“อาร์บอนนีย์” มิสยูนิเวิร์ส 2022 ปันไอเดียแฟชั่นยั่งยืน นักศึกษา ม.กรุงเทพ

“อาร์บอนนีย์” มิสยูนิเวิร์ส 2022 สร้างแรงบันดาลใจแฟชั่นยั่งยืน ให้นักศึกษา มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เพราะฟาสต์แฟชั่นเป็นอุตสาหกรรมเสื้อผ้าที่ก่อมลพิษสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก

วันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า “อาร์บอนนีย์ เกเบรียล” (R’Bonney Gabriel) มิสยูนิเวิร์สคนล่าสุด (Miss Universe 2022) เดินทางเยือนไทยระหว่างวันที่ 17-24 พฤษภาคม 2566 โดยหนึ่งในหลายกิจกรรมที่เธอทำคือ การพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ในหัวข้อ “Passion and Sustainable Fashion Design” ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจสู่การค้นหาแพสชั่น และการออกแบบแฟชั่นอย่างยั่งยืน

สร้างแพสชั่นให้ น.ศ.ไทย

ปัจจุบันนักศึกษามีความสนใจในอีเวนต์นางงาม เพราะเวทีการประกวดนางงามเป็นเวทีที่ผู้คนต่างให้ความสนใจอย่างมาก

“ดร.สุพงษ์ ลิ้มธนากุล” รองอธิการบดีอาวุโสด้านกิจการภายนอก มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า ได้จัดกิจกรรมร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้ในการสร้างแรงบันดาลใจสู่การค้นหาแพชชั่นและการออกแบบแฟชั่นอย่างยั่งยืน ให้กับนักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่มีความสนใจ fashion design โดยเฉพาะแฟชั่นรักษ์โลก (sustainable fashion) ที่ถือเป็นจุดยืนของคณะ

นอกจากนั้น ยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาการผลิตอีเวนต์ และการจัดการนิทรรศการและการประชุม ที่เป็นหลักสูตรที่เน้นการออกแบบและผลิตอีเวนต์และไมซ์ที่แปลกใหม่สร้างสรรค์ เข้าร่วมฟังด้วย

"อาร์บอนนีย์" มิสยูนิเวิร์ส 2022 เยือน ม.กรุงเทพ

สร้างแบรนด์ R’Bonney Nola

อาร์บอนนีย์เป็นชาวอเมริกันที่มีเชื้อสายเอเชียน โดยแม่เป็นชาวอเมริกัน และพ่อเป็นชาวฟิลิปปินส์ ซึ่งนอกจากอาร์บอนนีย์จะเป็นนางงามแล้ว เธอเป็นนักออกแบบแฟชั่น นางแบบ และครูสอนตัดเย็บเสื้อผ้าที่มุ่งเน้นความคิดสร้างสรรค์และความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

อาร์บอนนีย์ค้นพบความสนใจในการออกแบบแฟชั่นเมื่ออายุ 15 ปี และมุ่งเรียนด้านแฟชั่นจนจบปริญญาด้านการออกแบบแฟชั่นและไฟเบอร์ จากมหาวิทยาลัยนอร์ทเทกซัส จุดเด่นในการออกแบบเสื้อผ้าของเธอคือ การผสมผสานพรสวรรค์ด้านการออกแบบเข้ากับการดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน

นอกจากนั้น อาร์บอนนีย์ยังได้ก่อตั้งแบรนด์ R’Bonney Nola ซึ่งได้เปิดตัวคอลเล็กชั่นไปแล้ว 3 คอลเล็กชั่น รวมถึงเสื้อยืดที่พิมพ์ด้วยประโยคคำถามสุดโปรดของเธอ คือ “ถ้าไม่ใช่ตอนนี้ แล้วเมื่อไหร่ ?” (“If not now, then when ?”)

"อาร์บอนนีย์" มิสยูนิเวิร์ส 2022 เยือน ม.กรุงเทพ

ผลกระทบแฟชั่นต่อสิ่งแวดล้อม

อาร์บอนนีย์มีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของแฟชั่นที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และต้องการสนับสนุนแนวปฏิบัติด้านแฟชั่นที่ยั่งยืนในฐานะมิสยูนิเวิร์ส

“ฉันต้องการสร้างความตระหนักถึงปัญหาที่แฟชั่นได้สร้างขึ้นทั่วโลก โดยฟาสต์แฟชั่นเป็นอุตสาหกรรมเสื้อผ้าที่ก่อมลพิษสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก ปัจจุบัน มนุษย์อุปโภคสิ่งทอ เสื้อเชิ้ต และเสื้อผ้ามากกว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้วถึง 400 เปอร์เซ็นต์

ซึ่งฉันไม่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของปัญหานั้น แต่ต้องการร่วมแก้ปัญหา เลยผลิตเสื้อผ้าที่มาจากวัสดุใช้แล้ว ทั้งผ้า ขวด และอื่น ๆ รวมไปถึงการใช้เสื้อผ้ามือสองด้วย ฉันชอบไปร้านขายของมือสอง เพื่อจะหาชิ้นส่วนมารีไซเคิล แต่วิธีแก้ปัญหานั้นไม่ง่ายเลย มันซับซ้อนมาก เพราะการใช้ผ้ารีไซเคิลเพื่อความยั่งยืนนั้นมักจะมีราคาแพงกว่าเสื้อผ้าใหม่นิดหน่อย” อาร์บอนนีย์กล่าว

อาร์บอนนีย์ เกเบรียล
Photo from IG : rbonneynola

“อาร์บอนนีย์” เล่าด้วยว่า ก่อนมาเยือนเมืองไทย เธอได้ไปร่วมเป็นกรรมการในการประกวด Miss Universe Philippines 2023 ที่ฟิลิปปินส์ และภายหลังการประกวดจบ นางงามส่วนใหญ่เดินทางกลับบ้านกันหมดแล้ว และมีเสื้อผ้าที่ใช้แล้วไม่ได้เก็บกลับไปด้วยทิ้งอยู่ตามห้องต่าง ๆ

“ฉันไปสำรวจตามห้องพัก เพื่อดูว่ามีใครทิ้งเสื้อผ้าที่ขนไปไม่หมดบ้าง แล้วก็ได้ผ้าและเสื้อผ้ามา 3 ชิ้น จากนั้นฉันก็ตัดเย็บรวมกันให้กลายเป็นชุดใหม่ เสื้อผ้าที่ชั้นเอามาอาจเป็นของ ‘ฮาร์นาซ สันธู’ (มิสยูนิเวิร์ส 2021) ก็ได้ ซึ่งนั่นฉันหวังว่า เพื่อนนางงามจะไม่มาทวงเสื้อผ้าพวกเขาคืน (หัวเราะ)”

“อาร์บอนนีย์” กล่าวด้วยว่า รัฐบาลสามารถร่วมมือด้านความยั่งยืนได้ ด้วยการตรวจสอบโรงงานที่ผลิตเสื้อผ้า เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการใช้แรงงานเด็ก และแรงงานผู้หญิงได้รับค่าจ้างอย่างยุติธรรม

“สำหรับฉันแล้ว ฉันเลือกซื้อคุณภาพมากกว่าปริมาณ ไม่อุปโภคมากเกินไป ฉันคิดว่าสิ่งนี้เป็นเแนวคิดที่ทุกแบรนด์สามารถโปรโมตได้ และตรวจสอบให้แน่ใจว่าพวกเขาควบคุมคุณภาพมากขึ้น แทนที่จะออกสินค้าใหม่ทุกวัน”

แฟชั่นเป็นพลังแห่งความดี

“อาร์บอนนีย์” เล่าด้วยว่า เธอเป็นหัวหน้าผู้สอนการตัดเย็บที่ Magpies & Peacocks ซึ่งเป็นบ้านออกแบบที่ไม่หวังผลกำไร (non-profit design house) อยู่ในเมืองฮุสตัน สหรัฐอเมริกา โดยเธอสอนชั้นเรียนตัดเย็บเสื้อผ้าให้กับผู้หญิงที่รอดชีวิตจากการค้ามนุษย์และความรุนแรงในครอบครัว เพื่อช่วยให้พวกเขาพบกับอาชีพที่ยั่งยืน

อาร์บอนนีย์อุทิศตนให้กับแนวคิด “แฟชั่นเป็นพลังแห่งความดี” (Fashion as a Force for Good) ผ่านความยั่งยืนและผลกระทบต่อชุมชน ทั้งนี้ Magpies & Peacocks ได้รับทุน Gucci Changemaker สำหรับผลงานในการเปลี่ยนสิ่งทอและผ้าที่ไม่ใช้แล้วจากหลุมฝังกลบให้เป็นคอลเล็กชั่นแฟชั่นใหม่

"อาร์บอนนีย์" มิสยูนิเวิร์ส 2022 เยือน ม.กรุงเทพ "อาร์บอนนีย์" มิสยูนิเวิร์ส 2022 เยือน ม.กรุงเทพ "อาร์บอนนีย์" มิสยูนิเวิร์ส 2022 เยือน ม.กรุงเทพ