ญี่ปุ่นเตรียมเพิ่มงบประมาณเป็นสองเท่า กระตุ้นคนมีลูก เพิ่มประชากรหนุ่มสาว

ญี่ปุ่นกระตุ้นคนมีลูก เพิ่มประชากร
REUTERS/ Kim Kyung-Hoon

นายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น เตรียมเพิ่มงบประมาณเป็นสองเท่าสำหรับนโยบายเกี่ยวกับเด็ก เพื่อกระตุ้นให้คนมีลูก แก้ปัญหาสังคมสูงวัย ซึ่งญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงวัยสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก 

วันที่ 23 มกราคม 2566 สำนักข่าว Reuters รายงานว่า ในการปราศรัยเปิดการประชุมสภาสมัยสามัญ นายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ (Fumio Kishida) ของญี่ปุ่น ให้คำมั่นว่าจะดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการเพิ่มอัตราการเกิดในประเทศญี่ปุ่นที่ลดลง ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงวัยสูงที่สุดในโลก    

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามสนับสนุนให้คนมีลูกมากขึ้น โดยสัญญาว่าจะให้เงินสดและสวัสดิการที่ดีขึ้น แต่ญี่ปุ่นก็ยังเป็นหนึ่งในประเทศที่ค่าเลี้ยงดูเด็กสูงที่สุดในโลก  

ตามการประมาณการของภาครัฐ จำนวนการเกิดในญี่ปุ่นลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อปีที่แล้ว โดยจำนวนการเกิดลดลงต่ำกว่า 800,000 คน เป็นปีแรก เป็นจุดพลิกผันที่เกิดขึ้นเร็วกว่าที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้ถึง 8 ปี 

นั่นมีแนวโน้มจะทำให้จำนวนประชากรในประเทศญี่ปุ่นลดลงอีก และมีแนวโน้มจะส่งผลให้ค่ากลางหรือค่าเฉลี่ยอายุประชากรเพิ่มขึ้นอีก จากปัจจุบันค่ากลางอายุประชากรของญี่ปุ่นอยู่ที่ 49 ปี ซึ่งเกือบสูงที่สุดในโลก เป็นรองเพียงประเทศเล็ก ๆ อย่างโมนาโก (55.4 ปี) ประเทศเดียวเท่านั้น 

“ประเทศชาติของเรามาถึงจุดที่ว่าเราจะสามารถคงบทบาทหน้าที่ทางสังคมของตนเองไว้ได้หรือไม่” นายกรัฐมนตรีคิชิดะกล่าว ตีความได้ถึงความกังวลในปัญหาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่มีคนสูงวัยมาก ซึ่งส่งผลให้มีคนวัยทำงานน้อยลง 

Advertisment

“จะทำตอนนี้ หรือจะไม่มีโอกาสนั้นแล้ว เมื่อพูดถึงนโยบายเกี่ยวกับการให้กำเนิดและการเลี้ยงดูบุตร มันเป็นปัญหาที่เราไม่สามารถรอได้อีกต่อไป” 

คิชิดะกล่าวว่า ภายในเดือนมิถุนายนนี้เขาจะส่งแผนการเพิ่มงบประมาณเป็นสองเท่าสำหรับนโยบายเกี่ยวกับเด็ก และในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้จะมีการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ของรัฐบาล เพื่อทำงานด้านเด็กและครอบครัวโดยเฉพาะ 

Advertisment

ตามข้อมูลของ YuWa Population Research ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กสูงเป็นอันดับที่ 3 ของโลก รองจากจีนและเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่จำนวนประชากรลดลง การเกิดน้อย สัดส่วนผู้สูงอายุมากขึ้น เป็นสัญญาณที่น่ากังวลสำหรับเศรษฐกิจเช่นกัน

………………..