ในวิกฤตมีโอกาสเสมอ โดย ฐากูร บุนปาน

ภาพ: Lauren DeCicca/Getty Images
บทความโดย ฐากูร บุนปาน

สิ่งที่เราเผชิญหน้าร่วมกันอยู่ขณะนี้ คือ วิกฤตซ้อนวิกฤต ที่ซ้อนอยู่บนวิกฤตอีกที

วิกฤตโรคระบาดเข้ามาซ้ำเติมวิกฤตเศรษฐกิจ (ทั้งของไทยและของโลก) ที่เปราะบางอยู่แล้วให้สาหัสยิ่งขึ้น

และยิ่งลากยาวเท่าไหร่ ก็ทำให้วิกฤตสังคม อันเนื่องมาจากความไม่พอใจในความเหลื่อมล้ำ ความไม่เชื่อถือในประสิทธิภาพและประสิทธิผลของรัฐในการตอบสนองทุกข์สุขของประชาชน

ยิ่งเพิ่มมากขึ้น

ฟังดูเหมือนไร้ความหวัง

แต่ไม่จริง

เพราะไม่ว่าจะนานช้าขนาดไหน วันหนึ่งวิกฤตโรคระบาดและวิกฤตเศรษฐกิจก็จะผ่านไป

อาจเหลือวิกฤตสังคมที่เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ให้เราก้มหน้าก้มตาแก้ไขกันเป็นปกติต่อ

คำถามสำคัญก็คือ แล้วเราจะผ่านวิกฤตที่เป็นเหมือนอภิมหาสงครามนี้อย่างไร

ให้เสียหายหรือสะบักสะบอมน้อยที่สุด

เพื่อจะมีสติปัญญา กำลังกาย และทรัพยากรเพียงพอที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาและวิกฤตอื่น ๆ ที่รออยู่ได้

สำหรับระดับปัจเจกบุคคล สำหรับกิจการธุรกิจห้างร้าน

การดิ้นรนเอาตัวรอดนั้นเป็นสัญชาตญาณอยู่แล้ว

ถึงเห็นว่าจะตายก็ต้องขอสู้ดูสักตั้ง ไม่งอมืองอเท้าอยู่เฉย ๆ แน่นอน

ไม่แต่เท่านั้น ในวิกฤตที่เหมือนสงครามเช่นนี้ มีคนส่วนใหญ่เป็นผู้แพ้ แต่จะมีบางคนหรือบางส่วนเป็นผู้ชนะ หรือฝ่ายที่ได้ประโยชน์

ถ้าไม่ใช่เพราะอาศัยวิธีฉ้อฉล หรือใช้กลไกอำนาจแสวงหาประโยชน์โดยทางมิชอบ

เช่น อาศัยความเป็นคนใกล้ชิดผู้มีอำนาจกักตุนหน้ากาก หรือฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าอย่างไข่ ขึ้นโดยไม่มีเหตุผล

ความงอกงามที่เป็นปกติ หรือเกิดขึ้นเพราะทัศนคติทางบวก เพราะการใช้สติปัญญาจริง ๆ

ก็พอรับได้

หลายครั้งหลายอย่างก็มาเป็นบทเรียนให้คนอื่น หรือองค์กรอื่นได้

เช่น เมื่อทั้งโลกต้อง “ถือสันโดษ” อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนมากขึ้น

ธุรกิจที่งอกงามขึ้นมาตามธรรมชาติ เช่น การส่งอาหาร หรือสินค้าจำเป็น ถึงบ้าน

ถึงได้เกิดกรณีอเมซอนรับสมัครพนักงานเพิ่ม 100,000 ตำแหน่ง ในสหรัฐอเมริกา หรือ 7-11 รับสมัครพนักงานเพิ่ม 20,000 คน ในเมืองไทย

ธุรกิจโทรคมนาคมก็ขยายตัวตาม เพราะคนอยู่บ้าน คนว่างงาน (ทั้งถาวรและชั่วคราว) เสาะหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต-ออนไลน์มากขึ้น

อีคอมเมิร์ซยิ่งเฟื่องฟูมากขึ้น ยอดขายช้อปปี้เพิ่มขึ้น 400% ยอดขายลาซาด้าเพิ่มขึ้น 100%
แต่กรณีปัจเจกหรือเอกชน ไม่ใช่ประเด็นหลักของวันนี้

เพราะจริง ๆ ส่วนที่ควรจะพลิกวิกฤตกลับมาเป็นโอกาสมากที่สุดในวันนี้ คือ ภาครัฐ
ทั้งรัฐบาลและราชการ

ไม่มีเวลาไหนอีกแล้วที่จะเหมาะกับการ “รื้อ-สร้างใหม่” มากกว่าช่วงเวลาวิกฤต

ถ้าสามารถทำภาพใหญ่อย่างการลดขนาด ลดอำนาจ แต่เพิ่มประสิทธิภาพได้

ก็วิเศษ

แต่ในความเป็นจริง ขอแค่ท่านเริ่ม “คิดนอกกรอบ”

เปลี่ยนวิธีคิดจาก “ควบคุม” มาเป็น “ส่งเสริม” ได้บ้าง

ก็จะเป็นคุณเหลือหลายกับสังคมนี้

ตัวอย่างที่คิดเร็ว ๆ ได้ก็เช่น นอกจากจะมีมาตรการโอบอุ้มเกษตรกรให้พ้นวิกฤตเฉพาะหน้านี้แล้ว กระทรวงเกษตรฯ จะถือโอกาส “รื้อโครงสร้างการผลิต” ของภาคเกษตรไทยไปด้วยไหม

ข้อมูลเต็มไม้เต็มมือว่า อะไรผลิตล้น อะไรผลิตขาด อะไรราคาตกทั้งปีทั้งชาติ อะไรจะเป็นสินค้าของอนาคต
พื้นที่ไหนปลูกอะไรดี-ไม่ดี

จ้างให้เลิกผลิตของเก่า อัดความรู้เรื่องของใหม่

ดีไหม

กระทรวงดีอี ถ้าว่างจากไล่จับเฟกนิวส์ จะเข้าไปส่งเสริมชาวบ้าน หรือชุมชน ให้ค้าขายออนไลน์เพิ่มขึ้น เก่งขึ้น สะดวกขึ้น และต้นทุนไม่สูง จะได้สู้โลก ทันโลกได้อย่างไร

กระทรวงกลาโหม เห็นชัดเจนหรือยังว่า ภัยคุกคามของโลกยุคใหม่ ไม่ได้อยู่ที่อำนาจการรบ

แต่อยู่ที่เทคโนโลยี และโลกาภิวัตน์

จะถือโอกาสลดปืน ลดคน กลับมาเป็นกองทัพที่ “จิ๋วแต่แจ๋ว”

เอาเงินที่เหลือไปทำอย่างอื่นที่เกิดประโยชน์โภชผลกว่า

ดีไหม

กระทรวงแรงงาน จะยุบโต๊ะการอนุมัติงานให้แรงงานต่างด้าวจาก 14 ขั้นตอน ให้กระชับ สั้น ง่าย และไม่ขูดเลือดขูดเนื้อ (ที่เป็นช่องทางของการทำมาหากิน)

มาทำงานอบรม ให้ความรู้ เพิ่มสวัสดิการทั้งแรงงานไทยและเทศให้ดีขึ้น

เวลาที่เกิดวิกฤตหนต่อไป จะได้ไม่มีสภาพมหาโกลาหลอย่างนี้อีก

หรือไหน ๆ ก็ไหน ๆ ทั้งวิกฤตและขาดทุนบักโกรกขนาดนี้แล้ว

รัฐบาล-กระทรวงคมนาคม จะเอาอย่างไรกับการบินไทย

ยอมล้มละลาย เข้าโครงการฟื้นฟูกิจการ

เพื่อจะรื้อสร้างใหม่กันดีไหม

จะได้ไม่เป็นภาระกับคนทั้งชาติในอนาคต

ฯลฯ

คิดและทำได้ทั้งนั้นละครับ ถ้าอยากทำจริง และกล้าจริง

มีคิด ไม่ทำ โดยเฉพาะในเวลาที่ควรจะทำอย่างที่สุดนี้เล่าที่น่าเสียดาย

ถ้าพ้นวิกฤตไปโดยเราไม่ได้เรียนรู้อะไร ไม่ได้ปรับปรุงอะไรขึ้นมาเลย

เดี๋ยววิกฤตใหม่ก็ถาโถมเข้ามา

แต่ถ้าพลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้

วิกฤตหนต่อไป ก็จิ๊บ-จิ๊บ

ประชาชาติธุรกิจ นำเสนอซีรีส์ “รวมพลังสู้ โควิด-19” ภายใต้เนื้อหาที่มาจากประชาชน นักคิด นักเขียน ผู้รู้ นักธุรกิจ สตาร์ตอัพ ผู้ประกอบการทุกระดับ ที่นำเสนอแนวคิด ความรู้ และทางออกจากปัญหาไปด้วยกัน