“บรรยง” แนะสร้างความยั่งยืนผ่านทุนนิยม ชี้รัฐควรลดอำนาจ เน้นสร้างความเป็นธรรม

วันที่ 23 สิงหาคม 2560 นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) กล่าวปาฐกถา เรื่อง “โครงสร้างของความยั่งยืน” ในงานสัมมนา CSR 360 องศา “รวมใจ…นำไทยยั่งยืน” จัดขึ้นโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ว่า จากกระแสทั่วโลกที่พูดถึงในเรื่อง “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs)” หมายถึงการพัฒนาในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนาศึกษา การลดความเหลื่อมล้ำ ลดความยากจน ฯลฯ ที่จะใช้แก้ปัญหาในโลกปัจจุบันโดยไม่กระทบต่ออนาคต แต่ในปัจจุบันการพัฒนาทั่วโลก เป็นผลจากทุนนิยมเป็นส่วนสำคัญ ดังนั้นโจทย์ใหญ่ในการสร้างความยั่งยืนในเศรษฐกิจโลกที่เป็นทุนนิยม จึงเป็นคำถามที่ว่าจะทำได้หรือไม่

“ทำไมระบบที่ขึ้นอยู่กับการก้มหน้าก้มตาแสวงหากำไรของหน่วยธุรกิจแบบเดิม พาเรามาถึงจุดนี้ แทนที่จะเป็นความล่มสลาย คำอธิบายเรื่องนี้คือ ในขณะที่คนจำนวนไม่น้อยวาดภาพทุนนิยมว่าใช้ความโลภของมนุษย์เป็นตัวนำ แต่คำอธิบายที่ถูกต้องกว่า คือ ทุนนิยมที่ดีเป็นระบบเอาผลประโยชน์ที่มีร่วมกันของมนุษย์เป็นตัวนำ” นายบรรยงกล่าว

นายบรรยงกล่าวว่า ทั้งนี้ ที่ผ่านมาธุรกิจย่อมมีการปรับตัวเพื่อตอบสนองผู้เกี่ยวข้องให้ได้ครบถ้วน ว่าง่ายๆ หากตลาดต้องการ ตลาดสามารถกดดันให้ธุรกิจต้องทำตาม เช่น ผู้บริโภคต้องการสินค้าที่ไม่มีสารเคมี ธุรกิจต้องปรับตัว แรงงานต้องการชีวิตที่ดีกว่าเดิม ก็ทำให้ธุรกิจต้องพัฒนาเพื่อดึงดูดแรงงานกลับเข้ามา

ดังนั้นการสร้างโครงสร้างทุนนิยมที่ดีต้องเริ่มจาก โครงสร้างต้องลดการผูกขาดให้มากที่สุด หากตลาดถูกผูกขาดย่อมไม่มีการแข่งขัน และทำให้ธุรกิจสามารถทำกำไรสูงโดยไม่มีการพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการของสังคม ยิ่งการแข่งขันเข้มข้น ธุรกิจก็ยิ่งคิด และสร้างสิ่งใหม่ๆ ไปตอบโจทย์มุมต่างๆ ในสังคมได้ เช่น พลังงาน อาหาร สิ่งแวดล้อม ชีวิต ความยั่งยืน ฯลฯ

โดยส่วนสำคัญอย่าง “ภาครัฐ” ที่มีอำนาจผูกขาดในตัวเองอยู่เหนือตลาด แต่การจะสร้างนวัตกรรม รัฐต้องถูกจำกัดอำนาจตัวเองให้เหลือน้อยที่สุด ควรลดขนาดเหลือส่วนที่จำเป็น มิฉะนั้น รัฐและหน่วยงานของรัฐมีความเสี่ยงที่จะขยายตัว ในขณะเดียวกัน จะเอื้อต่อการสร้างการผูกขาดในตลาด เพราะธุรกิจขนาดใหญ่มีโอกาสที่จะเข้าถึงรัฐมากกว่า การขยายตัวของรัฐอาจเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์และการครอบงำรัฐ (Stage Capture) ได้มากขึ้น และนำไปสู่การบิดเบือนโครงสร้างสังคมให้มีการแข่งขันมีจำกัด

อย่างไรก็ตาม ทุนนิยมที่สมบูรณ์ไม่อาจมีได้ทุกพื้นที่ ดังนั้นโครงสร้างทุนนิยมที่ดีต้องมีพื้นที่ให้รัฐเข้ามาแทรกแซง วางนโยบายการควบคุมอุตสาหกรรม จัดหาสาธารณูปโภค บริการสาธารณะ ไกล่เกลี่ยผลประโยชน์ผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ รวมถึงจัดเก็บภาษี และจัดสรรทรัพยากร เพื่อสร้างความเป็นธรรม สร้างความยั่งยืน และอื่นๆ ในขอบเขตที่ทุนนิยมไม่สามารถทำได้ ซึ่งโครงสร้างนี้ต้องดูความคงอยู่ของมาตรการของรัฐเสมอ เพื่อให้เท่าทันสถานการณ์และโลกที่เปลี่ยนไป ด้วย

สุดท้ายโครงสร้างทุนนิยมที่เข้มแข็งไม่ใช่คำตอบเดียว ในการแก้ปัญหาความยั่งยืน แต่ที่ผ่านมาทุนนิยมก็พิสูจน์ว่าเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโลก


“ทุนนิยมอาจไม่ใช่สิ่งสวยงามที่สุด แต่ผมเชื่อว่าหลักการปรัชญาทุนนิยมที่ดีที่สร้างโลกมาตลอด 200 ปีนั้น ก็ยังมีความสำคัญในการแก้ปัญหาต่อไป” นายบรรยงกล่าว