9 พฤษภาคม “วันยุโรป” จุดเริ่มต้น “สหภาพยุโรป” ฟื้นจากสงครามสู่ความรุ่งเรืองครั้งใหม่ 

สหภาพยุโรป
ธงสหภาพยุโรป (EU) หน้าอาคารคณะกรรมาธิการยุโรป (ภาพโดย Johanna Geron/ REUTERS)

วันที่ 9 พฤษภาคมเป็น “วันยุโรป” (Europe Day) ซึ่งเป็นวันเฉลิมฉลองสันติภาพและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของหลายประเทศในทวีปยุโรปที่ได้รวมตัวกันเป็น “สหภาพยุโรป” (European Union : EU) หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นวันเกิดของสหภาพยุโรป 

ตลอดระยะเวลาอันยาวนานในเส้นประวัติศาสตร์โลก ยุโรปเป็นพื้นที่ศูนย์กลางความเจริญรุ่งเรืองของโลกมาหลายยุคหลายสมัย แม้ความรุ่งเรืองในยุโรปเสื่อมสลายลงหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็สามารถฟื้นคืนกลับมารุ่งเรืองได้ทุกครั้ง 

ในประวัติศาสตร์ยุโรปยุคใหม่ก็เช่นกัน ยุโรปบาดเจ็บและสูญเสียไปมากจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนที่จะฟื้นตัวเองกลับมาเจริญรุ่งเรือง มีบทบาทต่อระเบียบโลก และเป็นกลุ่มประเทศที่ประชาชนในประเทศมี “คุณภาพชีวิตดี ๆ” อย่างที่เราได้เห็นในปัจจุบัน 

จุดเริ่มต้นของสหภาพยุโรปเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ในขณะที่ประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรปยังคงต้องดิ้นรนเพื่อที่จะเอาชนะหายนะที่เกิดจากสงครามโลก มีการผลักดันแนวคิดที่จะร่วมกันป้องกันไม่ให้เกิดสงครามอันเลวร้ายขึ้นในทวีปยุโรปอีก พร้อมกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจแก่ประเทศสมาชิก 

ในวันที่ 9 พฤษภาคม 1950 (พ.ศ. 2493) ซึ่งนับเป็นเวลา 5 ปี หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 โรแบร์ต ชูมัน (Robert Schuman) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศสกล่าวสุนทรพจน์เสนอให้มีการตั้ง “ประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้าแห่งยุโรป” (European Coal and Steel Community : ECSC) ซึ่งสมาชิกจะรวมการผลิตถ่านหินและเหล็กกล้าเข้าด้วยกัน เป็นนโยบายเพื่อควบคุมการผลิตวัตถุดิบที่อาจนำไปสู่การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมสงคราม โดยมีผู้ร่วมก่อตั้งจำนวน 6 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมนีตะวันตก อิตาลี เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และลักเซมเบิร์ก 

Advertisment

ชูมันได้หว่านเม็ดพันธุ์แห่งความคิดที่ว่า หากประเทศต่าง ๆ ในยุโรป โดยเฉพาะประเทศที่เคยเป็นศัตรูกันสามารถร่วมกันจัดการอุตสาหกรรมถ่านหิน เหล็ก และเหล็กกล้า ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญในการทำสงครามเข้าด้วยกันได้ พวกเขาอาจหลุดพ้นจากกลียุคแห่ง “สงครามกลางเมืองยุโรป” ที่เกิดขึ้นทุก ๆ 50 ปีอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่าหลายร้อยปีแล้วก็เป็นได้ 

ในเวลาต่อมา สุนทรพจน์ดังกล่าวถือเป็นการประกาศ “ปฏิญญาชูมัน” (Schuman Declaration) ซึ่งถูกยกย่องให้เป็นจุดเริ่มต้นการก่อตั้งสหภาพยุโรป   

ชูมันมีความคิดว่า การผสานผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจะช่วยยกระดับมาตรฐานการดำรงชีพของชาวยุโรป และเป็นก้าวแรกสู่การสร้างยุโรปที่เป็นหนึ่งเดียวกันมากยิ่งขึ้น ซึ่งในเวลาต่อมา สมาชิกก่อตั้งของ ECSC ได้เปิดให้ประเทศอื่น ๆ เข้าเป็นสมาชิก 

ในวันที่ 25 มีนาคม 1957 (พ.ศ. 2500) 6 ประเทศผู้ก่อตั้ง ECSC ซึ่งประกอบด้วยฝรั่งเศส เยอรมนีตะวันตก อิตาลี เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และลักเซมเบิร์ก ได้ลงนามใน “สนธิสัญญาโรม” (Treaty of Rome) หรือ “สนธิสัญญาจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรป” ซึ่งเป็นความตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งนำไปสู่การก่อตั้ง “ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป” (European Economic Community : EEC) ให้เป็นทั้งตลาดร่วมและสหภาพศุลกากร โดยให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 1958 

Advertisment

นอกจากนั้น ในวันที่ลงนามในสนธิสัญญากรุงโรมนั้น ยังมีการลงนามข้อตกลงอีกฉบับหนึ่งในการตั้งประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรป (EURATOM) เพื่อความร่วมมือในการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ด้วย 

ต่อมาในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 1992 มีการลงนามในสนธิสัญญามาสทริชต์ (Maastricht Treaty) หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า “สนธิสัญญาว่าด้วยสหภาพยุโรป” ซึ่งคำว่า “เศรษฐกิจ” ถูกลบออกไป เหลือเพียง “ประชาคมยุโรป” เพื่อสะท้อนถึงการรวมตัวเพื่อความร่วมมือที่ครอบคลุมหลายด้าน ไม่จำกัดเพียงด้านเศรษฐกิจเท่านั้น 

สนธิสัญญามาสทริชต์ มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 1993 ซึ่งนับว่าในวันนั้นเป็นวันก่อตั้งสหภาพยุโรป และเป็นวันเริ่มก่อตั้งสกุลเงินเดี่ยวที่ใช้ร่วมกัน คือ “ยูโร” (Euro) 

ถึงอย่างนั้นก็ตาม สหภาพยุโรปไม่ได้นับเอาวันที่ 1 มกราคม (1993) เป็นวันก่อกำเนิด แต่ได้หวนกลับไปให้เกียรติและเฉลิมฉลองการประกาศปฏิญญาชูมัน ในวันที่ 9 พฤษภาคม 1950 อันเป็นจุดเริ่มต้นที่แท้จริงเป็นวันเกิดของสหภาพยุโรป และยกให้เป็น “วันยุโรป” ที่จะเฉลิมฉลองและรำลึกในทุก ๆ ปี  

ต่อมาสมาชิกสหภาพยุโรปตระหนักถึงความจำเป็นในการปรับปรุงโครงสร้างเพื่อตอบสนองกระบวนการบูรณาการภายในสหภาพยุโรปที่ก้าวหน้าขึ้น และเพื่อเพิ่มบทบาทของสหภาพยุโรปในประชาคมโลก ในวันที่ 13 ธันวาคม 2007 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจึงได้ลงนามใน “สนธิสัญญาลิสบอน” (Lisbon Treaty) ให้ความเห็นชอบในการสละอำนาจอธิปไตยบางส่วนให้แก่ความร่วมมือเหนือชาติ (Supranational Cooperation) โดยให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธันวาคม 2009  

อำนาจอธิปไตยบางส่วนที่ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปสละให้แก่ความร่วมมือเหนือชาติ ประกอบด้วย (1) สหภาพศุลกากร (2) การออกกฎระเบียบด้านการแข่งขัน (3) นโยบายด้านการเงิน สำหรับรัฐสมาชิกสหภาพยุโรปที่ใช้สกุลเงินยูโร (4) การอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพทางทะเลภายใต้นโยบายร่วมด้านประมง และ (5) นโยบายการค้าร่วม 

กล่าวโดยสรุปได้ว่า สหภาพยุโรปถือกำเนิดจากเถ้าถ่านของสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีรากฐานมาจากความพยายามที่จะสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน 

ผ่านมาหลายสิบปี จาก “ประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้าแห่งยุโรป” สู่ “สหภาพยุโรป” มีการพัฒนาความร่วมมือตั้งแต่เรื่องถ่านหินและเหล็กกล้า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การค้า สกุลเงินร่วม การพัฒนาที่ยั่งยืน และอื่น ๆ อีกมากมาย 

จากสมาชิกแรกเริ่มก่อตั้ง 6 ประเทศ ปัจจุบันสหภาพยุโรปมีสมาชิก 27 ประเทศ (โครเอเชียเป็นประเทศสุดท้ายที่เข้าเป็นสมาชิกเมื่อปี 2013 สหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกเมื่อปี 2020) มีสมาชิก 19 ประเทศที่ใช้สกุลเงิน “ยูโร” ร่วมกัน ซึ่ง 19 ประเทศนั้นถูกเรียกว่า “ยูโรโซน” 

โครงสร้างการทำงานของสหภาพยุโรปประกอบด้วย 4 สถาบันหลัก ได้แก่ (1) คณะกรรมาธิการยุโร (European Commission) เป็นคณะกรรมการบริหารสหภาพยุโรป (2) คณะมนตรียุโรป (European Council) เป็นเวทีการประชุมผู้นำของประเทศสมาชิก (3) คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (Council of the European Union) เป็นองค์กรตัดสินใจหลักของสหภาพยุโรป กล่าวคือเป็นรัฐมนตรีด้านต่าง ๆ ของสหภาพยุโรป และ (4) สภายุโรป (European Parliament) เป็นสภานิติบัญญัติของสหภาพยุโรป

ปัจจุบันสหภาพยุโรปในฐานะตลาดเดี่ยวมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก (รองจากสหรัฐอเมริกา) คาดว่ามูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปี 2024 จะอยู่ที่ 19.35 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีบทบาทนำในประเด็นต่าง ๆ ของโลก เช่น บทบาทการเป็นผู้ออกกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ก้าวหน้า เป็นต้นแบบของประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก และเป็นกำลังหลักในการผลักดันความร่วมมือต่าง ๆ ทั้งด้านสิทธิมนุษยชน สันติภาพ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม