อาร์เซ็ปเปิดโอกาสการค้า-ลงทุน

บทบรรณาธิการ

การประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซ็ป (RCEP) สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ กับรัฐมนตรีเศรษฐกิจ 6 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา ใช้เวลายาวนานกว่าจะได้ข้อสรุป

ก่อนการประชุมอาร์เซ็ป ซัมมิต และประกาศความสำเร็จในการเจรจาอาร์เซ็ปในวันที่ 4 พ.ย. ปิดดีลอาร์เซ็ปที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2556 เป็นผลงานชิ้นโบแดงของไทยก่อนส่งต่อประธานอาเซียนให้เวียดนาม

แม้ผลการเจรจาอาร์เซ็ปยังไม่บรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ทั้งหมด แถลงการณ์หลังการประชุมจึงออกมา 15 ประเทศ บวก 1 เนื่องจากอินเดียขอสงวนข้อตกลงบางประเด็นไว้ เพราะกังวลผลกระทบกับสินค้าบางประเภท แต่อย่างน้อยอาร์เซ็ปก็คืบหน้าได้เวลาเริ่มต้นนับหนึ่ง

ล่าช้ากว่าเดิมที่ตั้งความหวังไว้ว่า จะเจรจากรอบอาร์เซ็ปให้บรรลุความตกลงได้ภายในปี 2558 หรือเมื่อ 4 ปีก่อน แต่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ แม้ทั้ง 16 ประเทศต้องการให้อาร์เซ็ปเกิดขึ้นได้เป็นรูปธรรม

อย่างไรก็ตาม แรงกดดันจากความผันผวนไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจ การเมืองโลก ที่ปัจจัยลบมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้อาร์เซ็ปกลายเป็นหนึ่งในทางเลือกดีที่สุดที่จะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส

การประชุมอาร์เซ็ปครั้งนี้นอกจากเป็นไปตามเป้าหมายและเจตนารมณ์ของไทย ที่พยายามผลักดันให้อาร์เซ็ปเกิดขึ้นเป็นทางการแล้ว ในส่วนอินเดียซึ่งกังวลกับการต้องเปิดตลาด ลดภาษี และมาตรการกีดกันทางการค้าให้กับสมาชิกอาร์เซ็ปยังพร้อมร่วมวงเจรจาต่อ

จากนี้ไปจึงต้องจับตาดูว่าอาเซียนกับคู่เจรจา 5 ชาติจะสามารถหาข้อสรุปในการเจรจากับยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียรายนี้ภายใต้กรอบอาร์เซ็ปได้สำเร็จหรือไม่ เพราะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นสิ่งท้าทายและต้องใช้เวลา

ขณะเดียวกันสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ชาติ ต้องผนึกกำลังเร่งผลักดันอาร์เซ็ปให้บรรลุข้อตกลงได้อย่างเต็มรูปแบบ เพราะหากสำเร็จอาร์เซ็ปจะถือเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งในแง่จำนวนประชากรรวมแล้วกว่า 47.4% ของจำนวนประชากรทั้งโลก มูลค่าเศรษฐกิจรวม 32.2% ของมูลค่าเศรษฐกิจโลก มีสัดส่วนการค้า การลงทุนระหว่างประเทศ รวม 29.1% และ 32.5%

ช่วยเพิ่มศักยภาพและอำนาจในการเจรจาต่อรองด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนได้มหาศาล ท่ามกลางปัจจัยลบ เศรษฐกิจ การเมืองโลก วิกฤตสงครามทางการค้า สำคัญที่สุดคือภาครัฐและเอกชนไทยต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง จึงจะยืนอยู่ได้ในโลกยุคใหม่ สมรภูมิการแข่งขันใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม