เมื่อชาวญี่ปุ่น “ไม่เชื่อในศาสนา” เพิ่มขึ้น สะเทือนบางพรรคการเมือง หาฐานเสียงยาก

คนญี่ปุ่นไม่เชื่อในศาสนามากขึ้น
หมายเหตุ​ : ภาพประกอบไม่ใช่องค์กรที่ระบุเนื้อหา/ AFP/ Behrouz MEHRI

ผลสำรวจพบชาวญี่ปุ่น “ไม่เชื่อในศาสนา” เพิ่มขึ้น สะเทือนพรรคการเมืองบางพรรคที่มีความเชื่อมโยงกับลัทธิขบวนการทางศาสนาต่าง ๆ จะหาผู้สนับสนุนยากขึ้น  

ที่ผ่านมา คนญี่ปุ่นไม่นับถือศาสนากันเป็นสัดส่วนที่มากอยู่แล้ว และนับวันสัดส่วนคนที่ไม่สนใจ ไม่ศรัทธาในศาสนายิ่งมีมากขึ้น 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักข่าว South China Morning Post รายงานว่า การสำรวจความคิดเห็นประชาชนที่จัดทำโดยวัดพุทธที่สำคัญในโตเกียวเผยให้เห็นถึง “ความไม่เชื่อในศาสนา” ที่เพิ่มขึ้นในญี่ปุ่น นักวิเคราะห์เทรนด์ชี้ว่า เป็นผลมาจากลัทธิทางศาสนาในอดีตที่ใช้ความรุนแรงเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมาย และเรื่องอื้อฉาวล่าสุดเกี่ยวกับการแทรกซึมของการเมืองผ่าน Unification Church (ลัทธิมูน หรือโบสถ์แห่งความสามัคคี)

ผู้ตอบแบบสำรวจกล่าวว่า ผลกระทบจากการสูญเสียศรัทธานี้จะทำให้พรรคโคเมอิโตะ (Komeito) ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลของพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย (LDP) อ่อนแอลงอย่างเลี่ยงไม่ได้ 

พรรคโคเมอิโตะเป็นพรรคการเมืองที่ก่อตั้งใน พ.ศ. 2507 (ค.ศ. 1964) โดยสมาคมสร้างคุณค่า (Soka Gakkai) ซึ่งเป็นขบวนการทางศาสนาใหม่ของเครือข่ายผู้นับถือพุทธมหายาน และพรรคนี้ถูกจัดว่าเป็นปีกการเมืองของขบวนการศาสนาใหม่ (new religious movement) 

การสำรวจความเชื่อถือในศาสนาซึ่งดำเนินการสำรวจโดยวัดสึกิจิ ฮงกังจิ (Tsukiji Honganji temple) พบว่า 39.7 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด 1,600 คนกล่าวว่า ความเชื่อถือในศาสนาของพวกเขาลดลงในช่วงสองปีที่ผ่านมา

Advertisment

ผลการสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจที่มีความเชื่อมั่นในศาสนาน้อยลงมากที่สุดคือผู้หญิงอายุระหว่าง 18-49 ปี ซึ่ง 50% ของผู้ตอบแบบสำรวจกลุ่มนี้ตอบว่ามีความเชื่อมั่นในศาสนาน้อยลงกว่าในอดีต 

เกือบ 35% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดบอกว่า โดยทั่วไปแล้วพวกเขารู้สึก “ไม่สบายใจ” กับศาสนา แม้ว่าสัดส่วนของผู้ที่ตอบว่า “ไม่สบายใจ” จะลดลงเหลือประมาณ 10% เมื่อถามเจาะจงลงไปที่ศาสนาพุทธโดยเฉพาะ 

Advertisment

ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปีระบุว่า พวกเขา “ไม่มีเหตุผล” ที่จะไปวัดพุทธ ซึ่งเป็นสถิติที่ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า จะเป็นที่กังวลสำหรับศาสนาในอนาคตข้างหน้าอย่างแน่นอน 

“ในอดีตมีเหตุการณ์และปัญหาสังคมมากมายที่มีสาเหตุมาจากสิ่งที่เรียกว่า ‘ขบวนการศาสนาใหม่’ และผลกระทบของปัญหาเหล่านั้นยังสามารถสัมผัสได้จนถึงทุกวันนี้” โทชิมิตซุ ชิเกมูระ (Toshimitsu Shigemura) ศาสตราจารย์ด้านการเมือง มหาวิทยาลัยวาเซดะกล่าว 

“สำหรับคนธรรมดาส่วนใหญ่ ศาสนาเหล่านี้และจุดมุ่งหมายของพวกเขาน่าสงสัยมาก” 

หนึ่งในขบวนการศาสนาใหม่ที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ โอมชินริเกียว (Aum Shinrikyo) ซึ่งเป็นผู้โจมตีประชาชนในระบบรถไฟใต้ดินของโตเกียวด้วยก๊าซพิษซาริน เพื่อโค่นล้มรัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อปี 2538

สาวกของลิทธิโอมชินริเกียวหลายคนถูกตัดสินว่ามีความผิดในคดีอาชญากรรม รวมถึงการฆาตกรรม และมี 13 คนถูกประหารชีวิต (รวมถึงผู้นำลัทธิ) ส่วนผู้นับถือลัทธินี้หลายพันคนได้เข้าร่วมกลุ่มย่อยที่แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม หลังจากที่ลัทธิโอมชินริเกียวสลายไป 

แม้ว่าลัทธิโอมอาจเป็นขบวนการศาสนาใหม่ที่น่าอับอายที่สุดในญี่ปุ่น แต่ก็มีลัทธิอื่น ๆ อีกหลายร้อยกลุ่มที่กำเนิดขึ้น นับตั้งแต่ประเทศญี่ปุ่นประสบกับความวุ่นวายทางสังคม และการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วในทศวรรษ 1860 (พ.ศ. 2503-2512) 

ความกังวลเกี่ยวกับกิจกรรมของลัทธิหรือกลุ่มทางศาสนาใหม่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อปีที่แล้ว เมื่อชายคนหนึ่งก่อเหตุใช้ปืนประดิษฐ์ยิงสังหารอดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ (Shinzo Abe) ขณะปราศรัยในเมืองนารา

คนญี่ปุ่นไม่เชื่อในศาสนามากขึ้น
รถเคลื่อนศพชินโซ อาเบะ/AFP/TOSHIFUMI KITAMURA

เทตสึยะ ยามางามิ (Tetsuya Yamagami) ผู้ก่อเหตุบอกกับเจ้าหน้าที่สืบสวนว่า เขาทำร้ายอาเบะเพราะอาเบะและพรรคการเมืองของเขามีความเชื่อมโยงกับ Unification Church (ลัทธิมูน หรือโบสถ์แห่งความสามัคคี) ซึ่งเทตสึยะกล่าวโทษว่าลัทธิมูนชักจูงให้แม่ของเขาบริจาคเงินไปมากมายจนทำให้ครอบครัวล้มละลาย 

ภายหลังมีการเปิดเผยว่า มีนักการเมืองหลายสิบคนที่มีความเชื่อมโยงกับลัทธินี้ รวมถึงคณะรัฐมนตรีไม่น้อยกว่า 10 คนจากทั้งหมด 20 คน และมีข้อเสนอแนะบางอย่างที่ลัทธินี้ได้ล็อบบี้ให้พวกเขานำไปปรับใช้ออกเป็นนโยบายของรัฐบาล 

“ความคลางแคลงใจต่อศาสนาของสาธารณชนดูเหมือนจะรุนแรงขึ้น เป็นผลโดยตรงจากการสังหารอาเบะ และการรายงานข่าวของสื่อเกี่ยวกับโบสถ์แห่งความสามัคคี” ซายูริ โอกาวะ (Sayuri Ogawa) วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา

โอกาวะยังเน้นย้ำถึงรายงานเกี่ยวกับการเรี่ยไรเงินบริจาคและการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยลัทธิพยานพระยะโฮวา (Jehovah’s Witnesses group) ด้วย 

“ในอดีตศาสนาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการรวมกันเป็นชุมชนของมนุษย์ แต่ตอนนี้เราสามารถเชื่อมต่อกับผู้คนมากมายผ่านอินเทอร์เน็ต อีกทั้งเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ศาสนาเคยมีอยู่เพื่อช่วยเหลือคนธรรมดา แต่ตอนนี้ไม่ใช่อย่างนั้นอีกแล้ว ฉันคิดว่าอาจกล่าวได้ว่าผู้คนไม่ต้องการศาสนาอีกต่อไปแล้ว”

ชิเกมูระ ศาสตราจารย์ด้านการเมือง มหาวิทยาลัยวาเซดะกล่าวว่า ในอดีตกลุ่มทางศาสนาอาจช่วยเหลือคนยากจน แต่ความช่วยเหลือนั้นไม่จำเป็นอีกต่อไปในประเทศที่ค่อนข้างร่ำรวยอย่างญี่ปุ่น 

“มันมาถึงจุดที่หลายคนไม่เชื่อในเหตุผลที่ศาสนามีความจำเป็นอย่างในอดีตอีกต่อไปแล้ว และนั่นก็กลายเป็นการขาดความเชื่อถือในจุดมุ่งหมายของศาสนา” เขากล่าว

ศาสตราจารย์ชิเกมูระวิเคราะห์อีกว่า หากผู้คนหันหลังให้ศาสนา พรรคโคเมอิโตะอาจลำบากในการหาผู้สนับสนุนเพิ่มในประเทศที่จำนวนประชากรลดลง 

“จำนวนสมาชิกของพรรค (โคเมอิโตะ) กำลังลดลง ดังนั้น โดยทั่วไปแล้ว อิทธิพลที่ (โคเมอิโตะ) มีต่อพรรค LDP และรัฐบาลจึงอ่อนแอลง” 

“ในที่สุดพรรค LDP จะไปถึงจุดที่ไม่ต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากพรรคโคเมอิโตะอีกต่อไป และจะต้องหาพันธมิตรทางการเมืองรายอื่น” ศาสตราจารย์ชิเกมูระ จากมหาวิทยาลัยวาเซดะกล่าว