หาเรื่องมาเล่าเรื่อง

ชั้น 5 ประชาชาติ
สาโรจน์ มณีรัตน์

 

ตลอดช่วงที่ผ่านมาเชื่อว่าหลาย ๆ คนที่ทำงานอยู่ในองค์กรต่าง ๆ คงได้ยินคำว่า “Design Thinking” หรือ “การออกแบบความคิด” กับคำว่า “Storytelling” หรือ “การเล่าเรื่อง” กันค่อนข้างมาก

ถามว่าทั้ง 2 คำต่างกันอย่างไร ?

และจะนำไปใช้กับสถานการณ์แบบไหน ?

คำตอบคือ “Design Thinking” คือกระบวนการคิดในการมองปัญหาแบบองค์รวม เพื่อนำมาสร้างเป็นความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ และส่วนใหญ่วิธีการคิดแบบนี้จะนำไปใช้กับสถานการณ์ไม่ปกติ

จนยากที่จะหาทางออกเจอ

ADVERTISMENT

แต่ที่ทุกคนยอมรับวิธีการคิดแบบ “Design Thinking” อาจเป็นเพราะวิธีการคิดแบบนี้จะไม่ยึดติดกับกรอบวิธีการคิดแบบเดิม ๆ หมายความว่า เมื่อมีปัญหากองเท่าภูเขา ดูแล้วหาทางจัดการยาก แทนที่จะค่อย ๆ แก้ไขปัญหาทีละเปลาะ ๆ แต่วิธีการคิดแบบนี้จะใช้วิธีการคิดใหม่ คือ ไม่แก้ปัญหาเดิม แต่จะหาวิธีคิดใหม่ทั้งระบบ

ยกตัวอย่าง “กูเกิล” ครั้งหนึ่งเขามองเห็นปัญหาว่าผู้บริหารระดับกลางคืออุปสรรคสำคัญที่ทำให้องค์กรไม่ก้าวหน้า ทั้ง ๆ ที่องค์กรดังกล่าวเป็นองค์กรของคนรุ่นใหม่

ADVERTISMENT

เป็นองค์กรที่มีเงินเดือนค่อนข้างสูง

แต่เขาเหล่านี้กลับไม่กล้าตัดสินใจ ลังเล และทำให้ปัญหาเดิม ๆ ซ้ำรอยอยู่กับที่จนทำให้พนักงานปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นลูกน้องของพวกเขาเริ่มเบื่อและลาออกไปในที่สุด

เพราะเชื่อว่าในเมื่อหัวหน้างานเป็นแบบนี้ ใครเล่าจะแก้ปัญหาให้เขาได้ และถ้าไปบอกซีอีโอให้ช่วยแก้ปัญหา ก็ดูจะไกลเกินไปสำหรับพนักงานตัวเล็ก ๆ อย่างพวกเขา

แต่การณ์กลับตรงกันข้าม เพราะซีอีโอต่างรับทราบปัญหานี้ดี ทั้งยังพยายามหาทางออกด้วยการเก็บข้อมูลจากพนักงานทุกฝ่าย พร้อม ๆ กับเริ่มทดลองในการทำ Design Thinking ด้วยการใช้กลยุทธ์ “HIPPO”

ซึ่งมาจากคำย่อของคำว่า …Highest Paid Person’s Opinion หรือความหมายในภาษาไทย คือ …ความเห็นของผู้มีเงินสูงสุด

ด้วยการไล่ผู้บริหารระดับกลางออกทั้งหมด

เพราะเขาเชื่อว่าอุปสรรคสำคัญของผู้บริหารระดับกลางไม่เพียงอยู่แค่การไม่กล้าตัดสินใจ ลังเล และทำให้ปัญหาเดิม ๆ ซ้ำรอยอยู่กับที่ หากยังอยู่ที่ “ความเร็ว” อีกด้วย ซีอีโอของกูเกิลเชื่อว่า โลกทุกวันนี้ถูกขับเคลื่อนด้วยความเร็ว หากผู้บริหารระดับกลางไม่สามารถตอบสนองความรวดเร็วของโลกเทคโนโลยี เขาจะกลายเป็นตัวถ่วงสำหรับผู้ใต้บังคับบัญชาคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะทำงานกับผู้ที่เข้าใจความรวดเร็วของข้อมูลข่าวสาร

ขณะที่ “Storytelling” อาจจะแตกต่างจาก “Design Thinking” อย่างตรงกันข้าม เพราะ “การเล่าเรื่อง” ไม่เพียงเป็นเสน่ห์พื้นฐานของคนที่เล่าอะไรแล้วมีคนฟัง

มีคนชอบ

และมีคนอยากติดตามอยู่บ่อย ๆ

เพียงแต่ระยะหลัง ๆ เราจะเห็นว่า “Storytelling” ถูกนำไปเชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์ วัตถุดิบ เครื่องอุปโภคบริโภค หรือแม้แต่แหล่งประวัติศาสตร์ชุมชนต่าง ๆ

ไม่เว้นแม้แต่เรื่องบางเรื่องที่ใช้ “Storytelling” ในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทั่ว ๆ ไป ด้วยการเล่าเรื่องของบุคคลอื่น ๆ ที่เคยล้มเหลว ผิดพลาด แต่มาวันนี้เขากลับลุกขึ้นยืนอย่างสง่าผ่าเผย

ทั้งยังประสบความสำเร็จในชีวิต

ฉะนั้น ถ้าถามว่า “Storytelling” จะนำไปใช้กับสถานการณ์แบบไหน ต้องบอกว่าในทุก ๆ สถานการณ์ที่เราอยากเล่าให้ใครสักคนฟัง ยกตัวอย่าง กาแฟอราบิก้าที่ปลูกบนดอยต่าง ๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย

ซึ่งใครไปสองจังหวัดนี้ยังไงก็ต้องอยากลองจิบกาแฟดอยตุง ดอยช้าง และดอยต่าง ๆ อีกมากมาย เพราะทุกคนรู้ดีว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงแนะนำชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ให้เลิกปลูกฝิ่นด้วยการหันมาปลูกกาแฟจนประสบความสำเร็จงดงามในทุกวันนี้

แต่ใครสักกี่คนจะเห็นต้นพันธุ์เมล็ดกาแฟอราบิก้าที่ในหลวงพระราชทานแก่ชาวเขาเหล่านั้น แต่สำหรับกาแฟที่ดอยปางขอน จ.เชียงราย กลับมี Storytelling ที่ลูกหลานของเขาเป็นคนเล่าเรื่องต้นไม้ของพ่อ

ทั้งยังมีต้นพันธุ์กาแฟพระราชทานที่มีอายุหลายสิบปียืนต้นงดงามอยู่ใกล้ ๆ กับร้านกาแฟด้วย เป็นใครไม่อินก็แย่แล้ว เพราะนอกจากจะจิบกาแฟปางขอนอุ่น ๆ ในยามเช้า หากใครต้องการอยากชมต้นพันธุ์กาแฟพระราชทานก็สามารถให้พนักงานร้าน ซึ่งเป็นลูกหลานเหลนโหลนของชาวเขาคนนั้นพาไปชมได้เลย

เท่านี้ก็สุขใจแล้ว

สุขใจไปกับ “Storytelling” ที่ทุกวันนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการทำธุรกิจได้ทุกเรื่อง

ลองนำไปปรับใช้ดูนะครับ ?