เมทเธียร์ เสริมแกร่ง SKY ICT บริหารจัดการอาคารด้วยเทคโนโลยี

ขยล ตันติชาติวัฒน์
ขยล ตันติชาติวัฒน์

ปัจจุบันดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นได้แทรกซึมไปในทุกอุตสาหกรรม รวมถึงธุรกิจบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ (facility management) ที่เข้ามาเติมเต็มช่องว่างด้านการรักษาความปลอดภัย และความสะดวกสบายในการใช้พื้นที่ในอาคารสำนักงาน บมจ.สกายไอซีที ผู้ให้บริการโซลูชั่นด้านไอที มองเห็นโอกาสในการสร้างรายได้ใหม่ จึงขยับขยายการลงทุน ผ่านบริษัทลูกเมทเธียร์ (Metthier)

ปั้น S-curve ใหม่ต่อยอดธุรกิจ

“ขยล ตันติชาติวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมทเธียร์ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ให้บริการ facility management ในไทยมีเกือบ 5,000 ราย แต่ส่วนใหญ่ยังไม่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างชัดเจนจึงมองเห็นโอกาส

โดยพัฒนา MIOC หรือศูนย์สั่งการควบคุมการทำงานของอุปกรณ์และโซลูชั่นต่าง ๆ พบว่าลดเวลาการจัดการปัญหาต่าง ๆ ได้ถึง 46% และถือเป็นการต่อยอดธุรกิจ เพื่อสร้าง S-curve ใหม่ของสกายไอซีที บริษัทแม่

โดยสกายไอซีที เป็นผู้ให้บริการโซลูชั่นด้านไอที ที่มีจุดแข็งด้านการพัฒนาระบบ IOT เชื่อมต่อการทำงานของอุปกรณ์ กว่า 1 แสนชิ้น จากพาร์ตเนอร์กว่า 100 แบรนด์

พร้อมยกระดับการให้บริการด้วยการพัฒนาศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะเมทเธียร์ (Metthier Intelligent Operation Center หรือ MIOC) ให้สร้างแบบจำลองอาคาร 3 มิติ และระบุพิกัด (digital mapping) ที่แสดงผลภาพรวมแต่ละชั้นของอาคารระบุตำแหน่งเหตุการณ์ได้แบบเรียลไทม์ ช่วยให้วิเคราะห์และแก้ไขปัญหาได้รวดเร็ว รวมถึงคาดการณ์สถานการณ์เพื่อเตรียมรับมือล่วงหน้าได้

“เวลาเกิดอะไรขึ้นในอาคาร จะเจอปัญหาว่าไม่สามารถติดต่อผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบได้ หรือไม่รู้ว่าต้องติดต่อใคร ทำให้เสียเวลาในการจัดการ แต่เมื่อใช้เทคโนโลยีระบบจะส่งการแจ้งเตือนไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องทันที ช่วยแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น”

ก่อนหน้านี้ บมจ.สกาย ไอซีที อนุมัติให้บริษัท เมทเธียร์ บริษัทย่อยเข้าลงทุนซื้อหุ้นบริษัท รักษาความปลอดภัยและบริหารธุรการ สยาม จํากัด (SAMCO) โดยชำระราคาซื้อขายหุ้นด้วยเงินสดทั้งสิ้น 500 ล้านบาท

“หลังดีลซื้อกิจการ SAMCO เสร็จเมื่อเดือนที่แล้ว เราก็เดินหน้าพัฒนาโซลูชั่น และการให้บริการรูปแบบต่าง ๆ ซึ่ง SAMCO เป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ในการจัดการด้านความปลอดภัยและเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้งานอาคารสำนักงานมาเกือบ 30 ปี ปัจจุบันมีบุคลากรกว่า 6,000 คน ซึ่งเราตั้งเป้าว่าในต้นปีหน้าจะเพิ่มบุคลากรมากกว่า 10,000 คน”

ลุย Facility Management

“ขยล” อธิบายต่อว่า บริษัทได้ผสานจุดแข็งจากความเชี่ยวชาญด้านบุคลากรของ SAMCO กับความเชี่ยวชาญเทคโนโลยี และทีมวิศวกรของสกาย ไอซีทีพัฒนาบริการ smart facility management ใน 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.ระบบบริหารจัดการผู้มาติดต่อที่มีใช้เทคโนโลยีการจดจำใบหน้าเชื่อมต่อเข้ากับระบบควบคุมการเข้าออกแบบอัตโนมัติ ที่ผสานความแม่นยำของการพิสูจน์ตัวตนด้วยใบหน้าจากการประมวลผลด้วย AI และเก็บข้อมูลในคลาวด์ กับระบบจอดรถอัจฉริยะ มีระบบการจดจำเลขทะเบียนรถที่ใช้ความแม่นยำของ AI ระบุ และแปลอักขระทะเบียนรถได้เรียลไทม์ เป็นต้น

2.ระบบการให้บริการด้านความปลอดภัยด้วยเทคโนโลยี และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ได้รับการอบรมอย่างเข้มข้น มีระบบบริหารจัดการเหตุการณ์ฉุกเฉินอัจฉริยะ ทำงานเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ smart IOT โดยใช้ AI วิเคราะห์ รวมถึงการบริหารจัดการทรัพย์สินมูลค่าสูง (high value asset management) สำหรับขนส่งทรัพย์สินที่มีค่าของบุคคล องค์กร และสถาบันการเงิน เป็นต้น

และ 3.การบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ (facility management service) ที่มีตั้งแต่พนักงานรักษาความสะอาด ให้บริการทีมแม่บ้านที่มีความเชี่ยวชาญ ให้บริการทำความสะอาด มีพนักงานทำความสะอาดเฉพาะทาง เช่น ทำความสะอาดกระจกอาคารสูงภายในและนอกอาคาร รวมถึงงานอาคารสถานที่ เพื่อบริหารจัดการและดูแลรักษาอาคารอย่างมีประสิทธิภาพ

“เรายังพัฒนาระบบบริหารจัดการกำลังพล หรือ workforce management system โดยทำงานร่วมกับแอปพลิเคชั่น MettLink ที่เริ่มทดสอบระบบกับทีมงานกว่า 200 คนของสกาย ไอซีทีแล้ว เพื่อพัฒนามาตรฐานที่จะนำไปให้บริการกับลูกค้าทุกรายได้ โดยปรับแต่งในแง่การแสดงผลได้ตามความต้องการของลูกค้าแต่ละองค์กรได้ด้วย”

นอกจากแอปพลิเคชั่น MettLink จะบันทึกเวลาเข้า-ออกงานด้วยการสแกนใบหน้า ทำให้การตรวจสอบข้อมูลลงเวลาทำงานได้แบบเรียลไทม์ และเชื่อมต่อระหว่างศูนย์ปฏิบัติการและเจ้าหน้าที่ได้ รวมทั้งระบุจุดที่ตั้งของเจ้าหน้าที่และจุดเกิดเหตุ เพื่อให้สามารถแก้ไขเหตุการณ์ได้ทันท่วงที ยังมีหุ่นยนต์อัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วย AI ทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง ดูแลทุกพื้นที่ทั้งการทำงานภายในและภายนอกอาคาร ที่ติดตามการทำงานผ่านแดชบอร์ดได้แบบเรียลไทม์ด้วย

“โมเดลการให้บริการจะเป็นแบบ as a service หรือจ่ายรายเดือน ภายใต้สัญญา 1-3 ปี ลูกค้าไม่จำเป็นต้องใช้บริการทั้ง 3 รูปแบบ สามารถเลือกใช้บริการเท่าที่ต้องการ อาจเริ่มจากบริการด้านความปลอดภัย และขยับมาที่การจัดการผู้มาติดต่อได้ ถ้ามีอุปกรณ์ที่ใช้ในอาคารสำนักงานอยู่แล้วก็เชื่อม API หรือนำ SCK ของอุปกรณ์มาให้เราเชื่อมต่อระบบก็ได้”

โฟกัส 5 กลุ่มอุตสาหกรรม

สำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ประกอบด้วย 1.โรงงานอุตสาหกรรม 2.โครงการมิกซ์ยูส (mixed-use) 3.โรงพยาบาล 4.สถาบันการเงิน 5.สถานศึกษา

“เรากำลังโฟกัสที่กลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ หรืออาคารที่มีปริมาณการเข้า-ออก มากกว่า 200 คน เพื่อนำบริการของเราไปใช้ในการจัดเก็บข้อมูลอย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่ไม่ว่าองค์กรจะมีขนาดเท่าไรก็ใช้บริการของเราได้ เช่น แพลน บีมีเดีย ที่นำโซลูชั่นของเราไปใช้ในองค์กร ล่าสุดเพิ่งปิดดีลกับราช กรุ๊ป บริษัทด้านพลังงานและสาธารณูปโภค”

 

ขณะที่ SAMCO มีฐานลูกค้าเดิมอยู่ประมาณ 300 ราย เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์, เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) และตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นต้น ซึ่งมีทั้งที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการต่อสัญญา และการเดินหน้าหาลูกค้าใหม่ ๆ ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าการหาลูกค้าไม่ใช่อุปสรรค เพราะโซลูชั่นที่มี เป็นสิ่งที่ลูกค้าบางรายต้องการอยู่แล้ว

“ต้องยอมรับว่าเรื่องพวกนี้ ลูกค้าเป็นคนที่เห็นเทคโนโลยีต่าง ๆ หรือเตรียมตัวใช้มาก่อนเราอีก แต่ติดปัญหาเรื่องงบประมาณ หรือการดีลกับซัพพลายเออร์โดยตรงบางรายต้องการหุ่นยนต์ทำความสะอาด แต่ต้องจ่ายทีเดียวตัวละเป็นล้านก็ไม่ไหว ซึ่งพอเขามาเป็นลูกค้าเราก็สามารถจ่ายเป็นรายเดือนได้ เราเองก็ดีด้วยที่สามารถรับรู้รายได้อย่างสม่ำเสมอ”

เป้าหมายที่มากกว่ารายได้

สำหรับเป้าหมายของบริษัทในปี 2567 “ขยล” ระบุว่า ในแง่จำนวนลูกค้าตั้งเป้าเพิ่มขึ้น 25% และคาดว่ามีโอกาสที่ขยับฐานลูกค้าไปถึง 400 ราย ขณะที่เป้ารายได้น่าจะไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท

“นอกจากเป้าหมายด้านการเติบโตของฐานลูกค้าและรายได้แล้ว เรายังคงลงทุนอุปกรณ์ IOT ต่อเนื่อง เพื่อให้พัฒนาโซลูชั่นได้ครอบคลุมทุกความต้องการ จากกล้องวงจรปิด และระบบเตือนภัยต่าง ๆ ก็เริ่มพัฒนาระบบบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรภายในอาคาร ช่วยวิเคราะห์ และวางแผนการใช้พลังงานไฟฟ้า น้ำ และอากาศให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ที่ผ่านมาเราลงทุนกับ IOT ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท โซลูชั่นของเราช่วยให้ลูกค้าลดค่าใช้จ่ายด้าน facility management ได้อย่างน้อย 25% หรือจ่ายเงินเท่าเดิม แต่ได้ทั้งทีมงาน และเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ แม้ในช่วงแรกลูกค้าจะต้องลงทุนเพิ่มเพื่อติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ แต่จะส่งผลดีในระยะยาว และเชื่อว่าลูกค้าจะเข้าใจถึงความคุ้มค่าที่เกิดขึ้น”

ซีอีโอเมทเธียร์ทิ้งท้ายว่า อีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญของบริษัท คือ เข้ามาพลิกโฉมวงการ facility management ในประเทศไทย และเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้อาคารสำนักงานในงบประมาณเท่าเดิม