
เปรียบเทียบการแบ่งงานกำกับดูแลหน่วยงานในกระทรวงการคลังให้กับ “กฤษฎา” จากยุค “เศรษฐา” นั่งควบขุนคลัง ถึงยุค “พิชัย” บทบาทลดลงมาก ต้นเหตุตัดสินใจขอลาออก
วันที่ 9 พฤษภาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข่าวใหญ่กระแสแรงช่วงนี้ หนีไม่พ้นการลาออกของนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง จากโควตาพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ไม่พอใจการแบ่งงานกำกับดูแลหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลังของ นายพิชัย ชุนณวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ที่ประกาศออกมาเมื่อเย็นวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา
โดยการแบ่งงานรอบนี้ แตกต่างจากรอบที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยังนั่งควบเป็น รมว.คลัง อย่างชัดเจน ซึ่งรอบนั้น นายกฤษฎา ได้รับแบ่งงานให้กำกับหน่วยงานและรัฐวิสาหกิจสำคัญ ๆ หลายแห่ง ประกอบด้วย
- กรมสรรพสามิต
- ธนาคารกรุงไทย
- ธนาคารออมสิน
- ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)
- สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
- ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)
- บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
- การยาสูบแห่งประเทศไทย
- องค์การสุรา
ทว่า รอบนี้ นายกฤษฎาได้รับแบ่งงานให้กำกับดูแลหน่วยงานไม่กี่แห่ง โดยไม่ได้กำกับกรม และสถาบันการเงินของรัฐแห่งใดเลย ดังนี้
- การยาสูบแห่งประเทศไทย
- สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.)
- บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน)
- สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
- สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ สพพ.
ทั้งนี้ สำหรับหน่วยงานระดับกรม อย่างกรมสรรพสามิต ถูกโยกไปให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กำกับดูแล รวมถึงองค์การสุรา และการยาสูบแห่งประเทศไทย
ส่วนแบงก์รัฐ อย่างธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ก็ถูกโยกไปให้นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลังป้ายแดงกำกับดูแลแทน
ขณะที่ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารออมสิน, ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล นายพิชัยก็เข้ามากำกับดูแลด้วยตนเอง