แบกต้นทุนไม่ไหว เงินเฟ้อทำให้ธุรกิจญี่ปุ่นล้มละลายมากขึ้น

ธุรกิจญี่ปุ่นล้มยื่นละลาย
AFP/ Richard A. Brooks

ในปีงบการเงิน 2565 (เมษายน 2565-มีนาคม 2566) บริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางในญี่ปุ่น 463 แห่งยื่นล้มละลาย เนื่องจากต้นทุนสูงแต่ขึ้นราคาสินค้ามากไม่ได้ เฉพาะในเดือนมีนาคม 2566 มี 67 ราย เป็นตัวเลขรายเดือนที่สูงเป็นประวัติการณ์ 

ภาวะเงินเฟ้อไม่ได้ส่งผลกระทบแค่กับผู้บริโภค เพราะสำหรับผู้ประกอบธุรกิจ เมื่อต้นทุนค่าวัตถุดิบเพิ่มขึ้น แต่ไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าหรือค่าบริการได้อย่างเหมาะสม ต้องแบกต้นทุนเอาไว้ ไม่นานธุรกิจนั้นก็จะเจ็บหนัก

สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 ว่า ราคาสินค้าที่สูงขึ้นเริ่มสร้างแรงกดดันต่อธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางของญี่ปุ่น บีบให้ธุรกิจล้มละลายมากเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากธุรกิจญี่ปุ่นไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนไปสู่ลูกค้าได้มากนัก 

ในปีงบการเงิน 2565 (1 เมษายน 2565-31 มีนาคม 2566) มีบริษัท 463 แห่งยื่นล้มละลายเนื่องจากสองเหตุผลหลักคือ ราคาสินค้า (ต้นทุนวัตถุดิบ) แพงขึ้น และบริษัทไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นไปให้ลูกค้าได้มาก เฉพาะในเดือนมีนาคม 2566 เพียงเดือนเดียว มีกิจการยื่นล้มละลาย 67 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขรายเดือนที่สูงเป็นประวัติการณ์

ตามข้อมูลของบริษัทวิจัยข้อมูลทางการเงินและธุรกิจ Teikoku Databank ตัวเลขการยื่นล้มละลาย 463 บริษัทดังกล่าวนี้ถือว่าเพิ่มขึ้น 3.4 เท่าจากจากปีงบการเงิน 2564 ที่มีการยื่นล้มละลาย 136 กรณี 

ยกตัวอย่างแนวโน้มการล้มละลายที่สามารถเห็นได้ทั่วประเทศญี่ปุ่น จากการสำรวจของบริษัทวิจัยสินเชื่อและการเงิน Tokyo Shoko Research กรณีแรก เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ผู้ประกอบการร้านขายเนื้อในโทโยนากะ จังหวัดโอซากา ได้ยื่นล้มละลาย ด้วยเหตุผลว่ากำไรลดลงเนื่องจากยากที่จะขึ้นราคาสินค้าให้ลูกค้ารับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ และร้านมีหนี้สินประมาณ 300 ล้านเยน (ประมาณ 75 ล้านบาท) 

Advertisment

อีกกรณีตัวอย่างเป็นบริษัทเจ้าของธุรกิจบ่อน้ำพุร้อนในไอสึวากามัตสึ จังหวัดฟูกูชิมะ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการที่จำนวนลูกค้าลดลงในช่วงโควิด-19 ระบาด บวกกับต้นทุนเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้น ได้ยื่นต่อศาลขอฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ตามรายงานของ Teikoku Databank บริษัทนี้รวมทั้งบริษัทในเครือมีหนี้สินประมาณ 2,500 ล้านเยน (ประมาณ 628 ล้านบาท) 

ต้นทุนสินค้าและบริการในญี่ปุ่นถูกส่งผ่านไปยังลูกค้าช้ากว่าสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งเราจะเห็นได้จากอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมาที่ไม่สูงเหมือนฝั่งยุโรปและอเมริกา 

Advertisment

ฮิซาชิ ยามาดะ (Hisashi Yamada) จาก Japan Research Institute คำนวณ “การส่งผ่านต้นทุน” โดยนำดัชนีราคาผู้บริโภค (consumer price index) ซึ่งเป็นราคาสินค้าและบริการท่ัวไปที่ผู้บริโภคต้องจ่าย กับดัชนีราคาสินค้าภาคเอกชน (corporate goods price index) ซึ่งเป็นราคาสินค้าที่ภาคเอกชนต้องจ่ายในการซื้อสินค้า (ราคาต้นทุนสินค้าที่เป็นวัตถุดิบต่าง ๆ) มาเปรียบเทียบอัตราการเปลี่ยนแปลง 

เมื่อเปรียบเทียบไตรมาสเดือนกรกฎาคม-กันยายน ปี 2563 และไตรมาสเดือนตุลาคม-ธันวาคม ปี 2565 อัตราการส่งผ่านต้นทุนในญี่ปุ่นอยู่ที่ 20.3% ซึ่งคิดเป็นน้อยกว่าครึ่งของอัตราการส่งผ่านต้นทุนในสหรัฐอเมริกา (48.5%) และในยุโรป (58.1%) 

กล่าวคือ ต้นทุนของภาคธุรกิจในญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวถูกส่งผ่านไปยังผู้บริโภคโดยการขึ้นราคาสินค้าและบริการเพียงประมาณ 1 ใน 5 แต่ในสหรัฐส่งผ่านไปยังลูกค้าเกือบครึ่ง ขณะที่ยุโรปนั้นส่งผ่านไปมากกว่าครึ่ง 

อัตราการส่งผ่านต้นทุนรายไตรมาสของญี่ปุ่นยังคงต่ำจนถึงไตรมาสล่าสุด ในเดือนมกราคมถึงมีนาคมปีนี้ ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่ 3-4% แต่อัตราการส่งผ่านยังคงไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก โดยอยู่ที่ 22.1% 

ยามาดะแสดงความเห็นว่า การที่ราคาสินค้าต้องไม่เพิ่มขึ้นมากนั้นเป็นบรรทัดฐานในหมู่ผู้บริโภคซึ่งฝังรากลึกในญี่ปุ่น

ในการสำรวจความคิดเห็นของธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan) ประจำเดือนมีนาคม 2566 เกี่ยวกับมุมมองและพฤติกรรมของประชาชนทั่วไป ซึ่งส่งแบบสำรวจทางไปรษณีย์ถึงประชาชน 4,000 คนทั่วประเทศ ผู้ตอบแบบสอบถาม 57.6% บอกว่า ราคาที่ต่ำเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการตัดสินใจใช้จ่ายในปีข้างหน้า ซึ่งสัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นจากการสำรวจในปีก่อนหน้า ที่มีผู้ตอบแบบสอบถาม 51.7% ตอบว่าปัจจัยนี้เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจ

สำหรับฝั่งเจ้าของธุรกิจ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้สร้างความตึงเครียดให้กับธุรกิจร้านอาหารและบริการ ส่วนในธุรกิจโลจิสติกส์ คาดว่าค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากในปี 2567 จะมีการบังคับใช้ขีดจำกัดการทำงานล่วงเวลาของพนักงานขับรถ 

ผลสำเร็จจากการเจรจาเรียกร้องการขึ้นค่าแรงที่นำโดย Rengo (เร็งโง) สมาพันธ์แรงงานที่ทรงอิทธิพลของญี่ปุ่นในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทำให้อัตราการขึ้นค่าจ้างของญี่ปุ่นสูงถึง 3.69% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 30 ปี ดังนั้น สำหรับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางที่ต้องการขึ้นค่าจ้างอย่างยั่งยืน ก็ย่อมจำเป็นที่จะต้องได้รับอนุญาตให้ขึ้นราคาสินค้าและบริการเช่นกัน