ญี่ปุ่นวิกฤตเด็กเกิดต่ำสุดรอบ 40 ปี การต่อสู้ของเศรษฐกิจอันดับ 3 โลก

เด็กญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นประเทศที่เข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยอย่างเต็มที่ (Super-Aged Society) มาตั้งแต่ปี 1970 ตอนนี้กำลังเผชิญวิกฤตอัตราการเกิดที่ต่ำเป็นประวัติการณ์

กระทรวงสาธารณสุขประเทศญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลสถิติ อัตราการเกิดที่ลงทะเบียนในญี่ปุ่น ลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้งในปี 2022 ที่ผ่านมา โดยมีการเกิด 799,728 คน ซึ่งต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ และเป็นครั้งแรกที่ลดต่ำกว่า 800,000 คน

โดยการเกิดลดลงเกือบครึ่งหนึ่งในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา จากที่ญี่ปุ่นมีสถิติการเกิดมากกว่า 1.5 ล้านคน ในปี 1982 ขณะที่ทางการของญี่ปุ่นไม่สามารถแก้ไขได้ แม้จะมีความพยายามอย่างมากก็ตาม

และปีที่แล้วผู้เสียชีวิตหลังสงครามสูงสุดมากกว่า 1.58 ล้านคน ทั้งนี้ญี่ปุ่นอัตราการตายแซงหน้าการเกิดมานานกว่าทศวรรษแล้ว โดยประชากรของญี่ปุ่นลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เศรษฐกิจเฟื่องฟูในช่วงทศวรรษ 1980 และอยู่ที่ 125.5 ล้านคน ในปี 2021

ก่อให้เกิดปัญหามากขึ้นสำหรับประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสามของโลก ทำให้เมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น “ฟูมิโอะ คิชิดะ” ออกมาระบุว่า ญี่ปุ่นกำลัง “ไม่สามารถรักษาหน้าที่ทางสังคมได้” และเพื่อคำนึงถึงความยั่งยืนของเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รัฐบาลกำหนดให้การสนับสนุนการเลี้ยงดูบุตรเป็นนโยบายที่สำคัญที่สุด และต้องการให้รัฐบาลเพิ่มการใช้จ่ายในโครงการที่เกี่ยวข้องกับเด็กเป็นสองเท่า

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า “ญี่ปุ่นไม่สามารถรอได้อีกต่อไปแล้วในการแก้ปัญหาอัตราการเกิดที่ต่ำ ถึงเวลาที่จะพลิกกลับวิกฤตประชากรของญี่ปุ่น”

โดยรัฐบาลญี่ปุ่นจะมีการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นในเดือนเมษายนนี้ เพื่อมุ่งเน้นขับเคลื่อนการแก้วิกฤตประชากร พร้อมระบุว่า เงินเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถแก้ปัญหาหลายปัจจัยทางสังคมที่ส่งผลให้อัตราการเกิดต่ำได้

ทั้งปัญหาค่าครองชีพสูงของญี่ปุ่น พื้นที่จำกัด และการขาดการดูแลเด็กในเมือง ทำให้การเลี้ยงลูกเป็นเรื่องยาก ส่งผลให้คู่สามีภรรยามีลูกน้อยลง คู่รักในเมืองมักอยู่ห่างไกลจากครอบครัวทำให้ไม่มีคนช่วยเลี้ยงดูบุตรหลาน

โดยในปี 2022 ญี่ปุ่นได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีค่าเลี้ยงดูบุตรแพงที่สุดในโลก จากการวิจัยของสถาบันการเงิน Jefferies ขณะที่เศรษฐกิจของญี่ปุ่นก็ชะงักงันตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 ส่งผลที่ผ่านมาค่าจ้างเฉลี่ยของญี่ปุ่นมีการเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย แม้ว่าตลาดเเรงงานจะตึงตัว

ขณะที่เเรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อในปีที่ผ่านมา ก็ทำให้หลายบริษัทระมัดระวังเรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ใช้เป็นข้ออ้างในการระงับการขึ้นค่าเเรง

รายงานของสถาบันวิจัยญี่ปุ่น (Japan Research Institute)ระบุว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานของญี่ปุ่นมีความรุนแรงมากขึ้น สาเหตุหนึ่งของการขาดแคลนบุคลากร แม้ว่าเศรษฐกิจจะซบเซาและการหลั่งไหลของแรงงานต่างชาติเข้าสู่ญี่ปุ่นลดลง อีกปัจจัยที่ซ่อนอยู่คือ การมีส่วนร่วมของแรงงานสตรีและผู้สูงอายุ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในช่วงก่อนเกิดโควิดได้หยุดชะงักลง

ดังนั้นหากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะปกติ ญี่ปุ่นอาจต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างหนักในอนาคต และจะเป็นแรงกดดันให้ค่าจ้างสูงขึ้น อาจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

การขยับขึ้นค่าแรงได้เกิดขึ้นแล้วในบางพื้นที่ของภาคบริการ ในจังหวะที่ท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัว แรงงานซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิดยังไม่ฟื้นตัวส่งผลให้การขาดแคลนบุคลากรทวีความรุนแรง ทำให้ในภาคธุรกิจท่องเที่ยวบริการปรับขึ้นค่าแรงไปเกือบ 5% เทียบกับปีที่ผ่านมา และแรงกดดันการเพิ่มค่าแรงคาดว่าจะกระจายไปยังอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในวงกว้างมากขึ้นในอนาคตอันใกล้