กนอ. สั่ง มาบตาพุดแทงค์ฯ ระเบิด หยุดประกอบกิจการชั่วคราว

กนอ.สั่ง “มาบตาพุดแทงค์ฯ” หยุดประกอบกิจการบางส่วนชั่วคราว จี้เร่งหาสาเหตุอุบัติเหตุ ตรวจสอบความเสียหายของโครงสร้างถังสารเคมี C-9 (Nine) กลุ่มอโรมาติก พร้อมทั้งชี้แจง-เยียวยา หากมีผู้ได้รับผลกระทบ

วันที่ 9 พฤษภาคม 2567 นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงเหตุการปะทุและมีเปลวไฟภายในถังสารเคมี C-9 (Nine) กลุ่มอโรมาติก ของบริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินอล จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่สำนักงานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด (สทร.) ถนนไอ 8 ต.มาบตาพุด อ.เมืองระยอง จ.ระยอง ว่าเบื้องต้นมีผู้บาดเจ็บ 4 ราย

วีริศ อัมระปาล
วีริศ อัมระปาล

โดยบริษัทได้นำส่งโรงพยาบาลและอยู่ในความดูแลของแพทย์เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้รับรายงานว่ายังไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม และยังอยู่ในระหว่างการระงับเหตุ โดยกลุ่มบริษัทในเครือเอสซีจีได้นำโฟมมาดับเพลิงและเตรียมเรือเพื่อนำประชาชนออกจากพื้นที่หากสถานการณ์รุนแรงขึ้น

อย่างไรก็ตาม กนอ.มีคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมให้บริษัท มาบตาพุดแทงค์ เทอร์มินอล จำกัด หยุดประกอบกิจการโรงงานในกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับหน่วยถังสารเคมี C-9 (Nine) กลุ่มอโรมาติกเป็นการชั่วคราว นับตั้งแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่ง เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบสาเหตุและประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น

รวมทั้งให้บริษัทตรวจสอบความเสียหายของโครงสร้างถังสารเคมี C-9 (Nine) กลุ่มอโรมาติก และมีหนังสือรับรองการตรวจสอบจากวิศวกร ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 สรุปผลการตรวจสอบและแนวทางปรับปรุงแก้ไขเสนอ กนอ. เพื่อใช้ประกอบการพิจารณา

Advertisment

นอกจากนี้ ต้องตรวจสอบวิเคราะห์หาสาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเร่งด่วน และจัดทำมาตรการด้านความปลอดภัย เพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ ซึ่งต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานภายนอกที่ให้การรับรองด้านความปลอดภัย (Third Party) พร้อมทั้งชี้แจงแนวทางและมาตรการในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเกิดอุบัติเหตุดังกล่าวด้วย

“กนอ.ได้สั่งการให้บริษัท มาบตาพุดแทงค์ฯ หยุดประกอบกิจการบางส่วนเป็นการชั่วคราวแล้ว ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ส่งผลกระทบกับโรงงานใกล้เคียง รวมทั้งชุมชนโดยรอบ ทั้งนี้ เบื้องต้นศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (EMCC) ได้ตรวจวัดคุณภาพอากาศบริเวณหน้าบริษัท พบว่าคุณภาพในบรรยากาศอยู่ในเกณฑ์ปกติ

อย่างไรก็ตาม ได้สั่งกำชับทุกนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มความเข้มมาตรการรักษาความปลอดภัยภายในพื้นที่ตามมาตรฐาน “การจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต” (Process Safety Management : PSM) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และชุมชน เพื่อทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน”

Advertisment