ฮ่องกงพ้นเศรษฐกิจถดถอยแล้ว จีดีพีโต 2.7% หลังจากติดลบตลอดปี 2565

ฮ่องกงก้าวพ้นเศรษฐกิจถดถอย
นักท่องเที่ยวชาวจีนแผ่นดินใหญ่ในฮ่องกง/ AFP/ Peter PARKS

ฮ่องกงฟื้นตัวออกจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้ว จีดีพีไตรมาส 1 ปี 2566 ขยายตัว 2.7% หลังจากติดลบตลอดปี 2565 รับผลบวกจากการเปิดพรมแดนกับจีน นักท่องเที่ยวและยอดค้าปลีกโตพรวด

เศรษฐกิจฮ่องกงอยู่ในสภาวะถดถอยมา 3 ไตรมาส นับตั้งแต่ที่เศรษฐกิจหดตัวลงสองไตรมาสติดต่อกันในไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2565 

ล่าสุดในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ ฮ่องกงพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้ว เนื่องจากการกลับมาเปิดพรมแดนทำให้การใช้จ่ายฟื้นตัวขึ้น และจีดีพีของฮ่องกงฟื้นตัวขึ้นเป็นบวกได้แล้ว 

วันที่ 2 พฤษภาคม 2566 สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า เศรษฐกิจฮ่องกงในสามเดือนแรกของปี 2566 ขยายตัว 2.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สูงกว่าประมาณการเฉลี่ยของนักเศรษฐศาสตร์ 10 คนที่ Bloomberg สำรวจความเห็น ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจฮ่องกงไตรมาสแรกของปีนี้จะโต 0.5% 

“ในไตรมาสที่สองตัวเลขจะดีขึ้นมากกว่านี้” จอห์น ลี (John Lee) ผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกงกล่าวในการแถลงข่าว

ฮ่องกงกำลังเริ่มฟื้นตัวหลังจากการควบคุมโรคระบาดอย่างเข้มงวดมาหลายปี ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและกระตุ้นการอพยพของผู้อยู่อาศัย ยอดค้าปลีกในเดือนมกราคม 2566 ในแง่มูลค่าเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 3 ปี เนื่องจากการเริ่มเปิดพรมแดนระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับฮ่องกง 

จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 ล้านคนในเดือนมีนาคม คิดเป็นเพิ่มขึ้น 68% จากเดือนกุมภาพันธ์ ด้วยดัชนีดังกล่าวนี้คาดว่าในเดือนพฤษภาคมนี้ชาวจีนแผ่นดินใหญ่กว่าแสนคนจะเดินทางเข้าฮ่องกงในช่วงหยุดยาววันแรงงาน

ภาพที่เห็นในปีนี้แตกต่างอย่างมากกับเมื่อปีที่แล้ว ในตอนที่ฮ่องกงเจอกับคลื่นทำลายล้างของโควิด-19 และรัฐบาลเขตปกครองพิเศษฮ่องกงได้เข้มงวดมาตรการควบคุมมากขึ้น เศรษฐกิจฮ่องกงหดตัวลง 3.9% ในไตรมาสแรกของปี 2565 สร้างบรรยากาศที่มืดมัวต่อมาตลอดทั้งปี

ไอริส แปง (Iris Pang) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนแผ่นดินใหญ่ของ ING Group กล่าวว่า การเติบโตของเศรษฐกิจค่อนข้างช้า เมื่อพิจารณาว่าฐานเมื่อปีที่แล้วเป็นลบ “สัญญาณนี้บอกว่าฮ่องกงพ้นจากเศรษฐกิจถดถอยแล้ว แต่ยังคงสะท้อนว่าการฟื้นตัวยังไม่แข็งแรง” 

ขณะที่เศรษฐกิจกลับมาเติบโตอีกครั้งในตอนนี้ ฮ่องกงยังคงต่อสู้กับผลข้างเคียงจากการควบคุมโรคระบาดอย่างเข้มงวดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประชากรยังคงหดตัวลงต่อเนื่อง แม้ว่าจะลดในอัตราที่ช้าลงก็ตาม เหนือสิ่งอื่นใด ฮ่องกงยังเผชิญกับแรงลมต้าน (headwind) นั่นคือการเติบโตอย่างชะลอของเศรษฐกิจโลก และนโยบายการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดในต่างประเทศ  

โธมัส เฮลบลิง (Thomas Helbling) ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียและแปซิฟิกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวว่า ด้านลบในช่วงนี้ IMF กังวลกับความเสี่ยงภายนอกมากที่สุด เนื่องจากในความเป็นจริงเศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัวลง และอีกข้อกังวลคือ การให้สินเชื่อในสหรัฐอเมริกากับยูโรโซนเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งสามารถส่งผลต่อเศรษฐกิจฮ่องกงได้ผ่านการค้าระหว่างประเทศ (ที่หดตัวลง) 

ถึงอย่างนั้น เขาบอกอีกว่า “ในทิศทางบวก เราเห็น pent-up demand แข็งแกร่งขึ้นในฮ่องกง เช่นเดียวกับในจีนแผ่นดินใหญ่”  

อีริก จู (Eric Zhu) นักเศรษฐศาสตร์ของ Bloomberg Economics กล่าวว่า การกลับมาอย่างต่อเนื่องของนักท่องเที่ยว ซึ่งถูกกระตุ้นโดยการสิ้นสุดนโยบาย Zero-COVID ของจีนแผ่นดินใหญ่ ถูกกำหนดให้เป็นตัวขับเคลื่อนการเดินหน้าฟื้นตัวไปข้างหน้าในช่วงที่เหลือของปีนี้ สะท้อนถึงจีดีพีไตรมาส 1 ที่แข็งแกร่ง 

“เราปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจปี 2566 ขึ้นไปอยู่ที่ 5.2% เพิ่มจากที่คาดการณ์ไว้ 3.2% เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ นั่นจะฟื้นตัวกลับมาได้มากกว่าที่หดตัวลงไปในปี 2565 ที่จีดีพีหดตัว 3.5%”