ภัยการเงินเกลื่อน…ซ้ำเติมคนไทยยามวิกฤต

ภัยการเงิน
ชั้น 5 ประชาชาติ
อำนาจ ประชาชาติฯ

ช่วงนี้บุคคลทั้งใกล้ตัว-ไกลตัว ได้รับ SMS แปลก ๆ กันหลายคน

ไม่ว่าจะเป็นข้อความว่า “คุณได้รับสิทธิสินเชื่อฉุกเฉิน 50,000 บาท” หรือไม่ก็ข้อความว่า “เงินเดือน 1,000 บาท โอนเข้าบัญชีเรียบร้อย” ฯลฯ

โดยแต่ละข้อความจะมีลิงก์ให้กดเข้าไป แล้วก็จะหลอกให้เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว หรือหลอกให้โอนเงิน

เรียกได้ว่า ระบาดหนักมากในช่วงนี้

ทั้ง ๆ ที่เวลานี้เป็นห้วงยามที่ประชาชนคนไทยกำลังเผชิญความยากลำบากในท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด ผู้คนอยู่ในภาวะที่รายได้หดหาย อยู่ในสภาวะที่จำนวนเงินในกระเป๋าที่ร่อยหรอลงไปทุกวัน และจำนวนไม่น้อยต้องตกอยู่ในภาวะที่หนี้สินพอกพูน

แต่การหลอกลวง การเอารัดเอาเปรียบ การทำนาบนหลังคน ก็ยังคงเกิดขึ้นกลาดเกลื่อนเมือง

เข้าไปส่องเฟซบุ๊กเพจ “ธนาคารแห่งประเทศไทย-Bank of Thailand” เพิ่งมีการแจ้งเตือนประชาชนเรื่อง “ภัยการเงิน” โดยอ้างอิงข้อมูลล่าสุดเมื่อปี 2563 (ขออัพเดตข้อมูลครึ่งปี 2564 ไป แต่ทาง ธปท.แจ้งว่าข้อมูลของปีนี้ยังไม่มีประมวลผลไว้ เพราะต้องรอให้สถาบันการเงินส่งข้อมูลมาให้ก่อน)โดย ธปท.ระบุว่า ช่องทางที่มิจฉาชีพใช้หลอกลวงที่มีแนวโน้มสูงขึ้นคือ ช่องทางออนไลน์ เช่น Facebook LINE e-Mail ใน

ขณะที่ช่องทางโทรศัพท์ในปี 2563 ลดลงจากปีก่อน เนื่องจากพฤติกรรมการหลอกลวงโดยมิจฉาชีพเปลี่ยนเป็นการหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งมีผู้ใช้งานจำนวนมาก และการหลอกลวงมีรูปแบบที่ซับซ้อนและตรวจสอบได้ยากกว่า สำหรับภัยทางการเงินหลัก ๆ ที่พบ ได้แก่1.หลอกแอบอ้าง/สวมรอยเป็นบุคคลอื่น เพื่อให้โอนเงินให้ เช่น หลอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร เจ้าหน้าที่ ธปท. ญาติพี่น้อง

2.หลอกจีบให้ตายใจ แล้วขอให้โอนเงินให้ โดยส่วนใหญ่พบเป็นมิจฉาชีพชาวต่างชาติ และติดต่อผ่านช่องทาง Facebook

3.หลอกว่าช่วยให้ได้สินเชื่อ แต่ให้โอนค่าธรรมเนียมล่วงหน้า เช่น ขอเป็นค่าเอกสารปล่อยกู้

4.หลอกว่าจะจ่ายชำระคืนหนี้ให้ โดยให้เสียค่าสมัครล่วงหน้า

5.หลอกให้ชำระค่าสินค้าหรือบริการที่ซื้อผ่านช่องทางออนไลน์แล้วไม่ได้รับสินค้าหรือบริการนั้นจริง เช่น การซื้อขายหน้ากากอนามัย

6.หลอกให้โอนเงินให้ โดยอ้างว่าจะได้รับเงินก้อนใหญ่หรือพัสดุที่มีมูลค่าสูงจากมิจฉาชีพต่างชาติที่ติดต่อผ่านช่องทางออนไลน์ โดยหลอกให้โอนเงินเป็นค่าธรรมเนียมหรือภาษี

7.หลอกให้ลงทุน เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนสูงในรูปแบบการลงทุนต่าง ๆ เช่น Forex Bitcoin เงินดิจิทัล แชร์ลูกโซ่ออนไลน์ ธนาคารแสงแดด โครงการปลูกป่าลดหนี้

8.หลอกเอาข้อมูลส่วนบุคคล/ขโมยข้อมูลผ่านรูปแบบ เช่น หลอกให้กรอกข้อมูลใน e-Mail/website/application ปลอมของสถาบันการเงิน

9.ปลอมแปลงข้อมูลบัตรเครดิต/บัตรเดบิต เพื่อนำไปชำระค่าสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์

สำหรับภัยการเงินอันดับ 1 ก็คือ “หลอกลวงให้โอนเงิน” ตามมาด้วยอันดับ 2 “ปลอมแปลงบัตรเครดิต หรือนำบัตรไปใช้จ่าย และอันดับ 3 “หลอกให้โอนเงินเพื่อช่วยให้ได้สินเชื่อ” เอาเข้าจริงภัยเหล่านี้มีมาทุกปี แต่ช่วงนี้ดูเหมือนจะมีถี่มากขึ้น โดยเฉพาะรูปแบบการส่ง SMS อย่างที่กล่าวไปข้างต้น เพราะเห็นคนรู้จักได้รับ SMS แบบนี้แล้วหลายคน

สิ่งที่ทำได้ในเบื้องต้นก็คือ แจ้งเตือนกันไปว่าอย่าไปหลงเชื่อเด็ดขาด เพราะไม่รู้ว่าจะหวังพึ่งหน่วยงานใดได้บ้าง

อดคิดไม่ได้ว่าหน่วยงานอย่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) หรือสำนักงานคณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทำอะไรกันอยู่ ควรจะเอาจริงเอาจังกับการเอาผิดมิจฉาชีพเหล่านี้หน่อยดีไหม อย่าปล่อยให้ลอยนวลซ้ำเติมประชาชนคนไทยที่กำลังยากลำบากอยู่เลย