ADB ชี้ CBAM ของอียู ลดโลกร้อนได้ไม่มาก แต่ “ส่งออก” เอเชียเจ็บแน่

มาตรการการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM)

สหภาพยุโรป (EU) ใช้ “มาตรการการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน” (CBAM) หรือ “ภาษีคาร์บอน” เป็นกลไกผลักดันการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในกระบวนการผลิตสินค้า แต่ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ระบุว่า CBAM ของสหภาพยุโรปจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่เป็นตัวการทำให้โลกร้อนได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

สำหรับกลไกการทำงานของมาตรการการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) นั้น สหภาพยุโรปจะเก็บภาษีจากสินค้านำเข้าตามปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่เกิดจากการผลิตสินค้านั้น ๆ โดยเก็บตาม “ส่วนต่าง” ระหว่างราคาคาร์บอนเครดิตของสหภาพยุโรปและราคาของประเทศต้นทาง หากสินค้านั้นผลิตในประเทศที่ไม่มีการเก็บราคาคาร์บอน ก็จะต้องจ่ายภาษีให้อียูเต็มตามราคาของอียู แต่หากประเทศต้นทางมีการเก็บไปแล้วก็จะหักลบออกจากราคาคาร์บอนในอียู

มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ของยุโรปถูกนำมาใช้เพื่อแก้ไขข้อกังวลที่ว่า การใช้สินค้าหรือชิ้นส่วนที่ผลิตนอกสหภาพยุโรปจะทำให้ห่วงโซ่อุปทานส่วนใหญ่ของสหภาพยุโรปอยู่นอกขอบเขตของระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ETS)

ในขณะเดียวกัน วัตถุประสงค์ที่สำคัญมากพอกันของ CBAM ก็คือ มันถูกออกแบบมาเพื่อยกระดับการแข่งขันของอุตสาหกรรมในอียู โดยการให้ซัพพลายเออร์จากต่างประเทศต้องจ่ายราคาคาร์บอนในอัตราเดียวกันกับผู้ผลิตในอียู ซึ่งก่อนหน้าจะมี CBAM ผู้ผลิตในอียูประสบปัญหาว่า การผลิตสินค้าในอียูมีต้นทุนสูงกว่าสินค้านำเข้า เพราะต้องจ่ายราคาคาร์บอน ทำให้ผู้ผลิตในอียูมีความสามารถในการแข่งขันน้อยลง

หลังจากที่อียูเริ่มประกาศว่าจะใช้มาตรการ CBAM มาตรการนี้ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์และมีข้อโต้แย้งออกมาให้เห็นอยู่หลายประเด็น อย่างเช่น การวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเพียงมาตรการกีดกันทางการค้า เป็นการปกป้องเศรษฐกิจอียู และเพิ่มต้นทุนทางการค้าอย่างไม่จำเป็น ไปจนถึงการตั้งคำถามถึงความโปร่งใส และตรวจสอบได้ของกระบวนการใช้มาตรการ

ล่าสุดธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เป็นอีกสถาบันที่มีความเห็นต่อ CBAM โดยกล่าวในรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2024 ว่า แผนการของสหภาพยุโรปที่จะเก็บภาษีการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนสูง อาจส่งผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย แต่ไม่น่าจะนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มาก

ADB คาดว่า CBAM จะทำให้การส่งออกของเอเชียไปยังสหภาพยุโรปลดน้อยลง โดยเฉพาะจากภูมิภาคเอเชียตะวันตกและภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ โดย “เหล็ก” จากอินเดียเป็นสินค้าที่มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบด้วย

ส่วนปริมาณก๊าซคาร์บอนที่ลดการปล่อยลงได้เพียงเล็กน้อยนั้น จะถูกชดเชยอย่างรวดเร็วด้วยการเพิ่มการผลิตที่ปล่อยคาร์บอนเข้มข้นอย่างต่อเนื่องทั่วเอเชีย ขณะที่ความต้องการสินค้าทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้น

นีล ฟอสเตอร์-แม็กเกรเกอร์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ ADB กล่าวว่า จริง ๆ แล้ว CBAM เป็นนโยบายที่ค่อนข้างจำกัดในเวลานี้ เพราะมันใช้เฉพาะกับการนำเข้าของสหภาพยุโรปตลาดเดียว และครอบคลุมเพียง 6 ภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น

“ในวิถีที่ขนาดการผลิตเพิ่มขึ้น แม้ว่าเราจะกำหนดราคาคาร์บอนในวงกว้างทั่วโลก แต่คุณยังคงจะเห็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น เว้นแต่เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในเทคนิคการผลิต”

เขาบอกอีกว่า CBAM จะสามารถระดมเงินได้ประมาณ 14,000 ล้านยูโร (ประมาณ 544,740 ล้านบาท) ภายในปี 2030 และควรนำเงินนี้ไปเป็นเงินทุนสำหรับช่วยประเทศกำลังพัฒนาให้สามารถเปลี่ยนผ่านการผลิตจากแบบเดิมไปสู่การผลิตที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน

ทั้งนี้ เนื่องจากเป้าหมายประการหนึ่งของ CBAM คือการสร้างแรงจูงใจให้ประเทศที่อยู่นอกสหภาพยุโรปกำหนดนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศที่เข้มงวดขึ้นด้วยตนเอง

นั่นทำให้บางประเทศเริ่มขยับที่จะเก็บภาษีที่ต้นทาง ให้เงินส่วนนี้อยู่ในประเทศของตนดีกว่าให้สินค้าต้องไปจ่ายภาษีที่ประเทศปลายทาง อย่างอินเดียที่ได้หารือถึงความเป็นไปได้ในการจัดเก็บภาษีส่งออกสำหรับสินค้าที่ส่งขายยุโรป ซึ่งอยู่ในรายการที่กำหนดใน CBAM แล้ว ขณะที่จีนกำลังขยายระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ETS) ให้ครอบคลุมสินค้าส่งออกที่จะได้รับผลกระทบจาก CBAM อย่างเช่น เหล็ก