แขนซ้ายขวา “สกาย ไอซีที” เมทเธียร์-โปรอินไซด์ ลุยโปรเจ็กต์ภาครัฐ

sky
เบญญาภา เฉลิมวัฒน์-ขยล ตันติชาติวัฒน์

นับตั้งแต่วันที่ธุรกิจไอทีทรานส์ฟอร์มตัวเองมาสู่การให้บริการโซลูชั่น บมจ.สกายไอซีที จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในผู้เล่นรายใหญ่ในตลาด ซึ่งในช่วง 2-3 ปีมานี้ได้ขยับขยายธุรกิจและแตกบริษัทย่อยออกไปโฟกัสธุรกิจที่เฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น เพื่อให้บริษัทแม่ได้โฟกัสงานโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ เช่น การบริหารจัดการระบบสนามบิน เป็นต้น โดยเฉพาะการตั้ง บริษัท โปรอินไซด์ จำกัด เจาะการเข้าประมูลงานภาครัฐ และ บริษัท เมทเธียร์ จำกัด ที่จะมุ่งไปยังการนำเทคโนโลยีไอโอที โรโบติกส์ และเอไอ เข้ามาบริหารจัดการอาคารและโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ มีเครือข่ายแม่บ้านและพนักงานรักษาความปลอดภัยกว่า 6,000 คน ในมือเป็นกำลังสำคัญ

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ 2 แม่ทัพ “ขยล ตันติชาติวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เมทเธียร์ และ “เบญญาภา เฉลิมวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท โปรอินไซด์ จำกัด หลากหลายแง่มุมเกี่ยวกับทิศทางในอนาคตของการรุกตลาดบริการโซลูชั่นไอทีที่ทั้งสองกำลังมุ่งไป และเป็นดังลมใต้ปีกเสริมแกร่งให้บริษัทแม่

เร่ง IPO ตุนแบ็กล็อก 2 พันล้าน

“เบญญาภา” กล่าวว่า ตั้งแต่มีการปรับโครงสร้างแยกตัวออกจากสกายไอซีทีในปี 2565 โปรอินไซด์ กลายเป็นมือสำคัญในการเดินหน้าเสนอราคาหรือเข้าประกวดราคาโครงการของรัฐแทนสกายไอซีที และจะมีบทบาทเป็นผู้บูรณาการระบบไอที (SI) ซึ่งยังเป็นแหล่งรายได้สำคัญให้บริษัทแม่ เพื่อให้บริษัทแม่โฟกัสงานที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการบิน

“เป้าหมายของเราคือเข้าตลาดหุ้น ที่นอกจากจะส่งผลอย่างมากต่อความเชื่อมั่นในการเข้าประมูลโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ จากการที่บริษัทมีมูลค่าตลาดที่ใหญ่และความน่าเชื่อถือที่ดี ยังช่วยเรื่องการระดมทุนทำให้มีเงินทุนหมุนเวียนสำหรับโครงการของรัฐและรัฐวิสาหกิจ คาดว่าในไตรมาส 3 ปีนี้จะยื่นไฟลิ่ง IPO ในตลาด mai แล้วเสร็จ”

ปัจจุบันบริษัทมีงานโครงการที่อยู่ใน Backlog มูลค่าราว 2 พันล้านบาท และยังอยู่ระหว่างการเจรจากับหน่วยรัฐระดับกระทรวงอีกหลายหน่วยงาน เนื่องจากเป็นช่วงที่เพิ่งผ่านการอนุมัติงบประมาณปี 2567 โดยเฉพาะในกลุ่มบริการที่ต้องการ “แพลตฟอร์ม”

Advertisment

จากข้อมูลใน Creden Data พบว่ามีการแปรสภาพ บริษัท โปรอินไซด์ จำกัด เป็น บริษัท โปรอินไซด์ จำกัด (มหาชน) โดยจดทะเบียนเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2567 มีทุนจดทะเบียน 270 ล้านบาท ทั้งยังพบด้วยว่าผลประกอบการในปี 2564 ที่ผ่านมามีรายได้อยู่ที่ 676 ล้านบาท กำไร 87 ล้านบาท ส่วนในปี 2565 มีรายได้ 643 ล้านบาท กำไร 18 ล้านบาท

ลุยแพลตฟอร์มรัฐ โอกาสใหม่

“หลายคนอาจสงสัยว่างานที่เราทำอาจไปซ้ำซ้อนกับบริษัท TKC (บริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชัน เซอร์วิส จำกัด มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทหนึ่งภายใต้ สกายไอซีที แต่โดยเนื้องานและความชำนาญแล้วเรามีความต่างกัน TKC ถนัดด้านระบบโทรคมนาคมและการวางโครงสร้างพื้นฐานขณะที่โปรอินไซด์ชำนาญในเรื่องที่เกี่ยวกับ End User ที่เป็นแพลตฟอร์มมากกว่า อย่างตอนนี้รัฐบาลพูดถึงซูเปอร์แอปภาครัฐ เราก็มีการศึกษาดูว่าจะเป็นอย่างไร”

แม่ทัพหญิงโปรอินไซด์ให้มุมมองว่า ทุกกระทรวงยังต้องการแอปของตนเอง โดยเฉพาะกระทรวงที่มีระบบชำระเงิน หรือมีรายได้จากการเรียกเก็บจากประชาชนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทยที่มีกรมที่ดิน หรือกระทรวงการคลัง ที่มองว่าทุกคนต้องกระจายแพลตฟอร์มออกไปเพราะเป็นเรื่องของความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ หากข้อมูลสำคัญของประชาชนรวมศูนย์อยู่ที่ซูเปอร์แอปหากระบบล้มเหลวหรือโดนโจมตีจะล้มทั้งหมดได้

“ปีนี้เราเป็นผู้เชื่อมโยงระบบข้อมูลสาธารณสุขทั้ง 13 เขตสุขภาพไว้บนคลาวด์กลางภาครัฐ หรือ GDCC เพื่อให้รองรับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ได้ และทำหน้าต่างแอปของระบบ HIS ของระบบสาธารณสุขขั้นมูลฐานที่ใช้ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล และหน่วยปฐมภูมิของโรงพยาบาล 4.5 พันแห่ง ซึ่งยังคงต้องเดินหน้าทำต่อตามนโยบายให้มาตรฐานข้อมูลแลกเปลี่ยนกันได้ในปีนี้”

Advertisment

และโอกาสใหม่ ๆ ในการให้บริการประชาชนด้วยเทคโนโลยีของภาครัฐยังมีอีกมาก อย่างเรื่องคอลเซ็นเตอร์ที่ต้องให้บริการตอบคำถามประชาชน จะเห็นว่าคนทำงานไม่มีทางพอ ซึ่งในส่วนนี้บริษัทสามารถทำแพลตฟอร์มและนำเอไอเข้ามาบริการซึ่งไม่ใช่แค่การทำแชตบอตแต่เป็นการโต้ตอบด้วยเสียง คาดว่าตลาดนี้รวมรัฐ-เอกชนมีมูลค่ารวมกันถึง 4 พันล้านบาท

มากกว่าระบบจัดการแม่บ้าน-รปภ.

ด้าน “ขยล” กล่าวถึงโอกาสและทิศทางของ เมทเธียร์ บริษัทน้องใหม่ในร่มเงาสกายไอซีทีว่า เป้าหมายในระยะสั้นนี้จะต้องรักษาการเติบโต และเติมเต็มบริการที่เป็นไอทีโซลูชั่นเต็มรูปแบบมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการให้บริการแม่บ้านและพนักงานรักษาความปลอดภัย และได้นำอุปกรณ์ไอโอทีที่จำเป็นเข้าสู่ตลาด ซึ่งจะทำให้โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ กลายเป็น สมาร์ทซิตี้ สมาร์ทบิลดิ้ง หรือสมาร์ทฟาซิลิตี้ที่ต่อยอดได้อีกมาก เพราะเดิมสกายกรุ๊ป มีการทำแพลตฟอร์มสมาร์ทบิลดิ้งเหล่านี้ไว้อยู่แล้ว

ปัจจุบันกลุ่มลูกค้าหลักของเมทเธียร์ ได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรม มิกซ์ยูส โรงพยาบาล สถาบันทางการเงิน สถานศึกษา ห้างสรรพสินค้า และกลุ่มอาคารสำนักงานครอบคลุมระบบบริหารจัดการอาคารตั้งแต่การตรวจนับจำนวนคนเข้าอาคาร ตรวจจับป้ายทะเบียนรถ ตลอดจนนำหุ่นยนต์ทำความสะอาดอัตโนมัติมาใช้

“เครือข่ายแม่บ้าน-รปภ. ที่เรามีอยู่จะเข้าไปทำงานร่วมกับระบบเซ็นเซอร์ต่าง ๆ ที่เราติดตั้ง ล่าสุดที่ Icon Siam เขาชอบระบบตรวจจับใบหน้าอย่างมาก ในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาโซลูชั่นที่เราติดตั้งสามารถนับจำนวนคนเข้างานโดยแยกใบหน้าที่ซ้ำออกไปได้ และช่วยคัดกรองคนที่ถูกขึ้นบัญชีดำห้ามเข้า และผู้ที่มีประวัติอาชญากรรมซึ่งทั้งเราและทางห้างได้ทำข้อตกลงกับตำรวจเพื่อระบุความเสี่ยงเหล่านี้เมื่อสัญญาณดังขึ้น รปภ.ของเราเข้าไปเทกแอ็กชั่น”

สำหรับในลูกค้ากลุ่มโรงงานจะมีความต้องการที่ไม่ซับซ้อน เพราะปัญหาเขาคือการควบคุมการจราจรหน้าโรงงานที่ยุ่งเหยิง ซึ่งกล้องและ รปภ. ประเมินได้ แม้จะเป็นงานเล็ก ๆ แต่ก็ส่งผลกับผลิตภาพอย่างมาก

“ที่น่าสนใจคือกลุ่มธุรกิจรักษาความสะอาด โดยเฉพาะห้องน้ำ ที่ทำให้อันดับสนามบินสุวรรณภูมิเราไม่ตกต่ำ ถ้ามีการออกแบบที่ดีให้การทำความสะอาดง่าย ลดการฟุ้งกระจาย เช่น การออกแบบความลาดเอียงการวางอ่างล้างมือ หรือแม้แต่การติดเซ็นเซอร์เพื่อวัดกลิ่น ถ้ามีแอโมเนียเยอะก็มีการพ่นสเปรย์ฆ่าเชื้อลงมาก่อนที่จะถึงรอบทำความสะอาดของแม่บ้าน หรือในกลุ่มธุรกิจรถที่ใช้ส่งของมีค่าอย่างรถส่งเงิน เราได้ลองติดกล้องในและนอกตัวรถเพื่อทดสอบการดึงภาพแบบเรียลไทม์ ในอนาคตสามารถเข้าไปให้บริการขนส่งของมีค่าอื่นอย่างจิวเวลรี่ ทองคำ และอื่น ๆ ได้อีก หากมีการบริหารจัดการโลจิสติกส์เพิ่มขึ้นก็เป็นโอกาสดี

“ขยล” กล่าวด้วยว่า ด้วยโซลูชั่นที่มีและพร้อมทำในขณะนี้ ทำให้เมทเธียร์ เป็นผู้ให้บริการ Facility Management โดยได้นำซอฟต์แวร์อย่าง Mettlink ที่ใช้ระบบ Face Verification ยืนยันตัวตน เข้าออกงาน และ ยืนยันจุดที่ปฏิบัติงาน ทำให้ผู้ว่าจ้างสามารถ เช็กการเข้าออกงานได้อย่างมั่นใจ

นอกจากนั้น การปฏิบัติตามหน้าที่ของพนักงานทุกฝ่ายจะเป็นการทำงานควบคู่กับเอไอ เช่น รปภ. ได้รับการแจ้งเตือนจากระบบ AI CCTV และ ไอโอทีต่าง ๆ เรื่องการดูแลความปลอดภัย หรือแม่บ้านทำงานร่วมกับเทคโนโลยีโรโบติกส์ และไอโอที ทำให้สามารถเห็นการทำงานและประเมินผลิตภาพของงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดแก่ลูกค้าได้ ด้วยเทคโนโลยีเอไอจากการเชื่อมข้อมูลเซ็นเซอร์และฐานข้อมูลต่าง ๆ ทำให้สร้างวิธีการทำงานตามความเหมาะสมกับประเภทของลูกค้าในแต่ละอุตสาหกรรมได้

สิ่งเหล่านี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาก่อน ทำให้บริษัทเป็นSmart Facility Management รายแรกของประเทศไทย

หุ่นยนต์ทำความสะอาดปั๊มรายได้

“ตอนนี้ภาคธุรกิจหลายส่วนกำลังให้ความสนใจใช้หุ่นยนต์ทำความสะอาด ทำให้เราเชื่อว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นจึงขยับเป้าหมายจาก 1.5 พันล้าน เป็น 1.8 พันล้านบาท ด้วยความที่มีพาร์ตเนอร์เป็นบริษัทโรโบติกส์ที่ต่างประเทศและมีการเจรจากันมานานทำให้สามารถซื้อหุ่นยนต์ทีละน้อย ๆ ได้ ปกติเขาไม่ขาย ตอนนี้มีอยู่กว่า 20 ตัว เริ่มเข้าไปทำงานในศูนย์ราชการ, King Power, โรงพยาบาลรามคำแหง และโรงงานอุตสาหกรรม ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มเป็น 50 ตัว ในระยะอันใกล้ แม้ตอนนี้ราคาหุ่นยนต์ทำความสะอาดยังมีราคาค่อนข้างสูง แต่หากพ้นจุดคุ้มทุนซึ่งอยู่ราว ๆ สองปีแล้วเทคโนโลยีโรโบติกส์เหล่านั้นยังใช้งานได้ดีก็จะทำให้รายได้ที่ได้มามีมาร์จิ้นสูงมากยิ่งขึ้น”