มกอช. รับลูก ธรรมนัส ยกระดับคุณภาพมาตรฐานทุเรียน ส่งออกแสนล้านบาทปี’67

ทุเรียน

มกอช. ขานรับข้อสั่งการ รมว.ธรรมนัส ยกระดับคุณภาพมาตรฐานทุเรียนของไทย มุ่งเป้าการส่งออกมูลค่ากว่าแสนล้านบาทในปี 2567

วันที่ 9 พฤษภาคม 2567 นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า มกอช. ได้จัดโครงการอบรมเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการและผู้ผลิตเข้าสู่มาตรฐานบังคับเรื่องหลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ (มกษ. 9070-2566) ระหว่างวันที่ 23-24 เมษายน 2567 ณ โรงแรมบลูแรบบิท จังหวัดจันทบุรี

โดยบูรณาการร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก และสำนักงานที่ปรึกษาเกษตรต่างประเทศประจำกรุงปักกิ่ง ร่วมให้ข้อมูลและชี้แจงกับผู้ประกอบการ เกษตรกร และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในรูปแบบการเสวนาเรื่องทิศทางการผลิตและการส่งออกทุเรียนไทย ในปัจจุบันและอนาคต

“การกำกับดูแลผลไม้ให้เป็นไปตามมาตรฐานเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง หากผลไม้ไม่มีคุณภาพและมาตรฐานย่อมส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เป็นไปตามนโยบายร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งขับเคลื่อน ภาคการเกษตร ต้องกินดี อยู่ดี มีรายได้เพิ่มขึ้นสามเท่าภายใน 4 ปี และพัฒนายกระดับสินค้าเกษตรทุกชนิด

Advertisment

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลไม้ ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร และประเทศไทยอย่างมหาศาล ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้มีนโยบายในการควบคุมคุณภาพผลไม้ตลอดห่วงโซ่อุปทานโดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณภาพผลผลิตในโรงคัดบรรจุเพื่อการส่งออกได้”

ก่อนหน้านี้ มกอช. ได้กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรหลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ (มกษ. 9070-2566) ซึ่งประกาศเป็นมาตรฐานทั่วไปเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 และต่อมาประกาศเป็นมาตรฐานบังคับ โดยคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ ช่วงต้นปี 2568

พร้อมกันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการ มกอช. กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการโรงรวบรวมและโรงบรรจุทุเรียนต้องได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับและได้รับรองมาตรฐาน

ภายในงานนี้ ได้จัดการบรรยายให้ความรู้เรื่องมาตรฐานสินค้าเกษตรหลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ (มกษ. 9070-2566) ขั้นตอนการส่งออกทุเรียนไทยไปต่างประเทศ ขบวนการควบคุมกำกับดูแลตามมาตรฐานบังคับ

Advertisment

อีกทั้งการจัดคลีนิกให้คำปรึกษาจากผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐาน (CB) พบผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุทุเรียนในเรื่องการขอการรับรอง รวมถึงกำหนดแผนที่จะจัดอบรมให้ความรู้ ความเข้าใจ ไปยังผู้ประกอบการกลุ่มเกษตรภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างต่อเนื่อง ระหว่างเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2567 อีกด้วย

“มกอช. ในฐานะหน่วยงานกลางด้านมาตรฐานสินค้าเกษตรได้จัดเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการและผู้ผลิตเข้าสู่มาตรฐานบังคับเรื่องหลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ (มกษ. 9070-2566) ซึ่งที่ผ่านมาในปี 2566 ได้พัฒนาหลักสูตรกลางเพื่อสร้างความรู้ และพัฒนาทักษะให้ผู้เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่การผลิตทุเรียน ได้แก่ หลักสูตรผู้ควบคุมการเก็บเกี่ยว หลักสูตรผู้ตรวจสอบความแก่ของผลทุเรียน หลักสูตรผู้ตรวจประเมินตามมาตรฐาน 9070″

อีกทั้งยังได้มีการจัดทำระบบการเรียนรู้ตามมาตรฐานดังกล่าว ในรูปแบบออนไลน์ (E-learning) เพื่ออำนวยความสะดวกผู้เกี่ยวข้องให้สามารถเรียนได้ทุกที่ ตลอดเวลา ไม่จำกัดจำนวน ซึ่งปัจจุบันผู้ผ่านการอบรมแล้ว มากกว่า 2,000 ราย มีผู้ตรวจประเมินจากหน่วยตรวจสอบรับรองที่มีความสามารถในการให้การรับรองมากกว่า 80 คน จากหน่วยตรวจสอบรับรอง จำนวน 21 แห่ง

นอกจากนี้ มกอช. กำหนดแผนการจัดคลินิกให้คำปรึกษาจากผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐาน (CB) เรื่องการขอการรับรอง ในทุกภูมิภาคระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนสิงหาคม ในปี 2567 นี้ รวมถึงจะมีการพัฒนาคู่มือการปฏิบัติงาน การพัฒนาเอกสารและแบบฟอร์มที่เกี่ยวข้อง และการพัฒนาสถานประกอบการต้นแบบอีก 20 แห่ง เพื่อให้โรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุทั่วประเทศได้นำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน และมีความพร้อมในการยื่นขอการรับรองตามมาตรฐานบังคับต่อไป

ทุเรียนจัดเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญและมีมูลค่าการส่งออกมากที่สุดของประเทศไทย

จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรพบว่าปัจจุบันแหล่งเพาะปลูกทุเรียน 5 อันดับแรกของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ชุมพร ระยอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ในปี 2566 มีปริมาณผลผลิตทุเรียน 1.47 ล้านตัน จำหน่ายในประเทศ 3.6 แสนตัน และส่งออก 1.1 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 1.4 แสนล้านบาท โดยประเทศที่ไทยส่งออกทุเรียนมากที่สุดคือ สาธารณรัฐประชาชนจีน 9.5 แสนตัน รองลงมาคือ ฮ่องกง 1 หมื่นตัน