ก้าวให้เร็วกว่า “มิจฉาชีพ”

มิจฉาชีพ แอปดูดเงิน
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : อำนาจ ประชาชาติ

มุมหนึ่งก็น่ายินดี หลังทราบข้อมูลจากฝ่ายกำกับและตรวจสอบความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้ว่า ความเสียหายจาก “แอปพลิเคชั่นดูดเงิน” มีแนวโน้มลดลง

โดยในเดือน ก.ย. 2566 พบว่าจำนวนผู้เสียหายลดลงกว่า 30% เมื่อเทียบกับต้นปี และมูลค่าความเสียหายลดลง 53% ทั้งนี้ ตัวเลขจำนวนผู้เสียหาย ณ เดือน ก.ย. 2566 อยู่ที่ 1,300 ราย และมูลค่าความเสียหายอยู่ที่ 85 ล้านบาท

“ตัวเลขของแบงก์ต่าง ๆ มีทิศทางลดลงหมด”

ขณะที่ตัวเลขการอายัดเงินจากบัญชีผู้กระทำผิดเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 20.6% หรือสามารถอายัดเพิ่มขึ้น 5 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเดือน มี.ค. 2566 ที่ขณะนั้นมีการอายัดเงินอยู่ที่ 3.9% ของหมายที่มีการแจ้งให้ธนาคารอายัด

สถิติเหล่านี้เกิดขึ้นภายหลังการบังคับใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566

โดยคุณ “ภิญโญ ตรีเพชราภรณ์” ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ธปท. อธิบายว่า

ADVERTISMENT

“การอายัดที่เพิ่มขึ้นจากราว 4% เป็น 20% น่าจะมาจาก 2 ส่วนคือ พ.ร.ก.ที่ทำให้เหยื่อสามารถ โทร.ไปที่ธนาคาร เพื่ออายัดและระงับบัญชีธุรกรรมได้ทันที เพราะจากเดิมจะต้องไปแจ้งตำรวจ อันนี้ก็สามารถลดเวลา และด้วยมาตรการสแกนใบหน้า ทำให้บัญชีม้าจากเดิมที่สามารถโอนเงินได้เต็มวงเงิน แต่พอมีมาตรการสแกนใบหน้า ทำให้ไม่สามารถโอนเงินได้เต็มวงเงิน โดยโอนได้ไม่เกิน 2 แสนบาทต่อวัน ทำให้เงินที่ค้างอยู่สามารถระงับได้ทัน”

นอกจากนี้ ภาครัฐมีการตั้งศูนย์ต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์ ที่เรียกว่า “AOC” หรือ Anti Online Scam Operation Center ซึ่งจะรวมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน สามารถแจ้งดำเนินการอายัดบัญชีไปที่เบอร์เดียว คือ โทร.1441 โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือน พ.ย.นี้ เป็นต้นไป

ADVERTISMENT

ก็น่ายินดีที่มาตรการที่พยายามทำกันดูจะได้ผล แต่อีกมุมหนึ่งก็คือ “มิจฉาชีพไม่หยุดนิ่ง” ยังพยายามหากลโกง วิธีการหลอกลวงใหม่ ๆ อยู่ตลอด ล่าสุดมีการอ้างว่า โทร.จากแบงก์บ้าง หลอกให้สแกนหน้าบ้าง ฯลฯ เรียกได้ว่า สารพัดจะสรรหามาหลอกลวง

นอกจากการหลอกลวงเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ทั่วไปแล้ว ทุกวันนี้ในตลาดทุนก็มีการหลอกลวงมากไม่แพ้กัน

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แถลงเปิด “สายด่วนแจ้งหลอกลงทุน” โทร.1207 กด 22 สำหรับเป็นช่องทางในการรับแจ้งเบาะแสการหลอกลวงในตลาดทุนจากประชาชนได้โดยตรง

โดยผนึกกำลังพันธมิตรในตลาดทุนร่วมแจ้งเบาะแส และประสานความร่วมมือกับศูนย์ AOC กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มุ่งเป้าเร่งปิดบัญชีม้า รวมทั้งผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ในการปิดกั้นเนื้อหาของมิจฉาชีพโดยเร็ว เพื่อช่วยเหลือประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ และป้องกันความเสียหายจากการถูกหลอกลวงลงทุน

ทั้งหมดนี้ หน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องก็คงต้อง “ตามให้ทัน” และต้องทำงาน “เชิงรุก” มากขึ้น อย่าไปรอ “ตั้งรับ” อย่างเดียว…ต้อง “ก้าว” ให้เร็วกว่ามิจฉาชีพ ประชาชนถึงจะอุ่นใจได้ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แถลงเปิด “สายด่วนแจ้งหลอกลงทุน” โทร.1207 กด 22 สำหรับเป็นช่องทางในการรับแจ้งเบาะแสการหลอกลวงในตลาดทุนจากประชาชนได้โดยตรง

โดยผนึกกำลังพันธมิตรในตลาดทุนร่วมแจ้งเบาะแส และประสานความร่วมมือกับศูนย์ AOC กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มุ่งเป้าเร่งปิดบัญชีม้า รวมทั้งผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ในการปิดกั้นเนื้อหาของมิจฉาชีพโดยเร็ว เพื่อช่วยเหลือประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ และป้องกันความเสียหายจากการถูกหลอกลวงลงทุน

ทั้งหมดนี้ หน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องก็คงต้อง “ตามให้ทัน” และต้องทำงาน “เชิงรุก” มากขึ้น อย่าไปรอ “ตั้งรับ” อย่างเดียว…ต้อง “ก้าว” ให้เร็วกว่ามิจฉาชีพ ประชาชนถึงจะอุ่นใจได้