ซีเอสอาร์ภาคตลาดทุน พร้อมขับเคลื่อน “เศรษฐกิจหมุนเวียน”

เศรษฐกิจหมุนเวียน

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับสมาคมส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (ประเทศไทย) หรือ Thai SCP Network และโครงการประสานงานการวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDG Move จัดกิจกรรมสัมมนาผ่านระบบออนไลน์

ภายใต้โครงการบูรณาการและขับเคลื่อนภาคส่วนของไทยสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (CE Innovation Policy Forum) ในกลุ่มการเงินและตลาดทุน ครั้งที่ 1 ในประเด็นเรื่อง ทิศทาง บทบาท และโอกาสของภาคการเงินในบริบทเศรษฐกิจหมุนเวียน และแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนไทย โดยมีผู้สนใจทั้งกลุ่มผู้ประกอบการ สถาบันการเงิน นักลงทุน และหน่วยงานด้านนโยบายเข้าร่วมกว่า 80 คน มาแลกเปลี่ยนมุมมองแนวคิดต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน

ปรับมุมมอง CE เป็นโอกาสธุรกิจ

เบื้องต้น “ผศ.ดร.ธีรวุฒิ ศรีพินิจ” คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ CE แต่ละภาคส่วนมีความเชื่อมโยงกันหมด เมื่อภาคธุรกิจมีโอกาส ภาคการเงิน นักลงทุน รวมถึงภาครัฐ ผู้สนับสนุนนโยบายก็มีโอกาสในการสนับสนุนทำให้เกิด CE ได้

ผศ.ดร.ธีรวุฒิ ศรีพินิจ
ผศ.ดร.ธีรวุฒิ ศรีพินิจ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“แต่ทุกภาคส่วนต้องทำความเข้าใจร่วมกัน และต้องเรียนรู้โอกาสใหม่ ๆ ที่เข้ามา เช่น จากที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจเดิมที่ผลิต ซื้อ ขาย บริโภค แล้วก็ทิ้ง เห็นความเสี่ยงของธุรกิจต่ำ ให้หันไปมองถึงผลกระทบทางทรัพยากรสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และปรับมุมมองต่อ CE เพราะถ้าย้อนกลับไปในอดีต มีน้อยมากที่ธุรกิจจะนำสิ่งที่ผลิตใช้แล้วส่งต่อให้คนอื่นใช้ หรือวนลูปกลับมารีไซเคิลใช้ใหม่ เพราะมองว่าเป็นความเสี่ยงและเป็นภาระค่าใช้จ่าย”

“ดังนั้น ที่เห็นว่ามีความเสี่ยงสูง จึงอยากให้มองเป็นโอกาสในการเติบโตของธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในระยะยาว เหมือนอย่างเช่น Airbnb ที่เข้ามาสั่นสะเทือนธุรกิจโรงแรม เป็นการเปลี่ยนห้องว่าง ๆ ที่ไม่ได้ใช้งาน มาทำเงิน ซึ่งไม่มีใครจะรู้ว่าเกิดธุรกิจแบบนี้ขึ้น ก็เป็นหนึ่งตัวอย่างน่าสนใจ”

“ทั้งนี้ บทบาทของภาคการเงินในการขับเคลื่อน CE จะเป็นตัวช่วยในเรื่องการจัดการความเสี่ยง หาทางเลือกใหม่ ๆ เข้ามาสนับสนุนผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการทางการเงิน และผู้กำหนดออกแบบนโยบาย ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างโอกาสใหม่ เผชิญกับความเสี่ยงใหม่ ลดความเสี่ยงเดิม”

ความกดดัน สวล.ทิศทางใหม่

ขณะที่ “พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา” ตัวแทนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจำเป็นต้องยึดแนวทางสิ่งแวดล้อมเป็นความกดดันเพื่อโอกาสในการเติบโตของธุรกิจ อย่างกลุ่มประเทศ G7, G20, World Bank, กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ต่างเห็นตรงกันว่าปัญหาสภาพแวดล้อมของโลก ถือเป็นกระแสหลัก ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา
พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ตัวแทนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

“ยกตัวอย่าง อินโดนีเซีย, มาเลเซีย เริ่มมีข้อพิพาทกับสหภาพยุโรป (EU) เพราะพยายามปิดกั้นตลาดน้ำมันปาล์ม เพื่อลดการทำลายป่าหรือการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพจากสวนปาล์ม แต่ทว่าน้ำมันปาล์มเป็นอุตสาหกรรมหลักของ 2 ประเทศนี้”

“เช่นเดียวกับการประชุม G7 เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมผ่านมา ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกประกาศยุติการอุดหนุนเงินทุนระหว่างประเทศให้กับโครงการที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานถ่านหิน ลดการสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมด ซึ่งสิ้นปีนี้จะต้องจบลง ขณะเดียวกัน ตอนนี้ EU กำลังพิจารณากฎหมาย 13 ฉบับ ซึ่งเกี่ยวข้องกับธุรกิจและสิ่งแวดล้อมก็อาจจะนำไปสู่การปิดกั้นการนำเข้าต่าง ๆ ถ้าพบว่าสินค้าเหล่านั้นมีผลต่อสิ่งแวดล้อม”

“ในส่วนของประเทศไทย ดิฉันถือว่าเรามีพัฒนาการที่ดี เพราะมีวาระแห่งชาติอย่าง BCG (Bio-Circular-Green Economy) สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของโลก เพราะเป็นการมุ่งใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และก็นวัตกรรม เพิ่มมูลค่าสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยคาดการณ์ว่ามูลค่าจากอุตสาหกรรม BCG จะขยายตัวจาก 3.4 ล้านล้านบาท เป็น 4.4 ล้านล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า รวมถึง
เกิดกระแส ESG (Environment, Social, Governance), เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นทิศทางที่ดี”

ตลท.พร้อมขับเคลื่อน CE

“พิมพรรณ” กล่าวต่อว่า สำหรับบทบาทของ ตลท.คือ การเตรียมความพร้อม เสริมความแข็งแกร่งรอบด้านให้กับบริษัทจดทะเบียน ที่ผ่านมาขับเคลื่อนเรื่อง ESG แนวทางดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงปัจจัยสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี ในฝั่งบริษัทจดทะเบียนด้วย SET Sustainability Model เริ่มจากการตั้งมาตรฐาน แนวทางปฏิบัติ ทำให้เกิดการนำไปใช้จริง

“ปีที่ผ่านมามีการทำเรื่องการวิเคราะห์หาประเด็นสำคัญที่มีผลต่อการอยู่รอดและความยั่งยืนของบริษัท วิเคราะห์ทั้งห่วงโซ่คุณค่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด เพื่อมองหาความเสี่ยงและโอกาสในการประกอบธุรกิจ จนนำไปสู่การสร้างกลยุทธ์ที่ยั่งยืนของบริษัทนั้น ๆ ในส่วนสถาบันตัวกลางและผู้ลงทุน ตลท.เข้าไปทำงานกับสมาคมต่าง ๆ ในตลาดทุน เพื่อเสริมความรู้ความเข้าใจบุคลากรในเรื่องของการลงทุนอย่างยั่งยืน”

“ส่วนเรื่องของ CE ตลท.เชื่อว่าเป็นหนึ่งในแนวทางการเติบโตใหม่ ยกตัวอย่าง บริษัทชั้นนำไทยที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้จริงจัง ได้แก่ ไทยวา ซึ่งเป็นบริษัทผลิตแป้งมันสำปะหลัง ล่าสุดร่วมมือกับสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งทำวิจัยเพื่อพัฒนาแป้งมันให้เป็นเม็ดพลาสติกที่ย่อยสลายได้ 100 เปอร์เซ็นต์”

“จนนำมาทำแผ่นพลาสติกคลุมดิน เพื่อแก้ไขปัญหาวัชพืชในแปลงปลูกมันสำปะหลังของเขาเอง พอหมดอายุ พลาสติกนี้จะย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ย ซึ่งดีกับองค์กรเขา ขณะเดียวกันก็สามารถเพิ่มมูลค่าด้วยการผลิตออกมาเป็นขวด ถุง ภาชนะใส่อาหาร ซึ่งมีคุณสมบัติทนความชื้น เหนียว ซับน้ำมันได้ดีกว่าตลาดทั่วไป”

ไม่เว้นแต่บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC บริษัทธุรกิจเคมีภัณฑ์ ซึ่งกำลังขับเคลื่อนสู่ธุรกิจรีไซเคิล ที่ผ่านมาพยายามสร้างอีโคซิสเต็มในการจัดการผลิตภัณฑ์พลาสติกเพื่อให้หมุนเวียนกลับไปใช้ประโยชน์ได้อย่างต่อเนื่อง จนวันนี้อีโคซิสเต็มค่อนข้างเข้มแข็ง แล้วก็ขยายตัวอย่างกว้างขวาง มีเครือข่ายอาคารสำนักงาน ห้างร้าน คู่ค้าต่าง ๆ ตลอดจนประชาสังคม

นอกจากนี้ ยังจับมือกับบริษัทซาเล้งต่าง ๆ พัฒนาโลจิสติกส์ของตัวเอง เพื่อบริหารดึงสิ่งของใช้แล้วกลับเข้าสู่ระบบของตนเอง และที่ปลายทางก็มีคู่ค้ารอนำเม็ดพลาสติกรีไซเคิลแปรรูปเป็นสินค้าปัจจัยสี่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์อาหาร ไม้เทียม อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน เครื่องนุ่งห่มเส้นใย ฯลฯ

เช่า-ใช้-คืน-รีไซเคิล

สำหรับทางฝั่งผู้ประกอบการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างบริษัท นอนนอน สตาร์ตอัพผู้คิดค้นแพลตฟอร์มให้เช่าที่นอนใหม่สำหรับธุรกิจที่พัก

นพพล เตชะพันธ์งาม
นพพล เตชะพันธ์งาม ผู้ก่อตั้งและ CEO นอนนอน

“นพพล เตชะพันธ์งาม” ผู้ก่อตั้งและ CEO นอนนอน ได้แบ่งปันถึงแนวทางการประกอบธุรกิจว่า จากการสานต่อธุรกิจผลิตที่นอนภายใต้แบรนด์ สปริงแมท (springmate) ของครอบครัว ในฐานะทายาทรุ่นที่ 4 มาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี มองเห็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจตนเองอยู่ 3 ด้าน คือ

หนึ่ง ธุรกิจที่พักส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงที่นอนคุณภาพสูง ด้วยงบประมาณการลงทุนที่จำกัด จึงซื้อที่นอนคุณภาพต่ำที่มีอายุการใช้งานสั้น ๆ แค่ 2-3 ปี มาบริการลูกค้าแทน

สอง ยังไม่มีวิธีการทิ้งที่นอนอย่างถูกต้องตามหลักจริยธรรมและสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่นำไปฝังกลบ เผาทำลายหรือทิ้งตามแหล่งน้ำ ทำให้ส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมตามมา

สาม การรีไซเคิลที่นอนยังไม่เกิดขึ้น ทั้งในไทยและต่างประเทศ เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการรีไซเคิลค่อนข้างสูง ไม่คุ้มค่ากับการดำเนินธุรกิจ ทำให้ทั่วโลกมีที่นอนถูกทิ้งหลายร้อยล้านชิ้นต่อปี ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมมหาศาล

นอน-นอน

“ฉะนั้น จึงเป็นเหตุผลให้ผมต้องหากลไกทางธุรกิจใหม่ พัฒนาแพลตฟอร์ม ‘นอนนอน’ โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการขาย เป็นการเช่า เปลี่ยนระบบอุปโภคจากเดิมซื้อ ใช้ ทิ้ง มาเป็นระบบเช่า ใช้ คืน และรีไซเคิล”

โดยกลไกของนอนนอน คือ การใช้เงินทุนจากการออกตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า พันธบัตรสีเขียว (green bond) มาซื้อที่นอนใหม่คุณภาพสูง ซึ่งได้มีการพาร์ตเนอร์กับแบรนด์ที่นอนชั้นนำที่มีการผลิตและจำหน่ายอยู่ในแต่ละประเทศที่แพลตฟอร์มเราเปิดให้บริการ ด้วยการให้ลูกค้าเช่าไปใช้งานเป็นเวลา 60-120 เดือน หรือ 5-10 ปี

“ซึ่งสอดคล้องกับรอบการเปลี่ยนที่นอนตามมาตรฐานสากลของโรงแรม โดยลูกค้าจะต้องชำระค่าใช้บริการเป็นรายเดือน ที่เริ่มต้นเพียงเดือนละ 2-3 เหรียญต่อชิ้น หรือราว ๆ 71 บาทเป็นต้นไป เมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่าจะถูกเก็บกลับมาเพื่อแยกชิ้นส่วนไปรีไซเคิล หรืออัพไซเคิล โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม”

ตั้งเป้าลดมลพิษช่วยโลก

“นพพล” กล่าวต่อว่า ในส่วนของกระบวนการรีไซเคิล เริ่มจากการนำที่นอนมาแยกชิ้นส่วนตามประเภทวัสดุ โดยผ้าและเส้นใยต่าง ๆ สามารถที่จะอัพไซเคิลเป็นไส้กรองน้ำมันอุตสาหกรรม หรือนำไปแปรรูปเป็นเส้นใยในอุตสาหกรรมสิ่งทอได้

ส่วนวงสปริงที่เป็นเหล็กสามารถนำไปหลอมเป็นเหล็กใหม่ สำหรับฟองน้ำสามารถย่อยสลายด้วยวิธีการทางเคมีให้กลายเป็นโมเลกุลที่สามารถนำไปใช้ต่อในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้

“ขณะนี้เรากำลังทำการค้นคว้า และวิจัยร่วมกับสถาบันการศึกษานานาชาติ เพื่อให้กระบวนการดังกล่าวมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจสูงสุดมากขึ้น ทั้งยังอยู่ในช่วงศึกษาบริการของนอนนอน เพื่อประเมินปริมาณของเสีย และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่นอนนอนจะช่วยลดลงในช่วงเวลาข้างหน้า”

“ตอนนี้กลุ่มลูกค้าคือ โรงแรม และรีสอร์ตในไทย และอินโดนีเซีย ผมตั้งเป้าว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า จะขยายธุรกิจไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศที่มีการเติบโตทางการท่องเที่ยวสูง อย่างไรก็ตาม บริการของนอนนอนถือว่าเอื้อให้ธุรกิจบริการที่พักสามารถสนับสนุนการรีไซเคิลที่นอนที่พ้นสภาพการใช้งานแล้วโดยปริยาย”

“เพราะเป้าหมายสำคัญที่สุดของเราคือ การเปลี่ยนระบบการผลิตและอุปโภค เพื่อให้มั่นใจว่าทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดจะถูกใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งยังช่วยลดมลพิษอีกด้วย”