คนท่องเที่ยวประสานเสียงดีมานด์คนไทยแห่เที่ยวญี่ปุ่นยังทะลัก ไม่หวั่นค่า “ที่พัก-ตั๋วเครื่องบิน-ค่าครองชีพ” ญี่ปุ่นที่สูงต่อเนื่อง ชี้เงินเยนอ่อนไม่ใช่ปัจจัยบวกสำคัญ คาดปี’66 คนไทยแห่เที่ยวญี่ปุ่นทะลุ 1 ล้านคน ด้าน “แอร์เอเชีย” เผยอัตราขนส่งผู้โดยสารในเส้นทางญี่ปุ่นโดยรวมช่วงนี้ยังใกล้เคียงปกติ
นายธนพล ชีวรัตนพร ประธานทีมยุทธศาสตร์พัฒนาสินค้าและบริการ และอุปนายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) และในฐานะเจ้าของบริษัท แตงโมทัวร์ จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์เงินเยนที่อ่อนค่าลงล่าสุดต่ำกว่าระดับ 1 บาท = 0.25 เยนนั้นไม่ได้ส่งผลให้คนไทยเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นมากขึ้น
โดยหลายเดือนที่ผ่านมา เงินเยนเคลื่อนไหวในกรอบ 1 บาท ต่อ 0.25-0.27 เยน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสม แต่หากเงินเยนแข็งค่ามากขึ้นสู่ระดับ 1 บาท ต่อ 0.29-0.30 เยน อาจเริ่มส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวได้
“ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่คนไทยอยากเดินทางอยู่แล้ว ค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงอาจไม่ได้มีผลมากเท่าไหร่ เพราะคนที่จะออกเดินทาง เขาก็ออกเดินทางอยู่แล้ว” นายธนพลกล่าว
ราคาแพ็กเกจทัวร์ยังสูง
นายธนพลกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันทัวร์เส้นทางญี่ปุ่นมีอัตราการจองโปรแกรมล่วงหน้าก่อนออกเดินทาง 7 วันอยู่ที่ราว 95% และในวันเดินทางพบว่ามีปริมาณลูกทัวร์เต็ม 100% อย่างไรก็ตาม บริษัททัวร์ก็ยังไม่สามารถเปิดทัวร์กลุ่มใหม่เพิ่มได้ เนื่องจากยังประสบปัญหาจำนวนที่นั่งสายการบินไม่เพียงพอ
โดยในช่วงนี้ราคาแพ็กเกจทัวร์ประเทศญี่ปุ่น เส้นทางโตเกียว ระยะเวลา 6 คืน ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 60,000 บาทขึ้นไป โดยคงราคาดังกล่าวมาตั้งแต่หลังประเทศญี่ปุ่นผ่อนคลายมาตรการเข้าออกพรมแดนให้บริษัททัวร์ประกอบกิจการได้ ซึ่งราคาดังกล่าวสูงกว่าในปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 ซึ่งอยู่ที่ราว 48,000 บาท หรือราว 25%
ที่พัก-ตั๋วเครื่องบินแพงต่อเนื่อง
โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาแพ็กเกจทัวร์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกิดจากค่าที่พักและค่าอาหารในญี่ปุ่นปรับตัวเพิ่มขึ้น ที่สำคัญคือ ราคาค่าบัตรโดยสารสายการบินยังคงอยู่ในระดับที่สูงจากเที่ยวบินที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ทั้งนี้ คาดว่าหลายสายการบินจะเริ่มกลับมาให้บริการได้อย่างเต็มที่ในปี 2567 เป็นต้นไป
“ค่าครองชีพในประเทศญี่ปุ่นเริ่มปรับตัวสูงขึ้น แม้แต่ละรายการอาจปรับตัวขึ้นไม่สูงมาก แต่ในภาพรวมเมื่อรวมค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวได้” นายธนพลกล่าวและว่า ราคาแพ็กเกจทัวร์เส้นทางญี่ปุ่นที่เห็นอยู่ในปัจจุบันอาจเป็นราคามาตรฐานใหม่แล้ว ส่วนหนึ่งเพราะกรุ๊ปทัวร์มีขนาดเล็กลง
เชื่อ “เยนอ่อน” ไม่ใช่ปัจจัยบวก
สอดรับกับนายเอนก ศรีชีวะชาติ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย-ญี่ปุ่น และประธานบริษัท ยูนิไทย แทรเวล จำกัด ที่กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ในทิศทางเดียวกันว่า สถานการณ์ค่าเงินเยนอ่อนค่าอาจมีส่วนกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวชาวไทยออกเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่น แต่ไม่ถึงขั้นทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นจำนวนเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ เนื่องจากคนไทยมีความต้องการเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นจำนวนมากอยู่แล้ว ทั้งที่ราคาบัตรโดยสารสายการบินเส้นทางไทย-ญี่ปุ่นยังมีราคาสูงกว่าเดิมราว 20-30%
คาดคนไทยเที่ยวญี่ปุ่น 1 ล้านคน
นายเอนกกล่าวด้วยว่า สำหรับส่วนตัวประเมินว่าในปี 2566 นี้ นักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางไปเยือนญี่ปุ่นจะมีจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน สอดคล้องกับก่อนหน้านี้ที่องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) ได้ตั้งเป้าหมายว่า ในปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางไปญี่ปุ่นเป็นจำนวน 1.3 ล้านคน เทียบเท่ากับปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19
“ค่าเงินเยนที่อ่อนลงอาจมีส่วนกระตุ้นให้ออกเดินทางอยู่บ้าง แต่ไม่ถึงกับเฮโลไปเพราะค่าเงิน เพราะคนที่จะเดินทางไปญี่ปุ่น ยังไงเขาก็ไปอยู่แล้ว” นายเอนกกล่าว
ย้ำ “ญี่ปุ่น” ปลายทางยอดนิยม
ด้านนายเด่น มหาวงศนันท์ เจ้าของบริษัท อินสปิริต ฮอลิเดย์ จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันพบว่าราคาแพ็กเกจทัวร์ญี่ปุ่นยังเพิ่มขึ้นจากเดิมอยู่มาก จากเดิมในปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 ทัวร์เส้นทางโตเกียว ระยะเวลา 5 วัน 3 คืน ราคาอยู่ที่ 20,000-30,000 บาท แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 35,000-70,000 บาท (ราคา 70,000 เป็นทริปขึ้นยอดภูเขาไฟฟูจิ)
โดยราคาที่เพิ่มขึ้นนี้เกิดจากตั๋วเครื่องบินที่มีราคาแพง และจากอุปทาน (ซัพพลาย) ภาคการท่องเที่ยวญี่ปุ่นยังไม่ฟื้นตัว
สำหรับสถานการณ์ค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงอย่างมากนั้น นายเด่นกล่าวว่า อาจไม่ได้กระตุ้นการออกเดินทางเพิ่มเติมมากนัก เนื่องจากปัจจุบันนักท่องเที่ยวชาวไทยยังเดินทางไปญี่ปุ่นเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว โดยปัจจุบันมีผู้สนใจจองทัวร์ก่อนการออกเดินทางมาประมาณ 80-90% ก่อนการออกเดินทาง 7 วัน
คนเดินทางเป็นกลุ่มกลาง-บน
ส่วนปัจจัยที่ส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวญี่ปุ่นคือ ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวไทย ประกอบกับการผ่อนคลายมาตรการเข้าออกพรมแดนและมาตรการด้านสาธารณสุขเรื่อยมา และองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) ได้ดำเนินการตลาดเชิงรุก นำเสนอเส้นทางแปลกใหม่ให้กับบรรดาตัวแทนการท่องเที่ยว พร้อมสร้างอัตลักษณ์ของชุมชนต่าง ๆ
“นักท่องเที่ยวที่เดินทางตอนนี้เป็นกลุ่มตลาดกลางถึงบน และเริ่มเห็นเทรนด์มองหาการสัมผัสประสบการณ์มากขึ้น ใช้บริการบริษัททัวร์ให้จัดแผนเส้นทาง เช่ารถ แล้วเดินทางด้วยตนเอง เดินทางในเส้นทางใหม่ ๆ เช่น ยอดภูเขาไฟฟูจิ เจแปนแอลป์ เป็นต้น” นายเด่นกล่าว
“แอร์เอเชีย” ชี้ผู้โดยสารเท่าเดิม
แหล่งข่าวสายการบินแอร์เอเชียกล่าวว่า กรณีเงินเยนอ่อนค่าลงมานั้นถือเป็นโอกาสท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวไทยไปญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว เพราะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวถูกลงอีก แต่สำหรับนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นมาไทยก็อาจส่งผลกระทบต่อการชะลอการเดินทาง
สำหรับในส่วนของสายการบินนั้นพบว่าโดยรวมอัตราขนส่งผู้โดยสารในเส้นทางญี่ปุ่นช่วงนี้ยังไม่เพิ่มขึ้นกว่าปกติ แต่สูงขึ้นถ้าเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากบรรยากาศการท่องเที่ยวที่ดีขึ้นในปีนี้
ญี่ปุ่นชะลอเดินทางต่างประเทศ จี้รัฐเร่งกระตุ้น ‘เที่ยวไทย’
จากสถานการณ์เงินเยนที่อ่อนค่าต่อเนื่องเมื่อเทียบกับค่าเงินบาท อาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของชาวญี่ปุ่น แต่ก็อาจมีส่วนกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสนใจเดินทางไปท่องเที่ยวในญี่ปุ่นมากขึ้น
“เอนก ศรีชีวะชาติ” นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย-ญี่ปุ่น และประธานบริษัท ยูนิไทย แทรเวล จำกัด บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์การท่องเที่ยวระหว่างญี่ปุ่นและประเทศไทยในขณะนี้ พบว่านักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นยังเดินทางเข้าประเทศไทยในจำนวนที่น้อยมากอยู่
โดยสถานการณ์ค่าเงินเยนที่อ่อนค่ามีส่วนที่ทำให้นักท่องเที่ยวไม่อยากออกเดินทางมายังประเทศไทย รวมถึงพิจารณาก่อนการออกเดินทางมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าค่าใช้จ่ายการท่องเที่ยวในประเทศไทยยังไม่สูงมากนัก และประเทศไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางที่ชาวญี่ปุ่นอยากเดินทางมาเยือน
“เอนก” บอกว่า ชาวญี่ปุ่นที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยมีลักษณะเป็นกลุ่มขนาดเล็ก เช่น นักท่องเที่ยวที่มาเล่นกอล์ฟ ขณะที่นักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ ๆ ยังไม่เดินทางเข้ามาประเทศไทย
“เงินเยนที่อ่อนค่าตอนนี้มีส่วนทำให้คนญี่ปุ่นไม่อยากออกเดินทาง และคิดก่อนเดินทางมากขึ้น ในทางกลับกันค่าเงินเยนที่อ่อนค่าอาจมีส่วนกระตุ้นให้คนไทยออกเดินทางไปญี่ปุ่นอยู่บ้าง แต่ไม่ถึงกับเฮโลไป เพราะที่ผ่านมาคนไทยนิยมไปเที่ยวญี่ปุ่นอยู่แล้ว”
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า ในปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 มีนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นเดินทางเข้าประเทศไทยจำนวน 1,787,185 คน มีจำนวนมากเป็นอันดับ 6 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย
ขณะเดียวกัน ในปี 2562 มีชาวไทยเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นจำนวน 1,148,680 คน ครองอันดับ 3 ของชาติที่คนไทยเดินทางไปเยือนมากที่สุด
และในไตรมาสที่ 1/2566 ที่ผ่านมา มีชาวญี่ปุ่นเดินทางเข้าประเทศไทยจำนวน 60,408 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 38.25 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1/2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 ที่มีชาวญี่ปุ่นเดินทางเข้าไทยจำนวน 157,890 คน แต่กระแสคนไทยเดินทางไปญี่ปุ่นในขณะนี้ยังแรงต่อเนื่อง
ที่สำคัญทางการญี่ปุ่นยังเร่งดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวไทยให้เดินทางเข้าประเทศ โดยเมื่อไม่นานมานี้ ตัวแทนการท่องเที่ยวในภูมิภาคโทโฮคุ (Tohoku Region) รวมถึงผู้ว่าการเมืองเซนได (Sendai) ได้เข้ามาประชุมหารือเพื่อประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวในภูมิภาคดังกล่าวกับผู้ประกอบการชาวไทย
“นักท่องเที่ยวฝั่งไทยเดินทางไปญี่ปุ่นจำนวนมาก เป้าหมายคนไทยไปญี่ปุ่นปีนี้จำนวนล้านกว่าคนผมว่าถึงแน่นอน”
ดังนั้น จึงอยากเสนอว่าภาครัฐ เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ควรทำการตลาดร่วมกับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวฝั่งประเทศญี่ปุ่นให้มากขึ้น เพื่อให้มีผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวของประเทศไทยอยู่ในพื้นที่การประชาสัมพันธ์ของบริษัทนำเที่ยวญี่ปุ่น
รวมถึงประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวของประเทศไทยผ่านสื่อช่องทางต่าง ๆ โดยอาจเลือกโฆษณาบนรถไฟ เพื่อประหยัดงบประมาณ เพื่อสร้างการรับรู้ และเชิญชวนชาวญี่ปุ่นออกเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยให้มากยิ่งขึ้น