รัฐบาลช่วยแน่ “มนุษย์เงินเดือน” ประกันสังคม ม.33 ลุ้นได้ 4,000-5,000 บาท

มาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภายใต้งบประมาณปกติ และวงเงินกู้ 2 ล้านล้าน

1 ในมาตรการซึ่งเป็นที่รอคอยของกลุ่มที่ได้รับการเยียวยาน้อยที่สุดคือ “มนุษย์เงินเดือน” ที่อยู่ภายใต้ระบบประกันสังคม

“สุชาติ ชมกลิ่น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดใจสัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้กระทรวงแรงงานหารือแนวทางช่วยเหลือแรงงานผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จำนวน 11 ล้านคน กับกระทรวงการคลัง และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ให้รวดเร็วทันการณ์ “สุชาติ” ส่งการบ้าน หลังการหารือ ดังนี้

เยียวยาคนละ 4,000-5,000 บาท

ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง และสภาพัฒน์หารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 อย่างเร่งด่วนที่สุด

การเข้าพบหารือกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ ได้ข้อสรุปเบื้องต้น แบ่งออกเป็นแนวทาง ดังนี้

วิธีที่หนึ่ง คนละ 4,000 บาท วิธีที่สอง คนละ 4,500 บาท วิธีที่สาม คนละ 5,000 บาท ทยอยจ่ายเป็นสัปดาห์ละประมาณ 1,000 บาท โดยคิดจากฐานมาตรการช่วยเหลือของกระทรวงแรงงานก่อนหน้านี้ เช่น การลดส่งเงินสมทบสำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ไปแล้ว 3 ครั้ง มาตรการใหม่จะเติมเต็มให้อีกประมาณ 4,000 บาท

สำหรับมาตรการลดส่งเงินสมทบของกระทรวงแรงงานที่ผ่านมา ครั้งแรก เดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563 ครั้งที่สอง เดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2563 ครั้งที่สาม เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2564 รวมช่วยเหลือผ่านเงินกองทุนประกันสังคมไปแล้ว 68,669 ล้านบาท

เกณฑ์เดียวกับ “เราชนะ”-แหล่งเงิน พ.ร.ก.กู้เงิน 4 หมื่นล้าน

สำหรับคุณสมบัติ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขสำหรับมาตรการช่วยเหลือสำหรับแรงงานผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เช่นเดียวกับโครงการ “เราชนะ” ได้แก่ มีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ มีรายได้ไม่เกิน 300,000 บาทต่อปี มีเงินฝากในธนาคารไม่เกิน 500,000 บาท

สำหรับงบประมาณมาจากแหล่งเดียวกับโครงการเราชนะ ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้กระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท โดย พล.อ.ประยุทธ์สั่งให้ทบทวนและหามาตรการดูแลผู้ใช้แรงงานมาตรา 33 ซึ่งต้องขอดูตัวเลขเม็ดเงินก่อน

ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาให้ได้ส่วนข้อสรุปในรายละเอียดเรื่องตัวเลขงบประมาณที่จะใช้ในมาตรการ ขณะนี้เป็นการหารือในเบื้องต้น ทั้งนี้ หากช่วยเหลือคนละ 4,000 บาท งบประมาณที่ต้องใช้ราว 40,000 ล้านบาท

“ได้หารือกับนายอาคมเบื้องต้นแล้ว ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ให้หาแนวทางช่วยเหลือ ซึ่งหมายความว่า ช่วยแน่นอน นึกถึงผู้ใช้แรงงานมาตรา 33 แน่นอนและเกิดความพอใจกับทุกฝ่าย”

เยียวยามาตรา 33 กว่า 9.2-9.5 ล้านคน

สำหรับแรงงานผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่จะได้รับการตรวจสอบคุณสมบัติมาตรการช่วยเหลือ จำนวน 9.2-9.5 ล้านคน จากทั้งหมด 11 ล้านคน โดยหักผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 1.1 ล้านคน และแรงงานต่างด้าว จำนวน 1 ล้านคน

“ส่วนมาตรา 39 มาตรา 40 ถ้าหากเข้าเกณฑ์โครงการ ‘เราชนะ’ ก็ได้รับความช่วยเหลืออยู่แล้ว ส่วนที่เหลือถ้าเข้าเกณฑ์โครงการเราชนะ เขาก็ต้องได้”

ทั้งนี้ ผู้จ่ายประกันสังคมมาตรา 39 อยู่ในระบบ 1 ล้านกว่าคน เป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2.8 แสนคน มาตรา 40 อยู่ในระบบ 3 ล้านกว่าคน เป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 1.8 ล้านคน

“วันนี้รัฐบาลดูแลทั้งหมดแล้ว ดูแลคนไทยทั้งประเทศแล้ว หลักเกณฑ์เดียวกันกับโครงการเราชนะ แต่ตัวเลขการช่วยเหลืออาจจะลดลงมาหน่อย เพราะมาตรา 33 มีแต้มต่ออยู่แล้ว”

รมว.แรงงานย้ำว่า หลังจากนี้จะมีการหารือกับกระทรวงการคลังและสภาพัฒน์ให้จบ พยายามทำให้เร็วที่สุด ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายสั่งการให้หาข้อสรุปให้เร็วที่สุด

“รัฐบาลช่วยเหลือ เยียวยาดูแลทุกคน ส่วนตัวเลขจะได้เท่าโครงการเราชนะ 7,000 บาทหรือไม่ หรือจะ 4,000 บาท 4,500 บาท 5,000 บาท ขอให้หารือกันให้ได้ข้อสรุปสุดท้ายก่อน”

“อย่าลืมว่า เรามีแต้มต่อ เราตกงาน เราไม่มีเงิน แต่ก็ยังมีเงินจากกองทุนมาช่วยเรา แต่อาชีพอิสระไม่มีอะไรเลย ผมเป็นห่วงพี่น้องผู้ใช้แรงงาน เต็มที่แน่นอน ขอให้ให้กำลังใจกัน เป็นเรื่องธรรมดาที่ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่ไม่ใช่ไม่ได้เลย”

เคลียร์สหภาพแรงงานจบ น้อยกว่า “เราชนะ”

กระทรวงแรงงานได้หารือกับสหภาพแรงงานถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเรียกร้องให้นึกถึงแรงงานมาตรา 33 บ้าง จึงต้องการให้ช่วยเหลือเช่นเดียวกับโครงการ “เราชนะ” คนละ 7,000 บาท

อย่างไรก็ดี ล่าสุดสหภาพแรงงานได้ให้คำแนะนำว่า “ขอให้มีมาตรการช่วยเหลือบ้าง” ไม่ได้ตั้งเป้าว่าต้องให้ 7,000 บาท เหมือนกับโครงการ “เราชนะ”

“พูดตรง ๆ ว่าจะให้ 7,000 บาท คงไม่พอ ต้องเข้าใจว่า รัฐบาลเองต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนร้อยละ 2.75 เหมือนเดิมทุกปี ปีละ 4,000 กว่าล้านบาท และที่ผ่านมากระทรวงแรงงานออกมาตรการช่วยเหลือแรงงานผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ไปแล้วหลายมาตรการ เช่น การลดส่งเงินสมทบให้กับลูกจ้างไปแล้วหลายรอบ ซึ่งส่วนนี้หายไปหลายหมื่นล้าน”

นอกจากนี้ แรงงานผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ยังมีรายได้ ถึงแม้จะถูกลดชั่วโมงการทำงาน ได้ค่าล่วงเวลา (OT) น้อยลง แต่อย่าลืมว่า ถ้าบริษัทหยุดงาน โดยคำสั่งรัฐเพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น โรงแรม สามารถมารับเงินชดเชยได้ร้อยละ 50 จำนวน 3 เดือน ยกตัวอย่าง 15,000 บาทต่อเดือน จะได้รับเงินชดเชย 7,500 บาทต่อเดือน

นอกจากนี้ กฎกระทรวงแรงงานที่ออกมาสามารถช่วยเหลือกรณีโรงแรมปิดกิจการชั่วคราว พนักงานสามารถเบิกเงินกองทุนได้ 90 วัน และถ้าได้มีมาตรการช่วยเหลือออกมาก็จะสามารถเติมเต็มได้อีก ขณะที่อาชีพอิสระยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือ

“อย่างน้อยผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 จำนวน 11 ล้านคน ยังมีเงินเดือน ถึงไม่มีเงินเดือนเพราะคำสั่งรัฐปิดกิจการเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ยังได้จากประกันสังคมรองรับอยู่ แต่จะให้ได้ 7,000 บาท มันจะตึงมากเกินไป และกระทรวงแรงงานก็จะไปไม่ไหว ผมพยายามช่วยทุกคนจริง ๆ”

“ผมคุยกับสหภาพแรงงานแล้ว ซึ่งเขาขอให้มีบ้าง ถึงแม้ว่ายังมีงานทำอยู่ ไม่ได้ตกงาน ขอให้เราอยู่กันแบบพี่น้อง คนไทยด้วยกัน แบ่งเบาซึ่งกันและกัน แบ่งปันซึ่งกันและกัน”