บ้านร้างญี่ปุ่นเพิ่มเกือบ 4 แสนหลัง ใน 5 ปี ปัญหาจะหนักขึ้นเมื่อ “บูมเมอร์” แก่-เสียชีวิต

บ้านเก่า บ้านร้าง ญี่ปุ่น

จำนวนบ้านร้างในประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเกือบ 400,000 หลัง ภายในเวลา 5 ปี เนื่องจากจำนวนประชากรที่ลดลงในพื้นที่ชนบท คาดปัญหาจะรุนแรงขึ้นอีกเมื่อคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์มีอายุมากขึ้นและเสียชีวิตไป

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2024 กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสาร (Ministry of Internal Affairs and Communications) ของประเทศญี่ปุ่นเผยแพร่ข้อมูลจากการสำรวจ อัพเดต ณ เดือนตุลาคม 2023 ว่า จำนวน “บ้านว่าง” (Vacant Home) ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงบ้านเช่า บ้านพักตากอากาศ และบ้านเพื่อให้บริการตามวัตถุประสงค์เฉพาะ มีจำนวน 8.99 ล้านหลัง เพิ่มขึ้น 500,000 หลังจากการสำรวจครั้งก่อนหน้านี้เมื่อปี 2018 และคิดเป็นสัดส่วน 13.8% ของบ้านทั้งหมดที่มีอยู่ในญี่ปุ่นในปัจจุบัน 

จำนวนบ้านว่างเพิ่มขึ้นในพื้นที่ชนบทที่มีจำนวนประชากรลดลงเป็นส่วนใหญ่ จังหวัดวาคายามะและจังหวัดโทคุชิมะมีสัดส่วนบ้านว่างสูงสุดใน 47 จังหวัดของญี่ปุ่น โดยสัดส่วนบ้านว่างของสองจังหวัดนี้เท่ากันที่ 21.2% ของบ้านทั้งหมด รองลงไปคือจังหวัดยามานาชิที่มีสัดส่วนบ้านว่าง 20.5% 

และถ้านับรวมอพาร์ตเมนต์และคอนโดมิเนียมที่ว่าง ตัวเลขก็ยิ่งสูงขึ้นอีก โดยจากการสำรวจล่าสุดพบว่ามีอพาร์ตเมนต์และคอนโดมิเนียมว่างมากกว่า 5.02 ล้านยูนิต หรือคิดเป็นสัดส่วน 16.7% ของทั้งหมด เพิ่มขึ้น 846,800 ยูนิต จากปี 2018 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 60% จาก 20 ปีก่อน

แต่ปัญหาที่ใหญ่และท้าทายยิ่งกว่าคือจำนวน “บ้านร้าง” (Abandonded Home) ซึ่งหมายถึงที่อยู่อาศัยที่ว่างระยะยาว ไม่นับรวมบ้านเช่า บ้านพักตากอากาศ และอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ ที่ให้บริการตามวัตถุประสงค์เฉพาะ ที่มีอยู่ 3.85 ล้านหลังทั่วประเทศ เป็นจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเพิ่มขึ้น 370,000 หลังจากการสำรวจครั้งก่อนหน้านี้เมื่อปี 2018 จำนวนล่าสุดนี้คิดเป็นสัดส่วน 5.9% ของบ้านทั้งหมดในประเทศญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นจากปี 2018 ที่มีสัดส่วน 5.6%  

ADVERTISMENT

บ้านที่ถูกทิ้งไว้ไม่มีผู้อยู่อาศัยมีความเสี่ยงต่อความเสียหายมากกว่าบ้านทั่วไป ทั้งเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค เสี่ยงต่อการพังทลาย และปัญหาอื่น ๆ 

ยูนิตในอพาร์ตเมนต์และคอนโดมิเนียมที่ว่างเปล่าไร้ผู้อยู่อาศัยยิ่งอันตราย เพราะอาจทำให้เกิดปัญหากับภาพรวมทั้งหมดของอาคารนั้น ๆ เช่น เป็นอุปสรรคต่อการตัดสินใจในการซ่อมแซมครั้งใหญ่ และเจ้าของห้องมักจะไม่จ่ายค่าบำรุงรักษาและค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ซึ่งหมายความว่าโครงการนั้นจะมีเงินค่าบำรุงรักษาโครงการน้อยลง

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ ในประเทศญี่ปุ่นมีคอนโดมิเนียมประมาณ 1.25 ล้านยูนิตที่สร้างมาเป็นเวลานานกว่า 40 ปี และตัวเลขดังกล่าวคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.5 เท่าใน 20 ปี ส่งผลให้มีความกังวลมากขึ้นถึงเร่งด่วนเรื่องการปรับปรุงและซ่อมแซม 

รัฐบาลท้องถิ่นหลายแห่งในญี่ปุ่นกำลังประเมินสถานการณ์ปัญหาและหาทางแก้ไข อย่างเมื่อปี 2022 เมืองนาโกยาได้เริ่มกำหนดให้ฝ่ายบริหารคอนโดฯอัพเดตแก่เจ้าหน้าที่เกี่ยวกับสถานะของห้องในคอนโดฯ และในปี 2018 เมืองโยโกฮามาเริ่มส่งสถาปนิกและผู้เชี่ยวชาญด้านที่เกี่ยวข้องไปยังอาคารคอนโดฯที่ไม่ได้รับการจัดการ เพื่อช่วยจัดตั้งสมาคมการจัดการและปรับปรุงสัญญาที่จำเป็น 

เมื่อปี 2015 ญี่ปุ่นออกกฎหมายอนุญาตให้หน่วยงานท้องถิ่นออกคำเตือนเกี่ยวกับบ้านว่างที่เสี่ยงต่อการพังทลาย และให้รื้อถอนหากไม่มีการปรับปรุง ซึ่งข้อมูลจาก “กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยว ของญี่ปุ่น” ระบุว่า จนถึงขณะนี้ มีบ้านราว 40,000 หลังตกเป็นเป้าตามคำสั่งนี้ แต่กฎหมายนี้มุ่งไปที่บ้านหรืออาคารที่อยู่อาศัยที่ว่างเปล่าทั้งหมด การจะนำกฎหมายนี้ไปบังคับใช้กับยูนิตว่างแค่บางยูนิตในอาคารขนาดใหญ่นั้นเป็นเรื่องยาก 

เพื่อที่จะรับมือกับสถานการณ์ได้ดีขึ้น รัฐบาลญี่ปุ่นได้แก้ไขกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการคอนโดมิเนียมในปี 2022 เพื่อให้หน่วยงานท้องถิ่นสามารถออกคำแนะนำและคำเตือนแก่เจ้าของยูนิตที่ได้รับการจัดการที่ไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ก็มีเพียงไม่กี่กรณีเท่านั้นที่ได้รับการจัดการภายใต้กฎหมายนี้

กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของประเทศญี่ปุ่นมองว่า ประชากรสูงวัยเป็นปัจจัยหลักที่อยู่เบื้องหลังการเพิ่มขึ้นของบ้านที่ถูกทิ้งร้าง บ้านหลายหลังถูกทิ้งให้ว่างเปล่าหลังจากที่ผู้สูงอายุซึ่งอาศัยอยู่ตามลำพังเสียชีวิตหรือย้ายเข้าบ้านพักคนชรา และแนวโน้มสังคมญี่ปุ่นที่เป็น “ครอบครัวนิวเคลียร์” ซึ่งลูก ๆ ของแต่ละครอบครัวอาศัยอยู่แยกกันก็มีส่วนทำให้เกิดปัญหาเช่นกัน

แม้ว่ามีลูกหลานหรือญาติที่ได้รับบ้านเป็นมรดก (ซึ่งโดยทั่วไปจะมีคุณค่าทางใจ) ก็ตาม แต่บ้านจำนวนมากก็ถูกปล่อยทิ้งไว้โดยไม่มีใครดูแล เนื่องจากมีต้นทุนสูงในการปรับปรุงซ่อมแซมและการรื้อถอน และความสามารถทางการตลาดก็ต่ำ เพราะคนญี่ปุ่นไม่นิยมซื้อบ้านเก่า อีกทั้งความท้าทายอื่น ๆ 

และคาดว่าจำนวนบ้านเก่าหรือ “อากิยะ” ที่ถูกปล่อยให้ว่าง-ร้างจะเพิ่มขึ้นอีก เมื่อคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ (ปัจจุบันอายุ 60-78) มีอายุมากขึ้น 

อ้างอิง : 

อ่านเนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง