“ญี่ปุ่น” ออกจากภาวะถดถอย แต่ยังไม่หลุดพ้นความเสี่ยง

ศก.ญี่ปุ่น

เศรษฐกิจ “ญี่ปุ่น” กลับมาฟื้นตัวเหนือความคาดหมายในไตรมาส 1/2023 โดยได้รับแรงหนุนจากการบริโภคและการท่องเที่ยวภายในประเทศที่กลับมาคึกคักอีกครั้งหลังโควิด-19 ส่งผลให้ญี่ปุ่นหลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ภาคส่งออกที่อ่อนแอของญี่ปุ่นยังคงเป็นความเสี่ยงที่ต้องจับตา

ไฟแนนเชียลไทมส์ รายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของญี่ปุ่น ในไตรมาส 1/2023 ขยายตัว 0.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หรือเติบโต 1.6% ในอัตรารายปี (annualised rate) ตามการเปิดเผยของสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ซึ่งมากกว่าคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์หลายฝ่ายก่อนหน้านี้ที่มองว่า จีดีพีญี่ปุ่นจะขยายตัวที่ 0.7%

มูลค่าจีดีพีของญี่ปุ่นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 507.1 ล้านล้านเยน และยังเป็นการพลิกกลับมาเติบโต หลังจากหดตัวต่อเนื่องในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา ที่ระดับ -1.0% และ -0.1% ตามลำดับ นับเป็นการหลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค หลังจากที่มีจีดีพีติดลบต่อเนื่องมา 2 ไตรมาส

เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่กลับมาฟื้นตัวและเติบโตเกินความคาดหมายได้รับแรงหนุนสำคัญจากอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งสัดส่วนสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้เติบโต 0.6% ในไตรมาส 1/2023 สูงกว่าการคาดการณ์ไว้ 0.4%

โดยมีปัจจัยหลักมาจากการยกเลิกข้อจำกัดควบคุมโควิด-19 และการเปิดประเทศ ที่กระตุ้นการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภาคบริการ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ที่พัก และการขนส่ง ขณะเดียวกันความเชื่อมั่นของผู้บริโภคญี่ปุ่นยังเพิ่มสูงขึ้น จากการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างของหลายบริษัท

ขณะที่การลงทุนภาคธุรกิจของญี่ปุ่นในไตรมาส 1/2023 ก็ขยายตัว 0.9% จากที่คาดการณ์ 0.4% เนื่องจากนักลงทุนกลับมามีความเชื่อมั่นต่อความพยายามปรับปรุงการดำเนินงานของบริษัทญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง และการปรับขึ้นค่าแรง รวมถึงมุมมองในแง่ดีเกี่ยวกับการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่คาดว่าจะกลับมาขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์รายงานว่า ภาคส่งออกญี่ปุ่นยังคงเป็นปัจจัยลบ โดยการส่งออกสินค้าและบริการของญี่ปุ่นในไตรมาส 1/2023 ลดลงถึง 4.2% ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส เป็นผลมาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน ที่ทำให้ความต้องการสินค้าลดลงในตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็นเซมิคอนดักเตอร์ รถยนต์ และเครื่องจักร

“ชิเงยูกิ โกโตะ” รัฐมนตรีเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ระบุว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระดับปานกลางของญี่ปุ่นคาดว่าจะดำเนินต่อไป แต่ยังคงต้องระมัดระวังความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะผลกระทบจากตลาดเงินและการขึ้นอัตราดอกเบี้ย

เช่นเดียวกับ “โยชิกิ ชินเกะ” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยไดอิจิ ไลฟ์ มองว่า การบริโภคภายในประเทศยังคงสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น แต่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะอยู่ในระดับปานกลาง เนื่องจากอุปสงค์ในต่างประเทศที่อ่อนแอส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก ซึ่งจะกลายเป็นการยื้อยุดกันระหว่างอุปสงค์ในประเทศที่แข็งแกร่งกับการส่งออกที่ซบเซา

นอกจากนี้ ภาวะเงินเฟ้อยังเป็นอีกความท้าทายของญี่ปุ่น ด้วยต้นทุนเชื้อเพลิงและราคาอาหารที่สูงขึ้น ยังเป็นปัจจัยลบที่อาจผลักให้อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นทะลุเกินเป้าหมาย 2% และเป็นแรงกดดันการเติบโตของภาคการบริโภคภายในประเทศ และเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นสะดุดลงอีกครั้ง