คอลัมน์ เปิดมุมมอง
โดย ประดาป พิบูลสงคราม ทีมกรุ๊ป
เริ่มปีใหม่ เวียดนามได้เริ่มหน้าที่ประธานอาเซียนเป็นที่เรียบร้อย ด้วยคำขวัญ “เหนียวแน่นกลมกลืนและตอบสนอง” อันเป็นภารกิจที่หนักหน่วง ไทยนั้นตระหนักดีช่วงที่รับผิดชอบเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 300 ครั้ง รัฐมนตรี 10 สาขา พบกัน 11 ครั้ง ผู้นำหารือ 2 ครั้ง พร้อมคู่เจรจา 8 ประเทศ มีแถลงการณ์ข้อมูลข่าวสารมากมาย มีเกร็ดเล่าขาน ข้อวิจารณ์ และทัศนคติในแง่มุมที่หลากหลาย และสำหรับไทยจุดเด่นที่คาดหวังว่าจะเป็นที่จดจำ คือ “การปลูกฝังแนวทางเสริมสร้างประชาคมอาเซียนให้ยั่งยืนในทุกมิติ”
10 ปีที่แล้ว ไทยเป็นที่จดจำเพราะเป็นประธานของอาเซียนที่เพิ่งได้ให้การรับรองกฎบัตรฉบับแรก และรับผิดชอบในการพัฒนาสามเสาหลักให้มั่นคงเพื่อค้ำจุนประชาคม ตลอดจนแสดงให้โลกเห็นว่าอาเซียนเป็นประชาคมที่มีการเชื่อมโยงกันอย่างแท้จริง ยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนมีส่วนจุดประกายให้จีนริเริ่มโครงการ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง และกระแสตอบโต้ที่ตามมาจากการสร้างกลุ่มอินโด-แปซิฟิก
ปีที่แล้ว ในขณะที่อาเซียนและโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล อนาคตมีแต่ความผันผวนไม่แน่นอนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเมืองภายในของไทยเองก็มีการปรับตัวขั้นพื้นฐาน ผลงานของไทยในตำแหน่งประธานอาเซียนจึงอาจไม่เป็นที่ชัดเจนในสายตาสาธารณชนทั่วไปว่าจุดเด่นภายใต้การนำของไทย คือ ความพยายามที่จะวางพื้นฐานการสร้างประชาคมอาเซียนให้มีความยั่งยืนในทุกด้าน
เป้าหมายนี้จะกำหนดทิศทางของกิจกรรมในทุกสาขาความร่วมมือของอาเซียน ไทยให้ความสําคัญแนวทางนี้
เพราะเห็นว่าการอยู่รอดของอาเซียน ความแข็งแกร่งและขีดความสามารถในการเผชิญกับปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการสร้างประชาคมให้ยั่งยืนตามวิสัยทัศน์ของผู้นำอาเซียน ซึ่งเผยแพร่ในช่วงการประชุมสุดยอดเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2562 ประชาคมจะก้าวหน้าไปได้อย่างยั่งยืนจะต้องดำเนินมาตรการ 33 ข้อในด้านการเมืองความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคมวัฒนธรรม พอสรุปได้ดังนี้
ด้านการเมืองและความมั่นคง ไซเบอร์ต้องมีความปลอดภัย มีการบริหารจัดการชายแดนเพื่อสกัดปัญหายาเสพติด ค้ามนุษย์ ค้าสัตว์ป่าที่อนุรักษ์ และอาชญากรรมข้ามชาติ ต่อต้านการก่อการร้ายทุกรูปแบบ รักษาความปลอดภัยทางทะเลและน่านฟ้า ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ประสบเคราะห์กรรมจากระเบิดฝังดินและที่ตกค้างจากสงคราม
ด้านเศรษฐกิจ อาเซียนจะต้องผลักดันการเจรจากรอบความร่วมมืออาร์เซ็ป (RCEP) ให้บรรลุผล พัฒนาเมืองอัจฉริยะ เชื่อมโยงเครือข่ายของทุกกรอบความร่วมมือ เปิดใช้บริการ ASEAN Single Window และดำเนินการตามกรอบแผนปฏิบัติการปี 2558-2568 เพื่อรวมตัวด้านดิจิทัลภายในอาเซียน
ด้านสังคมและวัฒนธรรมจะต้องส่งเสริมเอกลักษณ์ของอาเซียน และทำให้ประชาชนมีความรู้สึกผูกพัน สนับสนุนกิจกรรมด้านวัฒนธรรม เตรียมพร้อมและแก้ไขปัญหาสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง เตรียมรับสังคมสูงวัย ปรับหลักสูตรอาชีวศึกษาให้สอดคล้องกัน และสนองความต้องการของตลาดแรงงาน
ปัจจัยเหล่านี้ผู้นำอาเซียนเห็นพ้องกันว่ามีผลกระทบต่อความยั่งยืนของประชาคม และไทยได้ตอกย้ำด้วยการจัดเวทีหารือพิเศษขึ้นระหว่างผู้นำอาเซียนกับคู่เจรจา รวมทั้งกรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟและเลขาธิการอาเซียน นอกจากนั้น ไทยยังได้รับเลือกให้เป็นที่ตั้งของศูนย์อาเซียน 7 ศูนย์ เพื่อสนับสนุนความร่วมมือการสร้างประชาคมที่ยั่งยืน
ได้แก่ ศูนย์ความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่นเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านความปลอดภัยไซเบอร์ ศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน ศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรม ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน คลังเก็บสิ่งของช่วยเหลือทางไกลของอาเซียน และศูนย์ฝึกอบรมด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม
ยุทธศาสตร์การสร้างประชาคมที่ยั่งยืนเป็นภาพใหญ่และจุดเด่น อย่างไรก็ดี ยังมีเกร็ดเรื่องราวที่สำคัญและสร้างสีสันอีกมากโดยเฉพาะ “การประชุมสุดยอดด้านธุรกิจและการลงทุน” จัดโดยภาคเอกชน และมีผู้นำหลายประเทศมาร่วมอภิปราย รวมทั้ง Duke of York แห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งทรงชี้ให้เห็นว่าสิ่งท้าทายสำหรับคนรุ่นใหม่ คือ “ความไม่แน่นอน” ซึ่งต่างกับคนรุ่นเก่าที่เฝ้าระวังแต่เรื่อง “ความเสี่ยง” และเด็กชาย
เฟอมี่ชาวอังกฤษซึ่งมีพรสวรรค์โดยสามารถเริ่มเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ และกำลังสร้างเครือข่ายในหมู่เด็กอาเซียน
หอการค้าอเมริกาในเอเชีย-แปซิฟิกได้จัดเวทีธุรกิจอินโด-แปซิฟิก ซึ่งรัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐ Wilbur Ross ได้เน้นว่าอเมริกาลงทุนในภูมิภาคเป็นอันดับหนึ่งจำนวนประมาณ 866,000 ล้านเหรียญ ส่วนจีนลงทุนกว่า 500,000 ล้านเหรียญ และส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในฮ่องกง
สำหรับเกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ผู้จัดการประชุมมีความภูมิใจ คือ สามารถลดการใช้พลาสติกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนได้กว่าล้านชิ้นโดยไม่ใช้ขวดน้ำ หลอดดูดกล่องโฟม ฝากล่อง และช้อนส้อม
ทุกปี ประธานอาเซียนจะพยายามแสดงความเป็นผู้นำและการมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลด้วยการผลักดันประเด็นที่โดดเด่น สำหรับไทย “ความยั่งยืนในทุกมิติ” คือเป้าหมายสูงสุด ซึ่งจะนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงของภูมิภาค ตลอดจนความผาสุกของประชาชน ต่อไปนี้ทุกโครงการของอาเซียนน่าจะต้องถูกคัดกรองโดยคำนึงผลลัพธ์ว่าจะมีส่วนทำให้ประชาคมยั่งยืนตามวิสัยทัศน์ของผู้นำหรือไม่