UN เตือนไทยวิกฤตประชากร เร่งรับมือสังคม “แก่ก่อนรวย”

แฟ้มภาพ
ความชราภาพเป็นเรื่องยากลำบากของชีวิตไม่ว่าจะสถานการณ์ใด และจะยิ่งยากขึ้นถ้าชราและยากจน ซึ่งนั่นเป็นความท้าทายที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ

“บลูมเบิร์ก” รายงานโดยอ้างข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่ตีพิมพ์เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงอัตราการเกิดใหม่ของไทยที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกในโลกที่กำลังเผชิญการขาดแคลนเด็กเกิดใหม่ เพราะอัตราการเกิดของไทยแทบจะต่ำที่สุดในโลกคือเฉลี่ยอยู่ที่ 1.5 คนต่อผู้หญิง 1 คน ซึ่งต่ำกว่าประเทศรายได้สูงอย่าง “สวิตเซอร์แลนด์ และฟินแลนด์” ที่มีอัตราการเกิดอยู่ที่ 1.5 คน และ 1.6 คนตามลำดับ

ขณะที่อัตราการเกิดเฉลี่ยที่เหมาะสมเพื่อรักษาเสถียรภาพและการเติบโตของประชากรคือ 2.1 คน

ประเทศไทย “แก่ก่อนรวย”

จากรายงานของยูเอ็นชี้ให้เห็นว่า ในปี 2030 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากถึง 25% หรือ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด ที่น่าตกใจคือ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่ม “คนยากจน” ขณะเดียวกัน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุด้วยว่า แรงงานที่กำลังจะหดตัวนี้คาดว่าจะกระทบต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจถึง 100% ในทุก ๆ ปีในช่วง 2 ทศวรรษข้างหน้านี้

สำหรับประเทศที่ร่ำรวยในโลก การเพิ่มจำนวนของผู้สูงอายุมักเกิดจากการที่มีอัตราการเกิดต่ำ ในขณะที่ประชากรจะมีรายได้สูงขึ้น ยกเว้นกรณีของ “จีน” ซึ่งรัฐบาลเคยมีนโยบายลูกคนเดียว เป็นความพยายามควบคุมจำนวนประชากรก่อนที่จะยกเลิกไปในปี 2015 แต่สำหรับสถานการณ์ใน “ไทย” คนจำนวนมากกำลังจะก้าวเข้าสู่วัยชราก่อนที่จะร่ำรวย

“ฉัว ฮัก บิน” ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ฝ่ายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเมย์แบงก์ กิมเอ็ง รีเสิร์ช (Maybank Kim Eng Research) ประเทศสิงคโปร์ ระบุว่า “นี่เป็นปัญหาและความท้าทายสำหรับไทย เพราะเป็นประเทศที่ยังติดอยู่ในสังคมรายได้ปานกลางมานาน ทำให้ไทยเป็นประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาทางด้านประชากรศาสตร์ เช่นเดียวกับประเทศที่มีเศรษฐกิจก้าวหน้า”

ในอดีตนักเศรษฐศาสตร์และนักนโยบายภาครัฐมองว่า การมีประชากรมากเกินไปเป็นปัญหาสำคัญประชากรศาสตร์ระดับโลก แต่ปัจจุบันอัตราการเกิดที่ลดลงกำลังเป็นปัญหาบั่นทอนเศรษฐกิจทั่วโลก เนื่องจากในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา อัตราการเกิดของทุกประเทศทั่วโลกลดลง ผลจากประชากรพื้นที่ชนบทมีการเคลื่อนย้ายเข้าสู่เขตเมืองมากขึ้น ขณะที่ประชากรผู้หญิงสามารถเข้าถึงระบบการศึกษามากขึ้น รวมไปถึงสามารถคุมกำเนิดได้ดีขึ้น แม้ว่าการมีเด็กเกิดใหม่น้อยลงจะเป็นผลดีสำหรับหลายครอบครัวและสิ่งแวดล้อม แต่กลับมีผลเสียทางเศรษฐกิจ เนื่องจากมีผู้บริโภค แรงงาน และผู้เสียภาษีจำนวนลดลง รวมทั้งมีผู้ที่จะดูแลผู้สูงอายุลดลงไปด้วย

ประชากรไทยจะหายไป 1 ใน 3

รายงานระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ประเทศไทยกลายเป็นสังคมเมืองรวดเร็วกว่าประเทศอื่น ๆ ในโลกนอกเหนือจากจีน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยมีอัตราการเกิดลดลงในปัจจุบัน โดยการผลักดันให้ครอบครัวมีขนาดเล็กลง เริ่มตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ภายใต้โครงการต่อต้านความยากจน นำโดย “มีชัย วีระไวทยะ” ซึ่งมีบทบาทในการเคลื่อนไหวรณรงค์เรื่องการคุมกำเนิดจนได้รับฉายาว่า Mr.Condom

เพียงสองทศวรรษอัตราเฉลี่ยการมีลูกของผู้หญิงไทยลดลงจาก 6.6 คน เหลือเพียง 2.2 คน และในปัจจุบันผู้หญิงไทย 1 คนมีลูกเฉลี่ย 1.5 คนเท่านั้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นอัตราการเกิดที่ต่ำมากที่สุดเมื่อเทียบกับจีนที่มีอัตราการเกิดเฉลี่ยอยู่ที่ 1.7 คน ขณะที่อัตราการเกิดที่ถือว่าสร้างความมั่นคงทางประชากรควรอยู่ที่ระดับ 2.1 คน

รายงานของยูเอ็นประเมินด้วยว่า ปัญหาการขาดแคลนเด็กเกิดใหม่ที่เกิดขึ้นในไทยจะส่งผลให้ประชากรไทยราว 70 ล้านคนในปัจจุบัน ลดลงถึง 34.1% หรือราว 1 ใน 3 ในปลายศตวรรษที่ 21

ปัญหาใหญ่แรงงานขาดแคลน

“ชริปาด ตุลจาปูรการ์” (Shripad Tuljapurkar) นักประชากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ระบุว่า ประเทศไทยมีเวลาเหลือไม่มากที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนั้น ต้องรีบหาแนวทางในการเพิ่มจำนวนแรงงานให้มากขึ้น ไม่เช่นนั้นปัญหาเรื่องแรงงานหดตัวอาจจะรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งยังไม่สามารถทดแทนจำนวนแรงงานได้ด้วยกลุ่มวัยเกษียณที่คาดว่าจะพุ่งขึ้นในช่วงกลางปี 2030

ปัญหาอีกประการ คือ หลังการรัฐประหาร 2 ครั้งในไทยนับตั้งแต่ปี 2006 แผนในการรับมือกับสังคมผู้สูงอายุแทบจะไม่เคยถูกนำมาใช้หรือกล่าวถึง ขณะที่หลังการเลือกตั้งเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลใหม่ที่ประกอบไปด้วยพรรคการเมืองถึง 19 พรรค ก็ดูจะไม่สามารถผลักดันอะไรได้อย่างจริงจัง

หนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาที่น่าจะมีประสิทธิภาพก็คือ การที่ไทยเปิดกว้างต่อการอพยพแรงงานมากขึ้นเพื่อลดปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งอาจแตกต่างกับประเทศที่กำลังประสบปัญหาในเรื่องสังคมผู้สูงอายุ อย่างในเกาหลีใต้และญี่ปุ่นที่มีการควบคุมการใช้แรงงานต่างชาติค่อนข้างมาก สำหรับประเทศไทยปัจจุบันมีแรงงานชาวต่างชาติประมาณ 10% ของแรงงานทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่

ตัวอย่างเช่น “ภาคภูมิ ศรีชำนิ” กรรมการผู้จัดการ “ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น” บริษัทขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ ซึ่งมีแรงงานต่างชาติราว 30% จากทั้งหมด 10,000 คน ระบุว่า

“แรงงานต่างชาติมีจำนวนมากพอที่จะเติมเต็มช่องว่างของปัญหาเหล่านี้ได้”

ประชากรวัยทำงานลดฮวบ

ประเทศไทยกำลังเผชิญอัตราการเติบโตของประชากรต่อปีลดลงทุก ๆ ทศวรรษ นับแต่ทศวรรษ 1990 โดยมีประชากรช่วงอายุเฉลี่ย 35 ปี ลดลงจาก 5.3% เหลือ 4.3% ในปัจจุบัน และไตรมาสแรกปีนี้อัตราการเติบโตลดลง 2.8% ชะลอตัวลงมากที่สุดในรอบ 4 ปี

ด้วยอัตราเงินเฟ้อของไทยต่ำกว่า 1% อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า 2% การบริโภคที่ต่ำความต้องการสินค้าและบริการที่ลดลงจากประชากรสูงอายุ ทำให้ขณะนี้ระบบเศรษฐกิจของไทยบางส่วนเริ่มคล้ายคลึงกับสังคมผู้สูงอายุของญี่ปุ่น มากกว่าประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ที่ใกล้เคียง อย่างเช่น อินโดนีเซีย หรือฟิลิปปินส์

ขณะที่รายได้ต่อหัวของประชากรไทยเพียง 6,362 ดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าเป็นเรื่องยากลำบากมากในการใช้จ่ายสำหรับค่ารักษาพยาบาล เมื่อเทียบกับประเทศที่ร่ำรวยอย่าง “สวิตเซอร์แลนด์” ซึ่งมีรายได้ต่อหัวอยู่ที่ 78,816 ดอลลาร์สหรัฐ และฟินแลนด์ที่มีรายได้ต่อหัวอยู่ที่ 48,580 ดอลลาร์สหรัฐ และพบว่าค่ารักษาพยาบาลในไทยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นราว 12% ทุกปีในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา ถือว่า “สูงที่สุด” ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อ้างตามข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีกองทุนบำนาญชราภาพ แต่ความมั่นคงของกองทุนดังกล่าวกลับรั้งท้ายในบรรดา 54 ประเทศตามการสำรวจของ “อลิอันซ์ ซี.พี.” บริษัทประกันภัยระดับโลก ซึ่ง“สมชัย จิตสุชน” หนึ่งในคณะกรรมการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า กองทุนบำนาญอาจจะหมดลงภายใน 15 ปี หากไม่มีการปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ “เราจำเป็นต้องหารายได้เพิ่มขึ้น”