TTF Award ของ มธ. ตำราอีบุ๊ก (ห้าม) พลาด ที่นักศึกษา ต้องอ่าน

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สัมภาษณ์พิเศษ

แม้ว่าโลกปัจจุบันจะถูกพัฒนาไปอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยี การจะหาตำราทางวิชาการมาอ่านสักเล่มก็ง่ายแค่คลิกผ่านหน้าจอโทรศัพท์มือถือ ที่เรียกว่า e-Book หนังสือที่ถูกสร้างขึ้นด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แต่ยังมีคนอีกเป็นจำนวนมากที่ยังหลงใหลการอ่านตำราเป็นเล่มกระดาษ

ฉะนั้น หากย้อนกลับไปเมื่อ 25 ปีที่แล้ว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกับมูลนิธิโตโยต้า ประเทศไทย ได้สร้างเวทีให้กับคณาจารย์ อาจารย์ และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อสร้างสรรค์ “ตำราใหม่” ที่อ่านง่ายแต่เข้มผ่านผลงานทางวิชาการดีเด่น TTF AWARD (TOYOTA Thailand Foun-dation Award)

“รศ.เกศินี วิฑูรชาติ” อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขยายความถึงความร่วมมือของทั้ง 2 องค์กรในช่วงที่ผ่านมา และทิศทางการส่งเสริมการพัฒนาตำราใหม่ ต่อจากนี้ว่า คอนเซ็ปต์ของ TTF AWARD ยังคงเน้นกระตุ้นให้นักวิชาการเขียนผลงานใหม่เข้าสู่ระบบ ด้วยการให้รางวัลเป็นตัว “การันตี” ให้นักอ่านรู้ว่าตำราที่มีเครื่องหมายของ TTF AWARD จะต้อง “ห้ามพลาด” เพราะเวทีนี้เปิดกว้างให้นักวิชาการที่สนใจ และต้องการจะแก้ปัญหา โดยให้สังคมใช้องค์ความรู้เพื่อกระตุ้นการอ่าน และส่งเสริมการเรียนรู้ไปในตัวด้วย

“โดยปี 2562 มีผลงานส่งเข้าประกวดเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 30% รวมจำนวนกว่า 100 ผลงาน จากเดิมที่มีผลงานส่งเข้าประกวดอยู่ที่ 60-70 ผลงานแบ่งออกเป็น 4 สาขา คือ สาขาสังคมศาสตร์, สาขามนุษยศาสตร์, สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ และสาขาสิ่งแวดล้อมและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี นอกจากนี้ยังมีรางวัลเกียรติยศอีกด้วย รวมงบประมาณอยู่ที่ 10 ล้านบาทต่อปี สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัล TTF AWARD จะได้รับเงินรางวัลอยู่ที่ 200,000 บาท พร้อมงบประมาณอีกส่วนหนึ่งเพื่อใช้สำหรับผู้เขียนนำไปจัดพิมพ์ตำราเพิ่มประมาณ 500-1,000 เล่ม พร้อมทั้งวางจำหน่ายตามศูนย์หนังสือได้อีกด้วย”

“เพราะหากใช้ขั้นตอนการพิมพ์ของธรรมศาสตร์ในฐานะมหาวิทยาลัยของรัฐ ยังมีระเบียบราชการที่ต้องใช้เวลานาน จึงให้งบประมาณผู้เขียนไปดำเนินการต่อ ดังนั้นการสร้างผลงานแบบนี้จะกระตุ้นคนให้อยากอ่าน อยากรู้ ถือเป็นแหล่งองค์ความรู้ที่มีความชัดเจน มีความถูกต้องที่สำคัญคือผ่านการสังเคราะห์มาแล้ว ฉะนั้น เมื่ออ่านเล่มใดเล่มหนึ่งแล้วยังสามารถเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายแวดวงการอ่านเพิ่ม ทำให้คนได้พัฒนาแนวความคิด แสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ทั้งยังอาจช่วยสร้างแรงบันดาลใจ และสร้างบรรยากาศของ life long learning อีกด้วย”

“รศ.เกศินี” กล่าวถึงตัวอย่างของผลงานที่รับรางวัล และได้รับความสนใจจากนักอ่านเป็นอย่างมาก เช่น ผลงานทางด้านสังคมศาสตร์ (เถียงกันเรื่องแท้ง : สุขภาพ เสรีภาพ ศีลธรรม) ของ “รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์” ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ (โรคสมาธิสั้น) ของ “รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล” คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น

“ผลงานเหล่านี้เป็นเรื่องที่จับต้องได้ สังคมให้ความสนใจ และประกอบด้วยเนื้อหาที่มีความละเอียดเป็นอย่างมากนอกจากนี้ยังมีบางผลงานที่นำงานวิจัยมาต่อยอดเป็นตำราใหม่ ๆ เพื่อใช้ในการเรียนการสอนได้อีกด้วย สำหรับเงื่อนไขรางวัลที่กำหนดไว้ หนังสือที่ได้รับรางวัลจะปรากฏตราสัญลักษณ์รางวัล TTF AWARD บนปกหนังสือ อีกทั้งต้องมีพิมพ์ประกาศเกียรติคุณ คำแถลงของมูลนิธิโตโยต้า ประเทศไทย และรายงานต่อคณะกรรมการมูลนิธิโตโยต้า ประเทศไทย แทรกในหนังสือที่ได้รับรางวัล”

“หลังจากนั้นจะมีการมอบเงินสนับสนุนการจัดพิมพ์หนังสือรอบใหม่ให้กับสำนักพิมพ์ จำนวนไม่เกิน 50,000 บาทโดยต้องจัดพิมพ์หนังสือรอบใหม่ให้กับสำนักพิมพ์จำนวนไม่เกิน 50,000 บาท และต้องจัดพิมพ์ให้แล้วเสร็จ พร้อมจัดส่งหนังสือจำนวน 100 เล่ม เพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์หนังสือ และการจัดงาน โดยหนังสือที่ได้รับรางวัล หากมีการพิมพ์ซ้ำในระยะเวลา 3 ปี สามารถจัดพิมพ์ในจำนวนเดิมที่ระบุไว้ในเงื่อนไขได้”

สำหรับทิศทางของ “TTF AWARD” ที่อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดในอนาคตนั้น “รศ.เกศินี” กล่าวว่ามีเรื่องคือ

หนึ่ง การเตรียมนำตำราจากกระดาษมาพัฒนาเป็น e-Book ร่วมกับสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะนี้เริ่มทดลองทำการตลาดแบบคู่ขนานกันไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความต้องการของเจ้าของผลงานด้วย รวมถึงยังต้องดำเนินการสำรวจความต้องการของตลาดด้วยว่าเป็นอย่างไร

สอง เพิ่มตำราเป็นภาษาอังกฤษ จากเดิมที่มีตำราแค่เพียงภาษาไทย ถือว่าเป็นการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาไปพร้อมกัน โดยจะระบุในคุณสมบัติของคณาจารย์ที่ต้องการปรับเลื่อนตำแหน่ง จะต้องมีการเขียนตำรา หรืองานวิจัยที่เป็นภาษาอังกฤษได้ด้วย

สาม ปรับระยะเวลาการส่งผลงานเข้าประกวด จากเดิมที่จัดขึ้นปีละครั้งมาเป็น 2 ปี/ครั้ง เพื่อให้นักเขียนตำรามีเวลาในการสร้างสรรค์ผลงานได้มากขึ้น

“การขอตำแหน่งอย่างล่าสุดกำหนดว่า ส่วนหนึ่งของตำราต้องเป็นภาษาอังกฤษ เท่ากับว่าได้ช่วยยกระดับขีดความสามารถของอาจารย์ไปในตัวด้วย หากมองในมุมนี้ จะได้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น ถือเป็นการรับรองคุณภาพทั้งในแง่ของตำรา และได้รับรองบุคลากรทางด้านการศึกษาของไทยในระดับ globalอีกทั้งยังถือว่าเป็นการส่งเสริมให้งานเขียนไทยเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติอีกด้วย สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราอยากเห็น และอยากให้เกิดขึ้นกับวงการการศึกษาไทย”

“เพราะเราต้องการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาของธรรมศาสตร์ หรือแม้แต่นักศึกษาธรรมศาสตร์เอง เนื่องจากเรามีการจัดอันดับหนังสือที่นักศึกษาสนใจในระดับปริญญาตรีที่ควรอ่านด้วย เพราะเชื่อมั่นว่าการโปรโมตตำราเหล่านี้ยังทำให้เกิดโอกาสใหม่ ๆ ของนักวิชาการ นักเขียนในหลากหลายมิติตามมาด้วย เช่น นักเขียนมีการทำวิจัยมากขึ้น และยังอาจมีความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศในการร่วมกันเขียนผลงานที่มีประโยชน์ให้เกิดขึ้นอีกมากมาย”

“ดังนั้น เวทีของ TTF AWARD นับจากนี้ยังคงดำเนินการต่อเนื่องต่อไปและกำลังก้าวสู่ปีที่ 26 เพื่อกระตุ้นการเขียนตำราที่น่าสนใจจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านให้มากขึ้น โดยเฉพาะยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจากการพัฒนาเทคโนโลยี ขณะที่แวดวงสังคมนักอ่านก็ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ว่า platform ในการแสวงหาความรู้มีช่องทางหลากหลายมากขึ้น ที่สำคัญ เวทีของ TTF AWARD จะไม่เป็นแค่เวทีการันตีงานเขียนทางวิชาการที่มีคุณภาพเท่านั้น”


แต่รายละเอียดของงานเขียนเหล่านี้ยังเป็นตัว “ชี้วัดความสามารถ” ในการแข่งขันของประเทศไทยว่าอยู่ในระดับใดของโลกอีกด้วย