป็นประโยชน์กับสังคม ตาม ม.52 ของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ก็คือ สิ่งที่เราได้รับจากการไปคุยกับภาคส่วนต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมโทรทัศน์ ซึ่งอยู่ในช่วงซันเซต (ขาลง) ขณะที่เนื้อหาคุณภาพต้องการเงินลงทุน จึงพยายามจะสร้างหลักเกณฑ์ในการสนับสนุนด้านเงินทุน โดยในปีแรกจะมีเนื้อหา 3-4 ด้าน เช่น เด็ก เยาวชน ความหลากหลาย ท้องถิ่น เอกลักษณ์วัฒนธรรม และการร่วมกันผลิตกับต่างประเทศ
“รอบรรจุวาระกลับมาที่บอร์ด กสทช. ถ้าผ่านได้ ก็ยังมีกระบวนการเหมือนกับการออกประกาศทั่วไปที่ต้องไปทำโฟกัสกรุ๊ป มี Public Hearing ใช้เวลาอีก 3-4 เดือน ในการบังคับใช้”
สำหรับร่างชุมชน มีการปรับแก้ร่างเดิมที่ส่งเสริมบริการชุมชนประเภทวิทยุเท่านั้น ตอนนี้ขยายให้โทรทัศน์ชุมชนเข้าไปด้วย เพื่อให้ตรงกับข้อความใน กม.ที่บอกว่า กสทช.ต้องส่งเสริมชุมชนที่มีความพร้อมให้เข้าสู่การเป็นผู้รับใบอนุญาตบริการชุมชน
เปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมทีวี
“ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทั่วโลกเจอเหมือนกัน เป็นอุตสาหกรรมอัสดง (ขาลง) เหมือนที่เกิดกับสื่อกระดาษ ที่ยังอยู่กันได้ก็ต้องมูฟไปออนไลน์ แต่สื่อโทรทัศน์หนักกว่าในแง่ที่ว่าทุนที่เข้ามาแข่งเป็นทุนระดับโลก เป็นแพลตฟอร์มต่างประเทศที่เข้ามา การลงทุน ก็แข่งขันกันลำบาก ด้วยการเข้าถึงออนไลน์ที่กว้างขวาง พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
ต้องยอมรับว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่มีใครมานั่งดูผังรายการ เขารอไม่ได้แล้ว ขนาดดูซีรีส์ยังต้องดูความเร็วคูณ 1.5 ให้มันจบเร็วด้วยซ้ำ ปฏิเสธไม่ได้ต้องไปออนไลน์ แต่จะไปอย่างไรในแง่ที่ว่าเรายังสามารถรักษาคุณค่าของการเป็นสื่อ เป็นพื้นที่สาธารณะของสังคม”
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีการคัตลอสไปให้แล้ว ด้วยการใช้ ม.44 คืนค่ามักซ์ ค่าประมูลใบอนุญาตอะไรต่าง ๆ อุดหนุนคืนไป รวมแล้ว 3.8 หมื่นล้านบาท แต่ด้วยอายุใบอนุญาตทีวีดิจิทัลจะสิ้นสุดลงในปี 2572 และจะต้องเปลี่ยนผ่านสู่ออนไลน์ จึงต้องคิดร่วมกันว่าจะให้เปลี่ยนผ่านไปอย่างไร นำไปสู่ไอเดียเรื่อง National Platform
“ก็ต้องมาดูว่า ตรงนี้จะเป็นทางออกหรือเปล่า แต่ถ้าเป็นแค่ National Platform เพื่อเอาช่องต่าง ๆ มาสตรีมมิ่ง เป็นลักษณะ Linear เหมือนเดิม ถามว่าคนจะดูไหม ก็จะมีแค่คนรุ่นเก่าที่เปิดทีวีไว้เป็นเพื่อน แต่ก็ต้องเสียค่าดาต้า ค่าอินเทอร์เน็ตเพิ่ม ขณะที่ทีวีของเดิมไม่ต้องเสีย”
ไม่ใช่แค่นั้น เทคโนโลยีการแพร่ภาพใหม่อย่าง 4K ก็กำลังเข้ามา ทำให้จำนวนช่องทีวีดิจิทัลอาจต้องลดลงอีก เนื่องจาก “คลื่นความถี่” ที่มีจำกัด
“ทางผู้ประกอบการก็บอกกับเราว่า ประเทศไทยไม่เหมือนคนอื่น เราอาศัยดาวเทียมในการเข้าถึงทีวี เพราะฉะนั้นจะมาเอาคลื่น 3500MHz ออกไปไม่ได้ กระทบ C-band ห้ามมาแตะต้อง แต่ว่าเรามีพันธะกับ ITU แล้วก็ยิ่งในอนาคตเอาช่วงคลื่นตรง 600-900MHz ไปทำ IMT ช่วงคลื่นจะเหลือน้อยลงไปอีก แล้วเทคโนโลยีในการผลิตเปลี่ยนไปสู่ 4K ก็ยิ่งต้องใช้แบนด์วิดท์มากขึ้น จะยิ่งเหลือช่วงให้ออกอากาศช่องรายการน้อยลงไปอีก”
อินเทอร์เน็ตทั่วถึงทุกมิติพื้นที่-รายได้
นอกจากนี้ เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไปสู่ออนไลน์ การใช้ข้อมูลดาต้าอินเทอร์เน็ตก็สูงขึ้น ผู้ด้อยโอกาสและผู้ที่เข้าไม่ถึงบริการพื้นฐานอินเทอร์เน็ตจะต้องเปลี่ยนไป เช่น ในชุมชนแออัดใน กทม. แม้ไม่ใช่พื้นที่ห่างไกล แต่การเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตก็ทำได้ยาก จากข้อจำกัดด้านรายได้ ดังนั้นจึงอาจต้องมาหาคำนิยามใหม่ จริง ๆ แล้ว USO NET ที่ให้บริการโทรคมนาคมทั่วถึงเท่าเทียม อาจไม่ใช่แค่เฉพาะในพื้นที่ห่างไกลในลักษณะเดิม
หลังการควบรวมกิจการทำให้ผู้เล่นเหลือน้อยราย จึงเป็นไปได้ที่ กสทช.จะต้องสนับสนุนให้คนใช้งานที่เป็นคนชายขอบ คนด้อยโอกาส จำเป็นต้องมีมาตรการรองรับมาก คือ ส่วนหนึ่งอยู่ในมาตรการเฉพาะหลังการควบรวม แต่ก็อย่างที่เห็น ศักยภาพของสำนักงาน กสทช. ในการไปบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ ก็ยังทำได้ไม่เต็มที่ เช่น มาตรการลดราคาถัวเฉลี่ยที่ขอให้ไปทำราคามาใหม่ ก็ยังให้ละเอียดไม่ได้
“เขายังไปเขียนสรุปข้อสั่งการในการประชุมบอร์ดอีกอย่าง เรื่องทีวีดิจิทัลก็เหมือนกัน ก็บอกนะว่าให้มาบรีฟทำความเข้าใจก่อน ก็ไปเขียนอีกอย่าง ยอมรับว่าปวดหัวเหมือนกัน เราไม่ได้เป็นคนเขียนรายงาน”
ทีวี-ศูนย์กลางวาระ-พิธีการระดับชาติ
“พิรงรอง” ย้อนกลับมาเน้นเรื่องอุตสาหกรรมสื่อทีวีว่า บทบาท กสทช.เป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) อย่างเรื่อง National Steaming Platform ที่จะเป็นเครื่องมือในการที่จะช่วยธำรงคุณค่าของสื่อทีวี แม้ตัวคุณค่าบางที เป็นสิ่งที่อาจจับต้องไม่ได้ เป็นเรื่องความรู้สึกมากกว่า ที่ว่าทำไมต้องดูทีวี
“ทีวีระดับชาติ ทีวีกระแสหลัก ยังมีผลอยู่ในช่วงที่สังคมหันมาสนใจบางอย่างร่วมกัน เช่น เรื่องเลือกตั้ง สมมุติมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือมีประเด็นทางสังคมต่าง ๆ ช่วงมีภัยพิบัติ มีเหตุการณ์ต่าง ๆ มีพิธีการอะไรในสังคม ในระดับชาติ จะเป็นช่วงนี้ที่คนก็จะหันมามองว่าตรงนี้เป็นจุดที่ศูนย์รวมความสนใจของสิ่งที่ทำให้เกิดความผูกพันร่วมกันในฐานะที่เป็นชาติ”
อย่างที่กล่าวไปว่า การลงทุนในอุตสาหกรรมน้อยลง ผู้ประกอบการก็ต้องผลิตเนื้อหาที่ดึงดูดคนได้ แต่บางเนื้อหาก็ยังขาดแคลน เช่น การพยายามร่างประกาศหลักเกณฑ์ส่งเสริมเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ตามมาตรา 52 ของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ
“จากการไปคุยกับทุกคนว่า ด้วยอุตสาหกรรมขาลงอย่างนี้ เม็ดเงินไม่มี เนื้อหาดี ๆ ที่ต้องการ เป็นเนื้อหาคุณภาพ ต้องการเม็ดเงิน แล้วก็มานั่งศึกษา แล้วก็คุยกับผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ แล้วก็พยายามจัดหลักเกณฑ์ตรงนี้ขึ้นมา ปีแรกมี 3-4 ด้าน เนื้อหาเด็กและเยาวชน เนื้อหาความหลากหลาย ท้องถิ่น เอกลักษณ์วัฒนธรรม และเนื้อหาที่จะโคโปรดิวซ์กับต่างประเทศได้”
เก็บแต้มทำโซเชียลเครดิต TV
อาจารย์จาก ม.หอการค้าฯ มาสรุปเรื่องของงาน ที่เขาทำให้สำนักงาน ซึ่งไม่เกี่ยวกับเรานะ เขาได้ทำงานวิจัยไปตั้งแต่ก่อนเราเข้ามาเป็น กสทช.แล้ว ในข้อเสนอแนะของเขา ตรงกับหลาย ๆ เรื่องที่เรากำลังผลักดันอยู่ กลายเป็นว่าเขาทำวิจัยตั้งแต่ 2 ปีที่แล้วจนเสร็จ เขาเห็นว่าจะมีระบบการเก็บแต้มให้กับผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ
สมมุติว่าผู้รับใบอนุญาต โทรทัศน์หรือวิทยุหรืออะไรต่าง ๆ ที่ทำดี มีรายการเนื้อหาดี ควรจะมีการเก็บแต้ม ทำเนื้อหาให้ดีขึ้น สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ คือ “โซเชียลเครดิต” ทำคืบหน้าไปได้เยอะแล้ว
นอกจากนี้ยังบอกว่าถ้าเกิดส่งเสริมคุณภาพ เนื้อหารายการ ก็ต้องมีการจัดสรรทุน เราก็ทำอยู่ ซึ่งหลายอย่างมันก็อยู่ในกระบวนการที่เราทำ
สุดท้ายที่ว่าน่าจะสำคัญที่สุด คือ ร่างประกาศส่งเสริมรวมกลุ่มองค์กรวิชาชีพ พอพูดถึงมาตรฐานจริยธรรมมันครอบคลุมหลายเรื่อง แต่ล้วนเกี่ยวกับคนที่อยู่ในวิชาชีพ นอกจากเห็นความสำคัญ ต้องทราบด้วยว่าจะมีส่วนร่วมได้อย่างไร
ต้องเข้าใจว่ากระบวนการกำกับดูแลกันเองมันเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง หนึ่งต้องรับเรื่องราวร้องเรียน แล้วก็มีกระบวนการในการชี้แจงวินิจฉัย แล้วก็ตัดสิน จะตัดสินลงโทษหรืออะไรก็ตาม ล้วนต้องมีกระบวนการเช่นนี้
และยังมีเรื่องของการส่งเสริม ในแง่ของทักษะ ความรู้กับสกิล เป็นสิ่งที่ยังไงก็ต้องส่งเสริม ไม่สิ้นสุด ศักยภาพสำคัญ ถ้าศักยภาพไม่ถึง จริยธรรมก็ไม่มา เพราะฉะนั้นองค์กรวิชาชีพ ก็ต้องมีองค์กรที่มีความสามารถที่จะเทรนคนได้ อย่าไปมองว่าคือการดูแลในแง่ผลประโยชน์เท่านั้น