คนเกิดน้อย-เข้าเรียนน้อย มหา’ลัยหญิงล้วนในญี่ปุ่นต้องรับ น.ศ.ชาย หลายแห่งไม่รอด เตรียมปิดตัว

มหาวิทยาลัยสตรีในญี่ปุ่นรับนักศึกษาชาย
พิธีต้อนรับนักศึกษาใหม่ของมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น เมื่อปี 2563/ หมายเหตุ : ภาพประกอบไม่ใช่มหาวิทยาลัยที่ระบุในข่าว/ AFP/ CHARLY TRIBALLEAU


ปัญหาคนเกิดน้อยในประเทศญี่ปุ่นบีบให้มหาวิทยาลัยสตรีต้องปรับตัว ทั้งเปิดรับนักศึกษาชาย และเปิดสอนสาขาวิชาใหม่ ๆ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อดึงดูดนักศึกษา แต่มหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งก็สู้ไม่ไหว เตรียมปิดตัว 

สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ว่า การลดลงของประชากรญี่ปุ่นกลายเป็นภัยคุกคามต่อมหาวิทยาลัยสตรีในประเทศ บีบให้มหาวิทยาลัยเหล่านั้นต้องพิจารณาทางเลือกต่าง ๆ ตั้งแต่การรับนักศึกษาชาย ไปจนถึงการเปิดสอนสาขาวิชาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อรักษาจำนวนนักศึกษา

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยสตรีโกเบชินวะ (Kobe Shinwa Women’s University) ได้เปิดตัวในชื่อใหม่ว่า มหาวิทยาลัยโกเบชินวะ (Kobe Shinwa University) เพื่อรับการเปลี่ยนจากมหาวิทยาลัยสตรีเป็นมหาวิทยาลัยแบบสหศึกษา 

ในเดือนนั้น มหาวิทยาลัยโกเบชินวะมีนักศึกษาเข้าเรียนปี 1 ประมาณ 460 คน สูงกว่าในปีก่อนหน้านั้นที่มีนักศึกษาใหม่ 243 คนเกือบเท่าตัว โดย 1 ใน 3 ของนักศึกษาใหม่ในปีนี้เป็นนักศึกษาเพศชาย

“เราพิจารณาที่จะเปิดการเรียนการสอนแบบสหศึกษาตั้งแต่ประมาณปี 2561” โทโมโยะ มิตซุย (Tomoyo Mitsui) อธิการบดีของมหาวิทยาลัยโกเบชินวะกล่าว ซึ่งเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเสริมสร้างสิ่งดึงดูดใจของมหาวิทยาลัยโกเบชินวะในบริบทสังคมที่ท้าทายมากขึ้น 

เป็นเวลามากกว่าศตวรรษที่มหาวิทยาลัยสตรีมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการศึกษาระดับอุดมศึกษา และผลักดันให้ผู้หญิงในญี่ปุ่นเข้าสู่การทำงานในตลาดงานมากขึ้น

ข้อมูลของมหาลัยสตรีมุโกะกาวะ (Mukogawa Women’s University) ระบุว่า มหาวิทยาลัยสตรีในประเทศญี่ปุ่นมีจำนวนสูงสุดในปี 2541 จำนวน 98 แห่งทั่วประเทศ แต่ในปี 2564 พบว่าลดลงจนเหลือ 75 แห่ง แต่มหาวิทยาลัยสตรียังคงมีสัดส่วนเกือบ 10% ของจำนวนมหาวิทยาลัยทั้งหมดในประเทศญี่ปุ่น 

โยชิโนริ อันโดะ (Yoshinori Ando) ศาสตราจารย์มหาลัยสตรีมุโกะกาวะกล่าวว่า สภาพแวดล้อมโดยรอบมหาวิทยาลัยสตรีเปลี่ยนไป เนื่องจากยุคนี้นักศึกษาจำนวนมากหันไปเรียนในสถาบันที่เปิดการเรียนการสอนแบบสหศึกษาและมีสาขาวิชาที่หลากหลาย 

มหาวิทยาลัยสตรีมุโกะกาวะกล่าวว่า ความยากลำบากในการดึงดูดนักศึกษา บวกกับมีแรงผลักดันทางสังคมมากขึ้นในเรื่องความหลากหลาย ทำให้มหาวิทยาลัยสตรีเดิมเปิดรับผู้ชายมากขึ้น

มหาวิทยาลัยญี่ปุ่น
พิธีต้อนรับนักศึกษาใหม่ของมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น เมื่อปี 2563/หมายเหตุ : ภาพประกอบไม่ใช่มหาวิทยาลัยที่ระบุในข่าว/AFP/CHARLY TRIBALLEAU

มหาวิทยาลัยบางส่วนได้รับประโยชน์จากการปรับตัวแล้ว อย่างเช่น มหาวิทยาลัยฮิโรชิมา บุนเกียว (Hiroshima Bunkyo University) พบว่ามีนักศึกษาสมัครเข้าเรียนเพิ่มขึ้นประมาณ 50% นับตั้งแต่เริ่มเปิดรับผู้ชายในปีการศึกษา 2562 

มหาวิทยาลัยอื่น ๆ ก็กำลังหาทางแข่งขันโดยการเปิดสอนหลักสูตรใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อย่างเช่น ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยสตรีเกียวโต (Kyoto Women’s University) ได้จัดตั้งสาขา data science (วิทยาศาสตร์ข้อมูล) ขึ้น 

ก่อนหน้านี้ มหาวิทยาลัยสตรีในญี่ปุ่นมักให้ความสำคัญกับหลักสูตรด้านมนุษยศาสตร์ เช่น วรรณคดี แต่ข้อมูลการสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเอกชนในปีการศึกษา 2566 นี้ ซึ่งวิเคราะห์โดยสถาบันให้บริการเตรียมศึกษาต่อมหาวิทยาลัย Kawaijuku Educational Institution ระบุว่า จำนวนนักศึกษาผู้หญิงที่สนใจเรียนเพื่อคว้าปริญญาด้านมนุษยศาสตร์ลดลง 9% ในปี 2566 เทียบกับด้านวิทยาศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น 12% และด้านวิศวกรรมเพิ่มขึ้น 4%

แม้จะปรับรูปแบบ รับนักศึกษาชาย และขยายเพิ่มหลักสูตรใหม่แล้ว แต่มหาวิทยาลัยสตรีก็ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากสถาบันต่าง ๆ ในเมืองใหญ่ หรือสถาบันเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เปิดรับผู้หญิงเข้าศึกษาเช่นกัน อย่าง สถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว (Tokyo Institute of Technology) และมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์โตเกียว (Tokyo University of Science) ได้เพิ่มโควตาการรับนักศึกษาหญิงเข้าเรียน 

บางสถาบันการศึกษาตัดสินใจปิดตัวลง อย่าง มหาวิทยาลัยไคเซน (Keisen University) เปิดเผยในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า เป็น “การตัดสินใจที่ยากลำบาก” ที่จะหยุดรับนักศึกษาใหม่ในปีการศึกษา 2567 ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยไคเซนมีนักศึกษาสมัครเข้าเรียนปี 1 จำนวน 118 คนในฤดูใบไม้ผลินี้ ซึ่งคิดเป็นเพียง 40% ของจำนวนที่มหาวิทยาลัยสามารถรับได้ 

Sophia University Junior College Division สถาบันการศึกษาที่รับเฉพาะนักศึกษาหญิงก็จะหยุดรับนักศึกษาในปีการศึกษา 2568 แม้ว่าจะอยู่ในสังกัดของมหาวิทยาลัยโซเฟีย (Sophia University) อันทรงเกียรติ แต่สถาบันก็ประสบปัญหาในการดึงดูดนักศึกษาใหม่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ ในภาพรวม ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษารูปแบบใด สถาบันการศึกษาในญี่ปุ่นทุกแห่งก็กำลังเผชิญกับแรงลมต้าน (headwind) ด้านประชากรศาสตร์ที่คนเกิดใหม่น้อยลง

ข้อมูลจากการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า ในฤดูใบไม้ผลิ (ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม) ปี 2565 ที่ผ่านมา กว่า 47.5% ของมหาวิทยาลัยเอกชนที่เปิดสอน 4 ปี รับนักศึกษาใหม่น้อยกว่าที่เคยมีมาก่อน ซึ่งเปอร์เซ็นต์ที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มเก็บข้อมูลเมื่อปีการศึกษา 2542