ญี่ปุ่นเดินหน้านโยบายดอกเบี้ยต่ำ ตรึงไว้ที่ -0.1% ดันเยนอ่อนค่า

ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)
ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) (Photo by JIJI PRESS / AFP) / Japan OUT

ธนาคารกลางญี่ปุ่น เดินหน้านโยบายดอกเบี้ยสวนทางอเมริกา ยุโรป ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น -0.1% พร้อมซื้อพันธบัตรและตราสารทุนเพิ่มขึ้น ส่งผลเงินเยนเทียบดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า 

วันที่ 17 มิถุนายน 2565 นิกเคอิเอเชีย รายงานระบุว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ ยังคงรักษานโยบายการเงินของตัวเอง แม้แนวโน้มการเงินทั่วโลกตึงตัว เพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น

โดยบีโอเจกำหนดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นให้ติดลบ 0.1% และอัตราดอกเบี้ยระยะยาวอยู่ที่ประมาณศูนย์ พร้อมกับซื้อพันธบัตรรัฐบาลและตราสารทุน

ส่งผลให้เงินเยนญี่ปุ่นร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 24 ปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์ในสัปดาห์นี้ เนื่องจากช่องว่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐยังคงขยายกว้างขึ้น

การอ่อนค่าของเงินเยนทำให้เกิดความกังวลว่าจุดยืนของธนาคารกลางญี่ปุ่นกำลังทำให้เงินเฟ้อรุนแรงขึ้นและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากกว่า

ก่อนการตัดสินใจในวันนี้ของ BOJ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของญี่ปุ่นพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 ปี โดยเพิ่มขึ้นเป็น 0.265% ในการซื้อขายช่วงแรก ๆ และอยู่เหนือนโยบายควบคุมอัตราผลตอบแทนของธนาคารกลางที่จำกัดไว้ที่ 0.25%

นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น กล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า เขาตั้งใจจะดำเนินนโยบายการเงินอย่างอดทน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรลุอัตราเงินเฟ้อ 2% ที่มั่นคง ซึ่งยังคงเป็นเรื่องยากในญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาผู้บริโภคหลักของประเทศ ซึ่งไม่รวมรายการอาหารสด เพิ่มขึ้นในเดือนเมษายนเหนือเป้าหมายของบีโอเจที่ 2.1% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า รวมทั้งอาหารสด อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ที่ 2.5%

ส่วนรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะกำลังเผชิญกับการเลือกตั้งสภาสูงในวันที่ 10 กรกฎาคมนี้ โดยคะแนนความนิยมของคิชิดะยังคงอยู่ในระดับสูง แต่เพิ่งได้รับผลกระทบ เนื่องจากความไม่พอใจของสาธารณชนจากค่าเงินเยนที่อ่อนค่าและเงินเฟ้อ

การรักษาจุดยืนนโยบายการเงินของบีโอเจทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลง เนื่องจากนักลงทุนย้ายเงินออกจากญี่ปุ่นไปยังประเทศอื่น ๆ ที่พวกเขาคาดหวังผลตอบแทนที่ดีกว่าได้

ดัชนีหุ้นนิกเคอิร่วงลงมากกว่า 700 จุด เมื่อเปิดตลาดเช้าวันศุกร์เทียบดัชนีปิดของวันก่อนหน้า ซึ่งลดลงเกือบ 2.7%  หุ้นหลักซึ่งรวมถึงโตโยต้ามอเตอร์ และซอฟต์แบงก์ กรุ๊ป มีมูลค่าซื้อขายต่ำลง

ส่วนเมื่อวันพฤหัสบดี (16 มิ.ย.) ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษได้ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ย เป็นครั้งที่ 5 ติดต่อกัน ขณะที่ธนาคารแห่งชาติสวิสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี เป็นลบ 0.25% จากเดิมลบ 0.75%

ธนาคารกลางอื่น ๆ ได้ปรับนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นในขณะที่พวกเขาพยายามลดอัตราเงินเฟ้อ ในสหรัฐอเมริกา ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% เมื่อในวันพุธที่ผ่านมา เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของผู้บริโภคพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 40 ปี มาอยู่ที่ 8.6% ธนาคารกลางยุโรปยังตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนหน้า