สินค้ารักษ์โลก ความสุขสร้างได้เพื่อสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่น้อย เพราะถือเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างปริมาณขยะ และมลพิษทั้งจากกระบวนการผลิต อีกทั้งแนวคิดของแฟชั่นเสื้อผ้าเป็น fast fashion มีความทันสมัย เน้นตามเทรนด์ และมีอายุการใช้งานน้อย

เอ-เมส มัลติสโตร์ โดย บูติคนิวซิตี้ ผู้ออกแบบ และจัดจำหน่ายสินค้าแฟชั่นผู้หญิงได้แก่ แบรนด์ GUY LAROCHE, GSP, C&D, LOF-FI-CIEL, JOUSSE, STEPHANIE เสื้อผ้าสำหรับบุคลากรทางการแพทย์แบรนด์ Medgrade และเครื่องแบบสำหรับองค์กรชั้นนำของประเทศไทย รวมถึงต่างประเทศภายใต้ชื่อ UNIFORM SPECIALIZER เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้

จึงผุดโครงการ “A’MAZE GREEN SOCIETY” ขึ้นมา โดยผนึกกับพันธมิตร ในการนำผ้าส่วนเกินจากอุตสาหกรรม 20% มาสร้างสรรค์ และต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อลดขยะที่เกิดจากอุตสาหกรรมให้เป็นศูนย์ (fabric zero waste alliance)

ประวรา เอครพานิช
ประวรา เอครพานิช

“ประวรา เอครพานิช” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บูติคนิวซิตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมีวิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจ 4 ข้อหลักคือ

หนึ่ง การจัดจำหน่ายสินค้าเสื้อผ้า และเครื่องแต่งกายที่สวยงาม ส่งเสริมบุคลิกภาพให้ผู้สวมใส่ครบทั้งความสะดวกสบาย คุณภาพดีคงทนต่อการใช้งาน และดีต่อสุขภาพ (customer first)

สอง สินค้าของเราใช้งานได้ยาวนาน รูปแบบสอดคล้องกับกาลเวลาสามารถส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นได้โดยไม่ล้าสมัย

สาม เรามีกระบวนการออกแบบ และเลือกวัตถุดิบที่ได้มาตรฐานโดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าสูงสุด หรือเรียกว่าเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) เพราะเรานำเศษผ้าส่วนเกินจากการตัดเย็บไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ และร่วมมือกับพันธมิตรคู่คิดในการ upcycle และ recycle เศษผ้าของเรา

สี่ เราพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เปิดรับ และตื่นตัวในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพื่อต่อยอดความคิด และกระบวนการการทำงานในปัจจุบันอย่างสม่ำเสมอ (keep learning)

สำหรับโครงการ A’MAZE green society by BTNC : Create your own happiness ภายใต้ค่านิยมองค์กร “ความสุขสร้างได้ด้วยตัวเอง พร้อมแบ่งปันความสุขให้ลูกค้า เพื่อนร่วมงานและสังคม” มีเป้าหมายในการร่วมมือกับพันธมิตร และคู่ค้า ร่วมกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มให้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ green industry ตามที่ประเทศไทยประกาศร่วมพันธกิจโลก

ภายหลังการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 หรือ COP26 ว่าประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (net zero) ภายในปี พ.ศ. 2608

“เราพบว่าในกระบวนการผลิตเสื้อผ้าจะได้ชิ้นงาน หรือสินค้าประมาณ 80% ที่เหลืออีก 20% จะเป็นผ้าส่วนเกินที่เหลือจากการผลิต ทำให้เรากลับมาคิดว่าจะทำอย่างไรกับผ้าส่วนเกินเหล่านี้ ที่จะไม่ให้เหลือเป็นขยะอุตสาหกรรม หรือ fabric zero waste alliance

ตรงนี้จึงทำให้มองหาคู่คิดที่จะมาช่วยทำการ upcycle หรือนำผ้าส่วนเกินมาพัฒนาให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ และ recycle คือการนำผ้าส่วนเกินเหล่านั้นกลับมาใช้ประโยชน์อีก ที่สุดจึงร่วมมือกับแบรนด์ลฤก และเดอะ แพคเกจจิ้ง ช่วยต่อยอดผ้าส่วนเกินให้กลายเป็น Mimi (มีมี่) กระเป๋ารักษ์โลก”

“ด้วยการนำแบบดอกไม้วางลงไปตรงช่องว่างของแพตเทิร์นผ้าที่จะตัดเสื้อ เพื่อทำให้เหลือผ้าส่วนเกินให้น้อยที่สุด โดยดอกไม้ที่ได้ หรือคิดเป็น 15% ของผ้าส่วนเกิน มาให้แบรนด์ลฤกมาใช้ตกแต่งเป็นดอกไม้ประดับบนพวงหรีดเสื่อ ส่วนที่เหลืออีก 5% เราส่งไปให้ เดอะแพคเกจจิ้ง ผ่านขบวนการ recycle เพื่อนำมาผลิตเป็นกระเป๋า Mimi (มีมี่)”

“ประวรา” กล่าวต่อว่า เรามีเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนโครงการ AMAZE Green Society ให้เป็นโครงการระยะยาวอย่างต่อเนื่อง โดยยินดีอย่างยิ่งหากมีหน่วยงานหรือองค์กรใดที่ต้องการร่วมเป็นพันธมิตรคู่คิดที่จะเดินหน้าลดปริมาณขยะสิ่งทอไปด้วยกัน

เราเชื่อว่าเมื่อมีเพื่อนมากขึ้น และสามารถขยาย fabric zero waste alliance เป็นวงกว้างขึ้นจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันพันธกิจของประเทศไทยในการเป็นกลางทางคาร์บอน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ตามเป้าหมาย

ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากการใช้พลังงานของประเทศในปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 247.7 ล้านตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ที่ 66.5 ล้านตัน

ลดลงจากปีก่อน 6.7% และตามกรอบเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์เศรษฐกิจหมุนเวียน ปี พ.ศ. 2573 ของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างน้อย 30 ล้านตันในอีก 7 ปีข้างหน้า

นนทิกานต์ อัศรัสกร
นนทิกานต์ อัศรัสกร

“นนทิกานต์ อัศรัสกร” นักธุรกิจรุ่นใหม่ผู้ก่อตั้งแบรนด์ลฤก กล่าวว่า ลฤกเป็นแบรนด์พวงหรีดที่มุ่งเน้นในเรื่องการช่วยเหลือสิ่งแวดล้อม และสังคม โดยต่อยอดมาจากธุรกิจผลิตเสื่อพลาสติกของครอบครัวที่ทำมากว่า 50 ปี ในนามห้างหุ้นส่วนจำกัด รักชาติพาณิชย์ ที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2513 ซึ่งหลัก ๆ เป็นเสื่อพลาสติกที่ใช้งานทั่วไป

และในช่วง 5-6 ปีที่แล้ว ทำการศึกษาตลาดพบว่าปัจจุบันเสื่อไม่ได้เป็นที่นิยมมากนัก และยังพบว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นประเด็นใหญ่ โดยเฉพาะพลาสติกซึ่งเป็นตัวการสำคัญ เราในฐานะผู้ผลิตพลาสติกเองจึงตระหนักในเรื่องนี้

“ภายหลังดิฉันเข้ามาบริหารจึงเข้ามาช่วยลดผลกระทบตรงนี้ จึงนำเสื่อมาพัฒนารูปลักษณ์ และคุณภาพที่ต่างจากเดิม โดยทำเป็นเสื่อปูพื้น กระเป๋า ตะกร้า จนล่าสุดที่ได้ไอเดียมาเป็นพวงหรีด ที่เรียกว่าเป็น พวงหรีดเสื่อผืนหมอนใบ ภายใต้แบรนด์ลฤก ด้วยการนำเสื่อมาจับจีบขึ้นเป็นรูปทรงกลม และใช้อาสนะเสื่อบุฟองน้ำเป็นโครงด้านหลัง ที่ทางวัดสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด เพื่อตอบโจทย์การลดขยะพวงหรีดในปัจจุบัน”

ทั้งนี้ การร่วมกับบูติคนิวซิตี้ จะนำผ้าส่วนเกินจากการตัดเย็บเสื้อผ้ามาทำเป็นดอกไม้เพื่อใช้ประดับตกแต่งพวงหรีด ซึ่งนอกจากให้ความสวยงาม และเกิดคุณค่าทางจิตใจแล้ว ยังเป็นการนำทรัพยากรกลับมาใช้ซ้ำ ที่สำคัญ ยังเป็นการช่วยลดปริมาณขยะปลายทางที่นำไปสู่การกำจัดอีกด้วย

ภุชชงค์ วนิชจักร์วงศ์
ภุชชงค์ วนิชจักร์วงศ์

“ภุชชงค์ วนิชจักร์วงศ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะแพคเกจจิ้ง จำกัด ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก กล่าวว่า เดิมทีบริษัทเราเป็นบริษัทส่งออกข้าว บรรจุภัณฑ์ที่เราใช้คือกระสอบ แต่ในช่วงหลังการส่งออกต้องเน้นความเบาเลยเปลี่ยนมาใช้กระสอบพลาสติก ทำให้เกิดพลาสติกจำนวนมาก

เราจึงต่อยอดสู่การทำเรื่องรีไซเคิล ด้วยการนำเศษพลาสติกที่เหลือจากกระบวนการผลิต และไม่มีสิ่งปนเปื้อน กลับมาใช้ซ้ำภายในโรงงาน ในรูปแบบของการนำกลับมาใช้ซ้ำทั้งหมดหรือผสมกับเม็ดพลาสติกใหม่ในอัตราส่วนต่าง ๆ ส่งผลให้ไม่มีขยะเหลือเป็นของเสียในอุตสาหกรรม (reduce)

สำหรับความร่วมมือกับบูติคนิวซิตี้ โดยการนำผ้าโพลีเอสเตอร์จากการผลิตเสื้อผ้า ซึ่งเป็นผ้าส่วนเกินมารีไซเคิล โดยใช้ผสมทดแทนวัตถุดิบในการผลิตบางส่วน และพบว่าสามารถทดแทนได้ส่วนหนึ่ง โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้ออกมายังอยู่ในคุณภาพมาตรฐานที่กำหนดไว้

จากนั้นนำมาผ่านกระบวนการทอเป็นแผ่นพลาสติกและนำมาตัดเย็บ จึงเป็นที่มาของกระเป๋าอเนกประสงค์ Mimi ซึ่งมีความแข็งแรง และทนทานจนสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้อีกหลายครั้ง

นับว่าไม่ธรรมดาเลย