บริษัทญี่ปุ่นจ้างพนักงาน mid-career สูงเป็นประวัติการณ์ เมื่อ “ระบบจ้างงานตลอดชีพ” ใช้ไม่ได้กับคนรุ่นใหม่

ญี่ปุ่น จ้างงาน mid-career
AFP/ Richard A. Brooks

“ระบบจ้างงานตลอดชีพ” (จ้างงานคนจบใหม่ให้อยู่ไปจนเกษียณ) ของประเทศญี่ปุ่น เริ่มไม่ขลัง เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ทนทำงานที่เดียวทั้งชีวิต บวกปัญหาประชากรวัยทำงานน้อย-บริษัทหาคนยาก ผลสำรวจล่าสุดพบว่า บริษัทญี่ปุ่นต้องจ้างพนักงานระดับกลาง (mid-career) เป็นสัดส่วน 37.6% ของการจ้างงานในปีนี้ ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงสุดเท่าที่เคยมีมา 

การเปลี่ยนงาน เป็นวิถีปกติของคนทำงานในยุคปัจจุบันที่คนรุ่นใหม่มีทัศนคติและความคาดหวังกับงานต่างจากคนรุ่นก่อนที่มักจะทำงานที่เดียวนาน ๆ สิ่งนี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก แม้แต่ในประเทศที่ญี่ปุ่นซึ่งเคยเป็นประเทศที่คนไม่ค่อยย้ายงาน ก็หนีไม่พ้นกระแสธารของการเปลี่ยนแปลง

หลายสิบปีที่ผ่านมา ในประเทศญี่ปุ่นใช้ระบบการจ้างงานตลอดชีพ (lifetime employment) คือ ระบบการจ้างงานนักศึกษาจบใหม่แล้วรับประกันความมั่นคงและให้ผลตอบแทนอย่างเหมาะสมไปจนวัยเกษียณ แลกกับการที่พนักงานทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับงาน และไม่ย้ายงาน โดยระบบการจ้างงานของญี่ปุ่นจะเปิดจ้างงานปีละครั้งเป็นฤดูกาลเหมือนสถาบันการศึกษารับนักเรียนนักศึกษา 

เมื่อทั้งประเทศใช้ระบบแบบนี้ โอกาสที่คนจะลาออกจากงานไปทำงานที่อื่นก็น้อยไปโดยปริยาย เพราะบริษัทต่าง ๆ เน้นจ้างงานคนที่เรียนจบใหม่ ดังนั้นคนที่ทำงานไปสักระยะหนึ่งแล้วคิดจะย้ายงานก็ย่อมหางานยาก  

แต่ในยุคปัจจุบัน การจ้างงานของบริษัทญี่ปุ่นที่ใช้อย่างแข็งแกร่งมาหลายทศวรรษ ก็ต้องยอมปรับตัวไปตามความเปลี่ยนแปลง เพราะคนหนุ่มสาวในญี่ปุ่นไม่ศิโรราบกับระบบการจ้างงานตลอดชีพเหมือนคนยุคก่อนแล้ว บวกกับปัญหาใหญ่ระดับชาติที่ประชากรวัยทำงานในญี่ปุ่นมีแต่จะลดน้อยถอยลง กดดันให้บริษัทญี่ปุ่นต้องยอมเปลี่ยนเพื่อดึงดูดคนทำงาน 

เมื่อปี 2564 มี การสำรวจของหนังสือพิมพ์ Nikkei ที่สำรวจคนหนุ่มสาวที่เริ่มทำงานแล้วเป็นเวลา 1-3 ปี เกี่ยวกับความจงรักภักดีกับองค์กร ซึ่งหมายถึงว่าพวกเขาคิดจะทำงานในองค์กรนั้น ๆ ไปนานเท่าใด พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจเกินครึ่งกำลังคิดจะเปลี่ยนงาน โดยคนที่ทำงานในสายการเงินการธนาคารคิดจะเปลี่ยนงานมากที่สุด 57.6% รองลงมาคือสายไอที 55% 

สำหรับเหตุผลที่ทำให้อยากเปลี่ยนงาน ซึ่งคำถามนี้ให้ตอบได้หลายเหตุผล คำตอบอันดับแรก ๆ คือ รู้สึกไม่มั่นคงในบริษัทและสายงานในอนาคต 39.4% อยากได้เงินเดือนสูงขึ้น 38.4% งานไม่เหมาะกับความสามารถและนิสัย 31.6% ไม่ได้ฝึกฝนความชำนาญ 28.6% และงานที่ทำไม่เป็นตามที่คาดหวัง 27.1% เป็นต้น

สอดคล้องกับผลสำรวจที่กระทรวงแรงงานของญี่ปุ่นเผยแพร่เมื่อปีที่แล้ว ที่เผยให้เห็นว่า คนงานอายุน้อยมักจะลาออกเพื่อโอกาสที่ดีกว่า โดยการสำรวจพบว่า บัณฑิตจบใหม่กว่า 40% ลาออกจากงานภายใน 3 ปี 

ญี่ปุ่น การจ้างงาน mid-career
AFP/ Kazuhiro NOGI

ล่าสุด Nikkei สำรวจความคิดเห็นในบริษัทขนาดใหญ่ในญี่ปุ่น 2,308 แห่ง เกี่ยวกับการจ้างงาน พบว่า บริษัทญี่ปุ่นจะมีการจ้างงานผู้สมัครระดับกลาง หรือ mid-career (พนักงานที่มีประสบการณ์การทำงานมามากประมาณหนึ่ง) จำนวน 94,430 คน ในปีนี้งบการเงินนี้ (1 เมษายน 2566-31 มีนาคม 2567) คิดเป็นสัดส่วน 37.6% ของตำแหน่งงานว่างที่จะเปิดรับในปีงบการเงินนี้ 

สัดส่วนการจ้างงานคนทำงานระดับ mid-career ที่ 37.6% นี้ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจ้างงานครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่ญี่ปุ่นเคยมีมา นับตั้งแต่เริ่มใช้ระบบการจ้างงานตลอดชีพในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 

ในอดีตไล่มาจนถึงปีงบการเงิน 2560 อัตราส่วนการจ้างงานพนักงานระดับกลาง (mid-career) ในญี่ปุ่นวนเวียนอยู่ที่สัดส่วนประมาณหลักสิบเท่านั้น แต่หลังจากนั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนถึง 30% ในปี 2565 

สัดส่วนการจ้างพนักงานระดับ mid-career เด่นชัดเป็นพิเศษในภาคที่ไม่ใช่ภาคการผลิตที่สัดส่วน 39.9% ส่วนในภาคการผลิตอยู่ที่สัดส่วน 31.7% 

นอกจากความเปลี่ยนแปลงของคนทำงานรุ่นใหม่แล้ว แนวโน้มเหล่านี้ก็เน้นย้ำว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาได้เร่งการดิสรัปต์ธรรมเนียมของบริษัทญี่ปุ่น ตอนนี้องค์กรต่าง ๆ ที่ลดขนาดการดำเนินงาน-ปลดคนออกในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด กำลังดำเนินการจ้างงานอย่างสนุกสนาน เพื่อหาพนักงานให้เพียงพอเมื่ออุปสงค์ฟื้นตัว 

อุตสาหกรรมโรงแรมและการท่องเที่ยววางแผนที่จะจ้างพนักงานระดับ mid-career เพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า ในขณะที่อุตสาหกรรมรถไฟและรถบัสกำลังจ้างเพิ่มขึ้นจากเดิม 94.7% ส่วนร้านค้าเฉพาะทางก็กำลังเพิ่มการจ้างงานระดับ mid-career ถึง 49.8%

Seibu Prince Hotels Worldwide กำลังขยายการจ้างงานระดับ mid-career เป็น 363 ตำแหน่ง เพิ่มขึ้นกว่า 7 เท่าจากปีงบการเงินที่ผ่านมา โดยจะพึ่งพาเครือข่ายพนักงานเก่าบางส่วนในการหาพนักงาน และยังอนุญาตให้คนจำนวนมากที่ออกจากงานไปในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาสามารถกลับเข้าทำงานได้ ซึ่งก่อนหน้านี้โอกาสนี้มีให้เฉพาะกับผู้ที่ออกจากงานไปด้วยเหตุผลพิเศษเท่านั้น เช่น ลาออกเพื่อไปดูแลสมาชิกในครอบครัว

บริษัทแท็กซี่ Daiwa Motor Transportation จะขยายการว่าจ้างพนักงานระดับ mid-career อีก 60% เป็นประมาณ 200 คน เนื่องจากไม่มีผู้ดดยสาร แต่ตอนนี้ Daiwa Motor เสนอเงินรับประกันรายได้ให้กับคนขับที่ไม่มีประสบการณ์ถึง 4 ล้านเยน (29,800 เหรียญสหรัฐ) ต่อปี เพื่อดึงดูดให้คนไปสมัครงาน อีกทั้งยังวางแผนที่จะปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำงานให้เป็นมิตรกับผู้หญิงมากขึ้น เพื่อดึงดูดผู้หญิงเข้ามาทำงาน 

ถึงกระนั้น “การขยายการจ้างงานก็เป็นเรื่องยาก เนื่องจากจำนวนผู้หางานลดลง” ตัวแทนของ Daiwa Motor กล่าว 

บางบริษัทกำลังขยายการจ้างพนักงานระดับ mid-career เพื่อให้มีผู้เชี่ยวชาญเพียงพอสำหรับการทำ digitization อย่าง KDDI ผู้ให้บริการเครือข่ายไร้สายวางแผนที่จะจ้างพนักงานระดับ mid-career จำนวน 400 คน เพิ่มขึ้น 60% จากปีงบการเงินที่ผ่านมา 

บริษัทประกัน Meiji Yasuda Life ก็เป็นอีกเจ้าที่จะจ้างพนักงานระดับ mid-career เพิ่มเท่าตัวเป็น 160 คน เพราะหวังประโยชน์จากประสบการณ์และทักษะด้านดิจิทัลระดับสูงของคนเหล่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะฝึกอบรมคนขึ้นมาเองภายในองค์กรในช่วงเวลาสั้น ๆ

Hitachi วางแผนจ้างพนักงาน mid-career จำนวน 600 คน เพิ่มขึ้น 20% และเป็นครั้งแรกที่จำนวนการจ้างพนักงาน mid-career เท่ากับพนักงานที่จบการศึกษาใหม่

ทั้งนี้ การสำรวจดังกล่าว Nikkei ได้ติดต่อทำการสำรวจบริษัท 5,097 แห่ง และได้รับคำตอบจาก 2,308 บริษัท ณ วันที่ 4 เมษายน 2566 ซึ่งบางบริษัทที่ตอบแบบสอบถามยังไม่ได้สรุปแผนการจ้างงาน 

ในแบบสำรวจมีการถามถึงความยุ่งยากที่พบในกระบวนการจ้างงาน คำตอบที่มาเป็นอันดับแรกคือ จำนวนผู้สมัครมีน้อย โดยมีผู้ตอบคิดเป็น 56.8% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ตามมาด้วย 55.8% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่ตอบว่า ผู้สมัครจำนวนมากปฏิเสธข้อเสนองานตั้งแต่รอบแรก ๆ

ญี่ปุ่นมีประชากรวัยทำงาน (อายุ 15-64 ปี) สูงสุดในปี 2538 (ค.ศ. 1995) และลดลงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ภายในสิ้นทศวรรษนี้ หรืออีก 7 ปีข้างหน้า ญี่ปุ่นจะมีประชากรช่วงวัยนี้เพียง 68.75 ล้านคนเท่านั้น คิดเป็นเพียง 80% (หรือลดลง 20%) ของจำนวนสูงสุดเมื่อปี 2538 


ความท้าทายเรื่องการหาคนทำงานเกิดขึ้นในทุกประเทศที่เป็นสังคมสูงวัย ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่อายุเฉลี่ยของประชากรสูงอันดับ 2 ของโลก จึงจะเป็นประเทศที่จะเผชิญความท้าทายในการหาคนทำงานอย่างหนักหนาสาหัสยิ่งขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังที่มีผลการศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ญี่ปุ่นอาจประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานมากกว่า 11 ล้านคนภายในปี 2583 (ค.ศ. 2040) หรือใน 17 ปีข้างหน้า