“ดีอี” นำทีมปราบโจรออนไลน์ ไล่ปิดบัญชีม้าสกัดโอนเงินซื้อคริปโต

DE
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง

การเร่งรัดปราบภัยคุกคาม และอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นหนึ่งในนโยบายด้านดิจิทัลของรัฐบาล และภารกิจสำคัญของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) โดยนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ได้มีข้อสั่งการถึงกระทรวงดีอี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 30 วัน นับตั้งแต่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนไทยจำนวนมาก

ภาพรวมอาชญากรรมไซเบอร์

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี เปิดเผยว่า สถานการณ์การหลอกลวงออนไลน์ปัจจุบัน ความเสียหายที่หนักมาจากการ “หลอกลงทุน” และการส่งผ่านข้อความ SMS หรือแอปข้อความ ทั้งยังมีการโฆษณาผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ซึ่งอยู่ระหว่างการประสานงานกับเจ้าของแพลตฟอร์มอย่างใกล้ชิด

จากข้อมูลการดำเนินงานของจากศูนย์ AOC ระบุว่า มีความเสียหายเฉลี่ยวันละ 100 ล้านบาท โดยตั้งแต่ 1 พ.ย. 2566 ถึงวันที่ 19 เม.ย. 2567 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงาน ดังนี้

สายโทร.เข้าร้องเรียน 1441 จำนวน 558,411 สาย/เฉลี่ยต่อวัน 3,266 สาย

ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 119,503 บัญชี/เฉลี่ยต่อวัน 926 บัญชี

Advertisment

ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่

1. หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 36,319 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 30.40

2. หลอกลวงหารายได้พิเศษ 25,675 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 21.48

3. หลอกลวงลงทุน 21,820 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 18.26

Advertisment

4. หลอกลวงให้กู้เงิน 9,866 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 8.26

5. หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 7,689 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 6.43 และคดีอื่น ๆ 18,134 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 15.17

และมียอดการอายัดบัญชี (1 พ.ย. 66-14 เม.ย. 67) ข้อมูลจาก ตร. (บช.สอท.) รวมทั้งประเทศ 8,447.1 ล้านบาท อายัดได้ 4,055.8 ล้านบาท ร้อยละ 48.01

งัด 8 มาตรการไล่ล่า

นายประเสริฐกล่าวต่อว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องใน 8 มาตรการ คือ 1.ตัวเลขอาชญากรรมใน 30 วัน ต้องลดลงชัดเจน 2.กวาดล้างบัญชีม้า 3.ปราบซิมม้า 4.บูรณาการหน่วยงานกวาดล้างเสาสัญญาณเถื่อนตามแนวชายแดน

5.ประสานมหาดไทย ตรวจสอบบุคคลต่างด้าวที่อยู่ในไทย ที่มีพฤติการณ์ตั้งแก๊ง ไม่ว่าจะอาศัยในบ้านเช่าหรือโรงแรม 6.ประสานกระทรวงการต่างประเทศติดต่อรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านสร้างความร่วมมือหากขยายผลขอให้ส่งตัวผู้ต้องหากลับ

7.ประสานสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)แก้ไขระเบียบคุมการซื้อขายคริปโต และ 8.ประสานสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ออกระเบียบชะลอชำระเงินเมื่อซื้อของออนไลน์กรณีผิดปกติให้ยืดการจ่ายไป 5 วัน

“ข้อแรกจะวัดผลใน 30 วัน ตามข้อสั่งการนายกฯก็คาดว่าอย่างน้อยตัวเลขความเสียหายจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยีต้องลดลง ซึ่งดีอีดำเนินการสร้างมาตรการสกัดกั้นที่ต้นทาง ส่วนมาตรการที่เกี่ยวกับกฎระเบียบต้องใช้เวลา บางเรื่องทำมาแล้ว ก็ต้องยกระดับขึ้น”

รัฐมนตรีดีอีกล่าวว่า นายกฯทราบสถานการณ์ของปัญหาดี มีการติดตาม และได้พูดคุยกันตลอด เป็นเรื่องที่ต้องฟื้นความเชื่อมั่น ได้ทำการสกัดทุกช่องทางที่ทำได้ เช่น บก.สอท. แจ้งว่าช่องทางสุดท้ายของบัญชีม้าที่จะโอนเงินไปต่างประเทศ คือการแลกเป็นเหรียญคริปโตฯแบบ P2P (Peer to Peer) จึงขอความร่วมมือ ก.ล.ต. หาระเบียบเพื่อไปควบคุม

เพิ่มเกณฑ์เปิดบัญชีธนาคาร

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวเป็นสิ่งที่ดำเนินการมานานแล้วในการที่จะเร่งจำแนกบัญชีธนาคารต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์ หรือบัญชีม้า เพราะหากจำแนกและปิดบัญชีม้าแถวแรกได้ก็จะปิดบัญชีที่เกี่ยวข้องได้ รวมถึงเร่งรัดให้ปิดบัญชีเข้าข่ายก่อเหตุให้เร็วขึ้น และมีมาตรการสำหรับผู้เปิดบัญชีใหม่ โดยสมาคมธนาคารพาณิชย์มีแนวทาง ดังนี้

1.เพิ่มมาตรการควบคุมการเปิดบัญชีใหม่ โดยเพิ่มการตรวจสอบ CDD (Customer Due Diligence) เพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า เช่น วัตถุประสงค์ในการเปิดบัญชี หรือยอดเงินหมุนเวียนของธุรกิจ เพื่อให้ทราบว่าหากมีธุรกรรมมากเกินกว่าปกติจะต้องตรวจสอบ และมีการประเมินความเสี่ยง ก่อนอนุมัติเปิดบัญชีลูกค้า จากเดิมการเปิดบัญชีใหม่มีแค่การทำ KYC (Know Your Customer)

2.เร่งรัดล้างบัญชีีต้องสงสัย-บัญชีม้าในระบบธนาคารเดิม โดยสมาคมธนาคารไทย สถาบันการเงิน ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ทำการตรวจสอบแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีต้องสงสัย เพื่อระบุเหตุสงสัยแล้วระงับบัญชี ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงาน ปปง. ได้ดำเนินการปิดบัญชีม้าไปแล้ว 318,298 บัญชี และศูนย์ AOC ปิดไปแล้ว 112,699 บัญชี

ทั้งอนุญาตให้อายัดบัญชี “ทันที” กรณีที่ผู้เสียหายแจ้งเหตุกับศูนย์ AOC 1441 และผู้เสียหายแจ้งความออนไลน์เรียบร้อยแล้วจากเดิมแค่ระงับชั่วคราวไว้ 3 วัน

ส่วนกรณี “ซิมม้า” จากที่มีมาตรการร่วมกับสำนักงาน กสทช.ในการขึ้นทะเบียนใหม่สำหรับผู้ครองซิม 6-100 เลขหมายขึ้นไปนั้น มีผู้มายืนยันตัวตนแล้ว 2.57 ล้านหมายเลข ยังไม่มา 2.5 ล้านหมายเลข อยู่ระหว่างดำเนินการระงับสัญญาณ

และในส่วนของ สตช. และกระทรวงดีอี ได้ประสานเพื่อระงับซิมม้าหรือซิมต้องสงสัยไปแล้วกว่า 8 แสนหมายเลข พร้อมกับเข้มงวดกับการเปิดใช้ซิมใหม่ เพื่อป้องกันการนำซิมไปใช้กระทำผิดกฎหมาย ที่ผ่านมาพบการละเลยจำนวนมาก ทั้งมีการสวมรอยพาสปอร์ตชาวต่างชาติ หรือขโมยบัตรประชาชนคนไทยมาเปิดซิมมากขึ้น

“กสทช. และผู้ให้บริการโทรคมนาคม ยังเร่งทำฐานข้อมูลตรวจสอบผู้ส่ง SMS จำนวนมาก (Sender Name) และเร่งดำเนินการเรื่องเสา-สายโทรคมนาคมอินเทอร์เน็ต และสายโทรศัพท์ที่ผิดกฎหมายตามแนวชายแดน ร่วมกับกระทรวงกลาโหม กสทช. และ สตช. เพื่อปิดกั้น และจับกุมผู้กระทำความผิดด้วย”

ปิดกั้นแพลตฟอร์มเถื่อน

อีกส่วนที่เป็นไฮไลต์คือ การดึง ก.ล.ต.เข้ามามีส่วนร่วม เนื่องจากบัญชีสุดท้ายของมิจฉาชีพ เป็นบัญชีที่โอนเงินออกไปแปลงเป็นสกุลเงินดิจิทัล แบบ P2P กว่า 80% ของการก่ออาชญากรรม ก.ล.ต.จึงเสนอว่ามีอำนาจตาม พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ในการกล่าวโทษแพลตฟอร์มคริปโตที่ไม่ได้รับอนุญาตให้บริการในประเทศไทยว่าเป็นแพลตฟอร์มเถื่อน และส่งให้ศาลตัดสิน

แล้วให้ดีอีปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์เหล่านั้น ก็จะช่วยสกัดช่องทางการโยกย้ายเงินออกนอกประเทศได้

นายประเสริฐกล่าวด้วยว่า ไม่ใช่แค่แพลตฟอร์มคริปโต แต่ยังรวมถึงแพลตฟอร์มลวงลงทุนอื่น ๆ และผู้ชักชวนลงทุนโดยไม่มีใบอนุญาต ที่ต้องมีการกล่าวโทษ แล้วปิดกั้นต่อเนื่อง

สุดท้ายแล้วข้อมูลทุกอย่างทั้งของธนาคาร และของ กสทช. จะส่งมารวบรวมที่ศูนย์ AOC เพื่อทำการบูรณาการข้อมูล และพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เพื่อใช้ในการตรวจสอบธุรกรรมหรือเหตุต้องสงสัยที่เกิดกับระบบต่าง ๆ ด้วยระบบอัตโนมัติ ทั้งระบบการเงินระบบโทรคมนาคม และอื่น ๆ