เมื่อประเทศไม่น่าอยู่ จะหวังอะไรให้คนอยากมีลูก

ประเทศไม่น่าอยู่ คนไม่อยากมีลูก
AFP/ Mladen ANTONOV
คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : รุ่งนภา พิมมะศรี


อย่างที่มีการพูดกันมาเยอะแล้ว ว่าหลายประเทศกำลังเผชิญวิกฤตสังคมสูงวัย และไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น

ถ้าเทียบกันทั่วโลก สัดส่วนประชากรสูงวัยของไทยไม่ได้สูงจนติดระดับท็อปของโลก แต่วิกฤตที่ไทยเจอนั้นหนักหนากว่าประเทศอื่น ๆ เพราะไทยเป็นประเทศที่ “แก่ก่อนรวย” เราเป็น “ประเทศกำลังพัฒนา” ประเทศแรกของโลกที่เข้าสู่สังคมสูงวัย ต่างจากประเทศอื่นที่เข้าสู่สังคมสูงวัยไปก่อนเรา เขาล้วนเป็นประเทศที่รวยแล้ว

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ประเทศที่สัดส่วนมีประชากรสูงวัยมากที่สุดในโลกคือ โมนาโก อันดับ 2 คือญี่ปุ่น อันดับ 3 อิตาลี อันดับ 4 ฟินแลนด์ อันดับ 5 โปรตุเกส และเยอรมนีอยู่ในอันดับที่ 9

แม้แต่ในประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้ว ไม่ยากจน มีสวัสดิการดี ๆ มีการสนับสนุนอย่างดีจากรัฐ คนก็ยังไม่อยากมีลูก

แล้วในประเทศอย่างไทยที่คนส่วนใหญ่รายได้น้อยแล้วยังต้องปากกัดตีนถีบเลี้ยงดูลูกเองโดยที่รัฐไม่มี safety net ทางสังคมรองรับ รัฐไม่ได้การันตีคุณภาพชีวิตที่ดีพอสมควร รัฐไม่ provide สังคมที่น่าอยู่ให้ประชาชน แล้วรัฐจะคาดหวังให้คนมีลูก ผลิตทรัพยากรมนุษย์เพื่อชาติได้อย่างไร

ไม่ทราบว่าเหล่าผู้มีบทบาทในการกำหนดนโยบายของประเทศเคยได้ยิน หรือเข้าใจหรือยังว่า สิ่งหนึ่งที่คนรุ่นใหม่คิดต่างจากคนรุ่นก่อนมาก ๆ คือ คนรุ่นใหม่จำนวนมาก (อาจจะพูดได้ว่าส่วนมาก) รู้สึกเจ็บปวดกับชีวิตที่ “ไม่พร้อม” ของตัวเอง แล้วไม่อยากส่งต่อ “ความไม่พร้อม” นั้นไปให้ใคร

คนรุ่นใหม่ไม่อยากมีลูก เพราะการสร้างมนุษย์คนหนึ่งขึ้นมาโดยไม่มีความพร้อมที่จะมอบสิ่งดี ๆ ให้เขา มันจะเป็น “ชีวิตที่ทุกข์” ทั้งของพ่อ แม่ และลูก

“ความไม่พร้อม” ในที่นี้ ไม่ได้ตายตัว อาจจะไม่ได้หมายถึงความยากจนข้นแค้นระดับสาหัส เพราะคนแต่ละคนมีความต้องการและความฝันที่ต่างกันไป แต่ความหมายอย่างกว้าง ๆ ของ “ความไม่พร้อม” ก็คือไม่มีกำลังที่จะเข้าถึงสิ่งที่ต้องการ หรือไม่มีแม้แต่โอกาสที่จะไปเอื้อมคว้าสิ่งที่ฝัน

ยกตัวอย่างจากที่เห็นบทสนทนาของคนรุ่นใหม่ในโซเชียลมีเดียเมื่อเร็ว ๆ นี้ บางคนบอกว่า “สิ่งที่ขอพ่อแม่แล้วไม่ได้ ไม่ใช่สิ่งฟุ่มเฟือยเลย แต่เป็นการขอโอกาสในชีวิต เช่น ขอเรียนพิเศษ ขอไปเรียนแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศ”

“ถ้าลูกเอ่ยปากขออะไรก็ต้องจ่ายได้โดยไม่กระทบฐานะทางการเงิน …ถ้าซัพพอร์ตความต้องการของลูกไม่ได้ จะไม่มีเด็ดขาด”

“คนเจเนอเรชั่นหลัง ๆ ส่วนใหญ่คิดแบบนี้ เพราะไม่อยากให้ลูกเกิดมาเจอสิ่งที่ตัวเองเคยเจอ ไม่อยากให้ลูกรู้สึกขาดเหมือนเรา”

ความคิดของคนรุ่นใหม่ต่างกันแทบจะคนละขั้วกับคนรุ่นก่อนที่ยอมรับได้กับชีวิตที่ทุกข์ยาก แถมคนรุ่นเก่ายังภาคภูมิใจกับการเล่าเรื่องว่าตัวเองได้ต่อสู้ชีวิตมาอย่างไรบ้างก่อนจะประสบความสำเร็จ

ทั้งที่หากจะว่ากันจริง ๆ แล้ว ความพยายามส่วนบุคคลเพื่อประสบความสำเร็จในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย ไม่ควรเป็นเรื่องน่าภูมิใจ เพราะสิ่งที่ควรจะเป็นคือ การที่รัฐทำให้ประเทศเป็นประเทศที่เอื้อให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีพอสมควร ประชาชนควรจะประสบความสำเร็จได้ด้วยความพยายามพอประมาณ ไม่ต้องพยายามดิ้นรนอย่างยากลำบากมากมายขนาดนั้น

ไม่ได้จะบอกว่าความคิดของคนรุ่นเก่าผิด แต่กำลังบอกว่าคนรุ่นใหม่ไม่ได้คิดเหมือนคนรุ่นพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย แล้วในหลาย ๆ เรื่อง รวมถึงเรื่องการมีลูก

ดังนั้น ด้วยสภาพของประเทศไทยตอนนี้ การที่รัฐจะโน้มน้าวหรือจูงใจให้ประชาชนอยากมีลูก ไม่ได้ผลแน่

โจทย์ใหญ่โจทย์หนึ่งของรัฐบาลใหม่ก็คือ การทำให้คนไทยอยากมีลูก

ซึ่งคำตอบนั้นเรียบง่ายมาก คือ “ทำประเทศไทยให้เป็นประเทศที่น่าอยู่และมีโอกาสสำหรับทุกคน”

แต่การจะทำสำเร็จต้องใช้ความตั้งใจ-ทำอย่างจริงจัง ต้องแก้ปัญหาให้ถึงโครงสร้าง