สร้างโอกาสให้คนไทย CPTPP ช่วยให้ฟื้นจาก COVID

คอลัมน์ ช่วยกันคิด
ดร.ซาราห์ เทย์เลอร์
เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย

ปี 2564 นี้ เป็นปีที่เราเฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปี แห่งความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและแคนาดา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ดีที่เราจะดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อกระชับความสัมพันธ์ของประเทศของเราทั้งสองให้มากขึ้น

ประเทศไทยและแคนาดาต่างเป็นประเทศที่พึ่งพิงการค้าเพื่อการส่งออก การค้าช่วยยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนของทั้งสองประเทศให้ดีขึ้น อันเป็นผลจากการกระจายตลาดและการปรับปรุงกฎเกณฑ์การค้าที่แข็งแกร่ง และการคาดการณ์ได้

ประเทศแคนาดาในฐานะประเทศอำนาจขนาดกลาง และยึดถือระบบการค้าตามกฎเกณฑ์ที่เป็นสากล และมีบทบาทสำคัญในการริเริ่มโครงการความร่วมมือต่าง ๆ ที่จะทำให้ข้อตกลงทางการค้าที่มีอยู่นั้นทันสมัย เพื่อสะท้อนความเป็นจริงของศตวรรษที่ 21

เช่น การเป็นผู้นำในการจัดตั้งกลุ่มออตตาวา ชึ่งประกอบไปด้วย 13 ประเทศพันธมิตร รวมทั้งประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ เพื่อการปฏิรูปองค์การการค้าโลก (WTO) และรับมือกับความท้าทายโดยเฉพาะเรื่องที่ทำให้ระบบกฎเกณฑ์การค้าต่าง ๆ ไม่มีความยืดหยุ่น

ประเทศแคนาดายังได้ผลักดันให้ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership-TPP) มีการปรับแก้และครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งบรรลุเป็นข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership-CPTPP) ที่มีผลบังคับใช้ 7 ประเทศ จากทั้งหมด 11 ประเทศผู้ลงนาม

ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น เวียดนาม เม็กซิโก ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ โดยมีประเทศจีน เกาหลีใต้ และสหราชอาณาจักร ที่แสดงความสนใจและกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกในข้อตกลงการค้านี้ และยังคงขับเคลื่อนในกระบวนการดังกล่าว

ข้อตกลงทางการค้านี้ครอบคลุมผู้บริโภคมากกว่า 500 ล้านคน และห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคที่ครอบคลุมทั้งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งจะทำให้การค้าทั้งสินค้าและบริการนั้นคาดหมายได้และโปร่งใสมากขึ้น อีกทั้งยังอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจและสร้างความมั่นใจยิ่งขึ้น ในขณะที่ประเทศต่าง ๆ พยายามสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19

หนึ่งในวิธีที่ CPTPP ทำคือ การสร้างสภาพการแข่งขันที่เท่าเทียมในทุกระดับโดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนสำคัญในระยะการฟื้นตัวนี้ การขจัดอัตราภาษีศุลกากรและบทบัญญัติเกี่ยวกับมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษี (nontariff barriers) ที่ครอบคลุมของ CPTPP ยังสามารถเพิ่มเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์ทางการค้าเพิ่มขึ้น จากข้อเสนอของหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมระดับภูมิภาค (RCEP)

ข้อตกลงการค้าเสรีโดยทั่วไปมักจะนำไปสู่การเจรจาอย่างสร้างสรรค์ ภายในกลุ่มประเทศจากการขยายตลาดเสรีทางการค้า เช่นเดียวกันกับ CPTPP ที่มีประเทศแคนาดาเป็นผู้นำความร่วมมือนี้ CPTPP มีหมวดและบทบัญญัติที่ทำให้มั่นใจว่า ผลประโยชน์ทางการค้ากระจายในวงกว้างรวมทั้งกลุ่ม ที่ปกติมักจะไม่ได้ประโยชน์เต็มที่ภายใต้ข้อตกลงการค้าอื่น ๆ

ที่ผ่านมา ข้อตกลงยังประกอบด้วยบทบัญญัติที่มีผลบังคับเกี่ยวกับแรงงานและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสาระสำคัญที่ประเทศแคนาดาเห็นว่าเป็นหัวใจของข้อตกลงทางการค้ายุคใหม่ ที่ให้ประโยชน์ที่มากกว่าการลดกำแพงภาษีเท่านั้น

CPTPP ยังรับรองความสามารถของแต่ละประเทศ ในการสร้างความสมดุลของข้อผูกพันในด้านต่าง ๆ เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา และเป้าหมายนโยบายสาธารณะภายในประเทศที่สำคัญ เช่น การส่งเสริมการเข้าถึงยา ประเทศแคนาดาพร้อมที่จะแบ่งปันประสบการณ์ที่ส่งเสริมความสมดุลเหล่านี้ รวมถึงการคุ้มครองพันธุ์พืช

ประเทศแคนาดาเสนอโอกาสมากมายทางธุรกิจ ในฐานะตลาดสำคัญของโลกที่มีเครือข่ายทางการค้ากว้างขวางทั่วโลก ประเทศแคนาดาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 9 ของโลก และเป็นประเทศในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ (G7) เพียงประเทศเดียวที่มีข้อตกลงทางการค้าครอบคลุมเอเชีย อเมริกาเหนือ และยุโรป

ในปี 2562 กลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้มีการลงทุนด้วยมูลค่าเกือบ 500 ล้านเหรียญแคนาดา เพื่อซื้อบริษัทที่ทำธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ในเมืองวินนิเพก ประเทศแคนาดา

การลงทุนครั้งใหญ่นี้ถือเป็นครั้งแรกที่บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหารจากประเทศไทย ได้มีการลงทุนในประเทศแคนาดา และเป็นตัวอย่างที่ดีว่า บริษัทในประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากตลาดของประเทศแคนาดาที่เปิดกว้าง สามารถแข่งขันได้ และมีการพัฒนาเชิงนวัตกรรม

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสภาพเศรษฐกิจก้าวหน้าที่สุดประเทศหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยมีความเปราะบาง โดยเฉพาะจากปัจจัยภายนอกที่มากระทบ เนื่องจากการพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก เส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจยาวนานและอาจเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมาก

หลังจากประเทศไทยได้มีบทบาทเป็นผู้นำในระหว่างการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน ในปี 2562 รัฐบาลไทยก็ประสบความสำเร็จที่สามารถนำพาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ให้บรรลุถึงขั้นตอนการให้สัตยาบันแล้ว RCEP เป็นข้อตกลงสำคัญที่ทำให้การเปิดเสรีทางการค้า และการจัดระเบียบที่อิงกฎเกณฑ์ในเอเชียก้าวหน้าในช่วงเวลาที่มีความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มขึ้น

หลังจากที่ได้ข้อสรุป RCEP เรียบร้อยแล้วนั้น ประเทศไทยควรพิจารณาแนวทางเพิ่มเติมในการสนับสนุนแนวทางฟื้นฟูหลังจากวิกฤตการณ์โควิด-19 รวมถึงการเสริมสร้างสถานะของไทยในห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาค และการดึงดูดนักลงทุน ในฐานะจุดหมายปลายทางการลงทุนที่น่าสนใจผ่าน CPTPP

โลกของเราได้มีการเชื่อมโยงถึงกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้นในทุกมิติ ดังที่เราได้เห็นมาตลอดปีแห่งการแพร่ระบาดที่ยากลำบากนี้ ในขณะที่เราเตรียมความพร้อมสำหรับช่วงของการฟื้นตัว เวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะพิจารณาว่า เราจะเสริมสร้างระบบการค้าที่ยึดถือกฎเกณฑ์ได้อย่างไร เพื่อให้แน่ใจว่า ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะน้อยที่สุด และเศรษฐกิจจะฟื้นตัวโดยเร็ว และเราจะสามารถร่วมกัน

การเข้าร่วม CPTPP จะเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับประเทศไทย ในขณะที่จะสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับคนไทย และยกระดับของประเทศในเวทีการค้าโลกประเทศแคนาดามีความยินดีอย่างยิ่งที่จะต้อนรับประเทศที่มีความสนใจจะเข้าร่วมและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และข้อผูกพันของ CPTPP และประเทศแคนาดาหวังอย่างยิ่งที่จะได้ทำงานร่วมมือกับประเทศไทย

เพื่อส่งเสริมการค้าภายใต้กฎเกณฑ์ และสนับสนุนการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนต่อไป