“อสังหา” ตีลังกา

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย สมถวิล ลีลาสุวัฒน์

 

วันก่อนนั่งแท็กซี่กลับบ้านฝั่งธนฯ ตั้งใจงดขึ้น “ทางด่วน” ของ “เสี่ยปลิว” หนึ่งวัน แล้วขอให้โชเฟอร์ใช้เส้นทางดั้งเดิมจาก “ประชาชื่น” ข้ามสะพานพระราม 7 วิ่งตรงลอดอุโมงค์แยกท่าพระ ตัดตรงเข้าแยกมไหสวรรย์ เลี้ยวขวาตากสิน สุขสวัสดิ์ ราษฎร์บูรณะ

เวลาช่างดีงามแท้ แค่ 40 นาที แลกกับเงิน 200 บาท

การผ่านถนนจรัญสนิทวงศ์มาได้อย่างโล่ง ถือเป็น “ฟ้าหลังฝน” หลังรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน “บางซื่อ-ท่าพระ” สร้างเสร็จ

ขาดแต่ระบบรถที่จะเปิดวิ่งปลายปี 2562-มีนาคม 2563 ภาวนาให้สำเร็จ อย่าบัวแล้งน้ำแบบ “สายสีม่วง”

กว่าถนนจรัญฯจะเข้าสู่สภาพปกติ ก็ต้องทนทุกข์กับงานก่อสร้างตอม่อมานานหลายปี ทำเอา “ตึกแถว” สองข้างทาง กลายสภาพเป็น “ตึกร้าง” ไร้ราคา แม้จะมี “รถไฟฟ้า” อยู่ตรงหน้า คงต้องใช้เวลา “ปลุกทำเล” พอสมควร หลังรถไฟฟ้าเปิดใช้ โดยมีพี่ใหญ่ “โฮมโปร” กรุยทางเปิดสาขาใหม่ไปแล้ว

แลนด์สเคปเมืองที่แปรเปลี่ยน ไม่ต่างจาก “ลาดพร้าว” ยัน “บางกะปิ” ที่ต้องเจอรถติดนาน 3 ปี เพื่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง “ลาดพร้าว-สำโรง”

“อาคารพาณิชย์” ริมถนนบอบช้ำไปตาม ๆ กัน แห่ปิดป้ายเซ้งขายกิจการก็ดูมืดมน เศรษฐกิจซึมลึก ของใหญ่ขายยาก

กระแสเทคโนโลยีดิสรัปต์หรือทำลายล้างเกือบทุกสิ่งในโลก แม้แต่พฤติกรรมที่เชื่อมโยงมากับ “อสังหาริมทรัพย์” เก่าใหม่

นั่นคือ ชีวิตความเป็นอยู่ เริ่มแปรเปลี่ยนด้วย “สภาพ” 

real estate ยังคงเป็น “ธุรกิจ” แบบ real ที่ต้องปรับตัวไปตามสภาพแวดล้อม

เมื่อ “อสังหาฯ” เจอภาวะขาลง คอนโดฯล้นตลาด

ส่ออาการ “ฟองสบู่” เมื่อซัพพลายดีมานด์ไม่สัมพันธ์กัน

โบรกเกอร์ข้ามชาติ Knight Frank และ CBRE ก็มองว่า “ปีนี้ตลาดคอนโดมิเนียมชะลอตัวชัดเจน” 

คอนโดฯใหม่ในกรุงเทพฯเพิ่มขึ้น 11% จากปี 2560 ถือว่า “มากสุด” นับตั้งแต่ปี 2552 ขณะที่ความต้องการซื้อมีแค่ 55%

ศูนย์อสังหาริมทรัพย์ ธอส.ก็ระบุชัด โครงการทุกประเภทที่อยู่ระหว่างขายมี 1,597 โครงการ รวม 492,436 หน่วย

ท่ามกลางภาวะกำลังซื้อที่ลดลง อสังหาฯเลย “ขายไม่ออก” 

กระทรวงการคลังจึงปรับลดคาดการณ์การเติบโตว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวช้าที่สุดในรอบ 3 ปี

เพราะไทยกำลังเผชิญกับภาวะการส่งออกที่ชะลอตัว

กำลังเผชิญกับความเสี่ยงทางการเมืองหลังเลือกตั้ง

กำลังเผชิญกับผลกระทบโดยตรงโดยอ้อมจากสงครามการค้า “จีน-สหรัฐ”

ที่ลึกลงไปในเรียลเซ็กเตอร์ “ภาคอสังหาฯ” กำลังเผชิญกับกฎเหล็ก การให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมา

ด้วยการเข้มงวดเรื่องการขอกู้ซื้อบ้านหลังที่ 2

เป็นมาตรการ “ป้องกัน” ของแบงก์ชาติในรอบหลายปี

บางคนด่าทอ บางคนเชียร์ แล้วแต่มุมมอง

ที่แน่ ๆ หุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทรุดไปตาม ๆ กัน

ไม่ต่างจาก “ห้องแถว” ริมถนนที่รถไฟฟ้ากำลังสร้าง

ที่ลึกไปกว่านั้น คือ “ตลาดคนจีน” ที่หายไป

ทำให้ “กำลังซื้อ” วูบอย่างเห็นได้ชัด

ที่ผ่านมาอสังหาฯไทยเติบโตได้ เพราะกำลังซื้อจากคนจีน

ปัจจุบันกำลังซื้อของนักลงทุนชาวจีนลดลงเรื่อย ๆ เนื่องจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวมาพักใหญ่ รวมถึงการควบคุมเงินทุนไหลออกนอกประเทศจีนด้วย

ผู้ประกอบการจึงกังวลกับเรื่องนี้มาก

เพราะอสังหาฯไทยต้องพึ่งพากำลังซื้อจากต่างชาติในระดับหนึ่ง

เมื่อปัญหาก่อเกิดจากน้ำผึ้งหยดเดียว ความผันผวนก็ตลบอบอวล

สิ่งเดียวที่ทำได้ คือ “คิดบวก” 

คิดแบบตีลังกา และรอวันฟื้นกลับ

เพราะวงจรของธุรกิจนี้ “มีขึ้น-มีลง” ตามรอบ

เหมือนเกิด แก่ เจ็บ ตาย

โดยรอให้ถึง “จุดเปลี่ยน”

ให้โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เกิดขึ้นเร็วและจริง

รอให้คนไทยหมดภาระหนี้สิน และมีเครดิตที่ดี

ให้พ้นช่วงเวลาของความ “ยากลำบาก” 

โดยไม่มีใครบาดเจ็บเลือดสาด หรือสะดุดขาตัวเอง