คนจีนเกิดน้อย “สะเทือนโลก” สะท้านเศรษฐกิจ “มังกร”

คนจีน
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

สัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน เปิดเผยข้อมูลประชากรว่า ณ สิ้นปี 2022 จีนมีประชากรทั้งสิ้น 1,411,750,000 คน ลดลง 850,000 คน เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2021 จำนวนคนเกิด 9.56 ล้านคน จำนวนคนตาย 10.41 ล้านคน

ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า เป็นครั้งแรกนับจากปี 1961 ที่ประชากรจีนมีจำนวนลดลง แม้ว่าจีนจะได้พยายามสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนมีบุตรมากขึ้น โดยยกเลิกนโยบาย “ลูกคนเดียว” ตั้งแต่ปี 2016 และต่อมาในปี 2021 อนุญาตให้มีบุตรได้ถึง 3 คน แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแนวโน้มของประชากรที่อยู่ในทิศทางขาลงได้

ตัวเลขประชากรดังกล่าวยังแสดงให้เห็นว่า ภายในปี 2030 ประชากรจีนราว 25% จะมีอายุ 60 ปี หรือสูงกว่า ซึ่งหมายถึงว่าอาจจะกระทบต่อการเติบโตเศรษฐกิจที่ตลอดมาอาศัยแรงงานเป็นหลัก ยังไม่ต้องพูดถึงปัญหาที่ว่าอาจไม่มีคนแข็งแรงจำนวนมากพอที่จะดูแลคนแก่ในอนาคต

ดังนั้นอาจทำให้จีนลำบากขึ้นในการจะแซงสหรัฐอเมริกาขึ้นเป็นที่หนึ่งในแง่ของเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็อาจเสียตำแหน่งประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกให้กับอินเดีย

ก่อนหน้านี้ในปี 2019 สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประเมินว่า จำนวนประชากรจีนจะถึงจุดสูงสุดในปี 2031 แต่ในปีที่แล้วยูเอ็นได้ประเมินใหม่ โดยร่นเวลาที่ประชากรจีนจะถึงจุดสูงสุดมาเป็นปี 2022 และคาดว่าภายในปี 2050 ประชากรจีนจะลดลง 110 ล้านคน ส่วนอินเดียจะแซงจีนขึ้นเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกภายในปีนี้

“กาง ยี่” หัวหน้าสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน ระบุว่า ไม่ควรกังวลต่อการลดลงของประชากร เพราะโดยรวมแล้วจีนยังมีแรงงานมากกว่าความต้องการของตลาด

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เจ้าหน้าที่ของจีนจะอ้างว่าไม่น่ากังวล แต่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลกระทบ ถ้าหากคนวัยทำงานมีไม่เพียงพอ จะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าต่าง ๆ สูงขึ้น นอกจากนี้ ประชากรที่ลดลงย่อมหมายถึงความต้องการบ้านหลังใหม่เพื่อสร้างครอบครัวจะน้อยลง

อันจะกระทบต่อความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น แร่เหล็ก ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะต้องหาเงินมาโปะระบบบำนาญแห่งชาติที่ตอนนี้ยังมีไม่เพียงพอ ทั้งหมดนี้จะบั่นทอนการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ

ไม่เพียงกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศเท่านั้น แต่การลดลงของประชากร จีนยังจะสร้างแรงกระเพื่อมไปถึงเศรษฐกิจนอกจีน ยกตัวอย่าง เช่น หากเด็กจีนเกิดน้อยลง จำนวนนักศึกษาจีนที่ต้องการไปศึกษาต่อต่างประเทศอย่าง สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลียและที่อื่น ๆ จะลดลงตามไปด้วย

ซิวเจี้ยน เผิง นักวิจัยอาวุโส ศูนย์ศึกษานโยบายของมหาวิทยาลัยวิกตอเรีย ออสเตรเลีย ชี้ว่า อัตราการเกิดของจีนในปัจจุบันต่ำกว่าสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และแม้แต่ญี่ปุ่นอย่างมาก รัฐบาลจีนคาดไม่ถึงว่าประชากรจะลดลงมากขนาดนี้ เพราะได้ผ่อนคลายนโยบายลูกคนเดียวไปแล้ว แต่กลับไม่ได้ผล ทั้งนี้เป็นเพราะมีปัจจัยอื่นกดดัน เช่น ความไม่มั่นคงในอาชีพการงานที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยเฉพาะราคาบ้านและค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา

“นโยบายลูกคนเดียวที่ใช้มาหลายสิบปี ทำให้คนจีนคุ้นเคยกับการมีครอบครัวเล็ก ๆ ดังนั้นรัฐบาลจีนต้องหาหนทางที่มีประสิทธิภาพเพื่อกระตุ้นให้คนมีลูก ไม่อย่างนั้นอัตราการเกิดจะต่ำลงกว่านี้อีก และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนอย่างลึกซึ้ง ตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงปี 2100” เผิงระบุ

ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในหลายพื้นที่ของจีน ได้ออกมาตรการจูงใจการมีบุตร เช่น ในเสิ่นเจิ้น เจ้าหน้าที่รัฐเสนอเงินโบนัสและเงินช่วยเหลือการเลี้ยงดูบุตรไปจนกระทั่งเด็กอายุ 3 ขวบ คู่สามีภรรยาที่มีลูกคนแรกจะได้รับเงิน 3,000 หยวน (ประมาณ 444 ดอลลาร์สหรัฐ) โดยอัตโนมัติ และหากมีลูกคนที่ 3 จะได้รับเงินเพิ่มเป็น 10,000 หยวน (ประมาณ 1,480 ดอลลาร์)

สิ่งบ่งชี้แนวโน้มประชากรระยะยาวของจีน ยังเห็นได้จากการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับรถเข็นเด็กผ่าน “ไป่ตู้” ที่ลดลง 17% ในปี 2022 และหากนับจากปี 2018 ลดลงมากถึง 41% ส่วนการค้นหาขวดนมลดลงมากกว่า 1 ใน 3 ในทางตรงข้ามการค้นหาบ้านดูแลคนชรากลับเพิ่มขึ้น 8 เท่าในปีที่แล้ว

ส่วนสถานการณ์ในอินเดีย ตรงกันข้ามกับจีน เพราะการค้นหาขวดนมเด็กผ่านกูเกิล เพิ่มขึ้น 15% ในปีที่แล้ว เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า การค้นหาเตียงเด็กเพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่า