ต่างชาติซื้อบ้านเก่าในญี่ปุ่นมากขึ้น อาจช่วยลดปัญหา “บ้านร้าง” กว่า 10 ล้านหลังทั่วประเทศ

บ้านร้าง บ่านเก่า ในญี่ปุ่น
บ้านในชนทบทญี่ปุ่น/ Prachachat

ในญี่ปุ่นมีบ้านร้างอยู่ราวสิบล้านหลัง ล่าสุดสื่อญี่ปุ่นรายงานว่า ชาวต่างชาติสนใจซื้อบ้านเก่าและบ้านร้างในญี่ปุ่นมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะบ้านสไตล์ญี่ปุ่นดั้งเดิม นักวิชาการมองว่า หากภาพลักษณ์ของบ้านร้างถูกสื่อสารผ่านชาวต่างชาติออกไปในทางที่ดี อาจจะทำให้มันถูกมองเป็นสินทรัพย์อันมีค่า และลดปัญหาการปล่อยบ้านร้างในอนาคต

ก่อนหน้านี้มีข่าวที่สร้างความฮืาฮากันมาหลายครั้ง ว่าในประเทศญี่ปุ่นมีการปล่อยให้บ้านร้างจำนวนหลายล้านหลัง เพราะการมีบ้านเก่าสำหรับหลายคนไม่ได้หมายถึงการมีทรัพย์สิน แต่กลายเป็นภาระที่จะต้องดูแล ซ่อมบำรุง และจ่ายภาษี 

อิงตามข้อมูลจากการสำรวจของกระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสาร ประเทศญี่ปุ่น จำนวนบ้านร้างในญี่ปุ่นกำลังเพิ่มขึ้น เนื่องจากจำนวนประชากรที่ลดลงและการเป็นสังคมผู้สูงอายุ โดยมีบ้านว่างประมาณ 8.49 ล้านหลังทั่วประเทศญี่ปุ่นในปี 2561 เพิ่มขึ้นประมาณ 1.5 เท่าจากปี 2541 และคิดเป็น 13.6% ของจำนวนบ้านทั้งหมดในประเทศ 

ขณะที่ข้อมูลจากสถาบันวิจัยโนมูระ (Nomura Research Institute) บอกว่าในญี่ปุ่นมีบ้านร้างกว่า 11 ล้านหลัง และคาดการณ์ว่าภายในปี 2581 จำนวนบ้านที่ไม่มีผู้อยู่อาศัยในญี่ปุ่นจะสูงถึง 23.03 ล้านหลัง หรือคิดเป็น 31.5% ของบ้านทั้งหมด เว้นแต่จะมีการรื้อถอนเป็นจำนวนมาก 

บ้านร้าง บ้านเก่า ในญี่ปุ่น
บ้านเก่า-บ้านไม่มีผู้อยู่อาศัยในญี่ปุ่น / Prachachat


ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 สำนักข่าว Nikkei Asia ในญี่ปุ่นรายงานว่า บ้านเก่าในญี่ปุ่นกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นจากชาวต่างชาติ ตอนนี้มีชาวต่างชาติสนใจเข้าไปซื้อบ้านเก่าหรือบ้านร้างในญี่ปุ่นมากขึ้น
โดยเฉพาะบ้านสไตล์ญี่ปุ่นดั้งเดิมในชนบทที่มีขนาดไม่ใหญ่ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความสนใจในวัฒนธรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่น และการที่เงินเยนอ่อนค่า 

การซื้อบ้านเก่าที่ไม่มีผู้อยู่อาศัยของชาวต่างชาติในญี่ปุ่นกำลังเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากที่นิ่งไปในช่วงการระบาดของโควิด-19

ในปี 2563 พาร์กเกอร์ เจ. อัลเลน (Parker J. Allen) และแมตต์ เคตชัม (Matt Ketchum) ชาวอเมริกันได้ก่อตั้งบริษัท Akiya & Inaka (แปลว่า บ้านและชนบท) ขึ้นในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้บริการหาผู้ซื้อบ้านเก่าในชนบท ซึ่งพวกเขาได้รับการสอบถามจากผู้สนใจประมาณ 40 รายการในปี 2565 เพิ่มขึ้นประมาณ 5 เท่าจากปี 2563 โดยผู้สนใจส่วนใหญ่เป็นเจ้าของบริษัทอายุอยู่ในช่วงประมาณ 40-59 ปี 

บ้านที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือบ้านราคาประมาณ 20 ล้านเยน และตั้งอยู่ในจังหวัดคานางาวะ จังหวัดชิซูโอกะ และจังหวัดชิบะ ซึ่งทุกพื้นที่เหล่านี้เดินทางเข้าถึงโตเกียวได้ง่าย ขณะที่ผู้ที่จะซื้อบ้านบางรายได้เพิ่มงบประมาณเป็น 40 ล้านเยน เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินเยน

พาร์กเกอร์ เจ. อัลเลน ให้ข้อมูลว่า ผู้ซื้อจำนวนมากใช้บ้านเหล่านี้เป็นบ้านพักตากอากาศ และวางแผนที่จะย้ายเข้าไปอยู่หลังเกษียณ

บ้านเก่า บ้านร้างในญี่ปุ่น
บ้านที่ดูเหมือนไม่มีคนอยู่อาศัยในชนบทญี่ปุ่น / Prachachat


การที่ผู้คนปล่อยบ้านทิ้งร้างเป็นปัญหาสำหรับรัฐบาลท้องถิ่นในญี่ปุ่น ซึ่งแม้ว่ามีชาวต่างชาติซื้อบ้านเพิ่มขึ้นก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เนื่องจากจำนวนบ้านว่างที่มากเกินไป สร้างแรงกดดันต่อความพยายามในการฟื้นฟูในท้องถิ่น

เพื่อที่จะเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม หรือสังคมที่คนจากหลากหลายวัฒนธรรมอยู่ร่วมกันได้นั้น จำเป็นที่จะต้องทำให้ย่านที่อยู่อาศัยมีความเป็นมิตรต่อผู้อยู่อาศัยชาวต่างชาติที่ตระหนักถึงความแตกต่างในประเพณี ชีวิตประจำวัน และค่านิยม สิ่งยึดเหนี่ยว หรือจุดมุ่งหมายในชีวิตของพวกเขา

ยาสุฮิโกะ นากาโจ (Yasuhiko Nakajo) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเมไค (Meikai University) ผู้ที่มีความคุ้นเคยกับปัญหาบ้านร้างกล่าวว่า รัฐบาลท้องถิ่นต้องทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างคนท้องถิ่นกับชาวต่างชาติ ต้องทำงานเชิงรุกเพื่อสร้างโอกาสที่ชาวต่างชาติและคนในท้องถิ่นจะมีปฏิสัมพันธ์กันและทำความเข้าใจซึ่งกันและกันอย่างลึกซึ้ง 

“ภาพลักษณ์ที่ดีของบ้านร้าง หากถูกสื่อสารแพร่กระจายผ่านชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่อาศัยร่วมในชุมชนท้องถิ่น อาจทำให้ภาพลักษณ์ที่น่าสงสารของบ้านร้างซึ่งชาวญี่ปุ่นถือครองอยู่ลดลง และทำให้มันถูกพิจารณาใหม่ว่าเป็นทรัพย์สินอันมีค่า” ศาสตราจารย์ยาสุฮิโกะ นากาโจ กล่าว 

ลี เซียนจี้ (Lee Xian Jie) ชาวสิงคโปร์วัย 33 ปี ซึ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในกรุงโตเกียวและทำงานให้กับบริษัทเทคโนโลยีสารสนเทศในประเทศญี่ปุ่น เป็นหนึ่งตัวอย่างชาวต่างชาติที่สนใจวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาก เป็นเหตุผลที่เขาตัดสินใจซื้อบ้านเก่าในชนบทญี่ปุ่นที่หมู่บ้านริวจิน ในจังหวัดวะกะยะมะ ทางตอนกลางของประเทศญี่ปุ่น หลังจากที่เขาเคยไปที่หมู่บ้านนี้หลายครั้งแล้วรู้สึกประทับใจ  

หมู่บ้านริวจินมีประชากรประมาณ 2,700 คน ซึ่งลีเข้ากับคนในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี เจ้าหน้าที่ของเมืองทานาเบะซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านริวจินได้ให้เงินอุดหนุนการย้ายถิ่นฐานของลี และคาดหวังว่า “เขาจะเป็นผู้นำในการฟื้นฟูพื้นที่นี่”