ถอดมุมคิด “ศิริราช” ความสำเร็จเกิดขึ้นจากการลงมือทำ

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาล มหาวิทยาลัยมหิดล

ภายในงานสัมมนา “Thailand Quality Award 2020 Winner Conference” ที่มีสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้จัดงาน

มีหลายองค์กรที่ได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award-TQA), รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่นด้านนวัตกรรม (Thailand Quality Class Plus : Innovation), รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่นด้านการปฏิบัติการ (Thailand Quality Class Plus : Operation)

และรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class-TQC) ที่ไม่เพียงจะมาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ และถอดบทเรียนความสำเร็ จจากองค์กรต่าง ๆ หากความสำเร็จดังกล่าวยังส่งผลต่อผู้เข้าร่วมรับฟังสัมมนาออนไลน์วันนั้นด้วย

โดยในส่วนของคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่นด้านการปฏิบัติการ (Thailand Quality Class Plus : Operation) เมื่อปี 2020 มาร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยในหัวข้อ “การขับเคลื่อนองค์กรอย่างมีวิสัยทัศน์สู่ความเป็นผู้นำ และองค์กรสมรรถนะสูง”

ซึ่งมี “ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา” คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้บรรยาย

เบื้องต้น “ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์” กล่าวถึงวิสัยทัศน์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลที่ต้องการเป็นสถาบันทางการแพทย์ของแผ่นดิน เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศในระดับสากล

โดยตั้งเป้าหมายในปี 2567 จะต้องเป็นองค์กรสู่ความเป็นเลิศ เพื่อมุ่งสู่อนาคตด้วยผลงานที่เป็นเลิศ ขณะเดียวกันก็ตั้งเป้าหมายในปี 2572 ที่จะต้องเป็นผู้นำ และผู้ชี้นำเพื่อสร้างสรรค์สุขภาวะแก่มวลมนุษยชาติ

ซึ่งอยู่บนพันธกิจ 3 ด้าน คือ

หนึ่ง จัดการการศึกษาเพื่อผลิตบัณฑิต บุคลากรทางการแพทย์ทุกระดับ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

สอง ทำการวิจัย และให้บริการวิชาการ

สาม ให้บริการทางการแพทย์

โดยมีการวางยุทธศาสตร์ทั้งหมด 5 ด้านประกอบกัน ได้แก่ 1.ปฏิรูปเพื่ออนาคต 2.บูรณาการ 3.ร่วมมือกับพันธมิตร 4.พัฒนาความเป็นมืออาชีพ และ 5.เสริมฐานความยั่งยืน

“ฉะนั้น ภาพอนาคตของคณะแพทยศาสตร์ฯนับตั้งแต่ปี 2563-2572 จึงต้องวางระบบงานด้านการศึกษา, การวิจัย, การบริการทางการแพทย์ และการบริหารจัดการด้วยความเข้มแข็งเพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ และพันธกิจที่จะต้องนำองค์ประกอบในเรื่องของการชี้นำ และการตั้งเป้าหมายที่ท้าท้าย”

“นอกจากนั้นยังจะต้องสื่อสารเพื่อถ่ายทอดสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็ต้องกำกับ ติดตาม และบริหารจัดการให้เกิดผลลัพธ์ดีที่สุด เพื่อสร้างแรงจูงใจและความผูกพันกับบุคลากรทุกภาคส่วน และหากมีส่วนไหนผิดพลาดจะต้องปรับปรุง รีบแก้ไขเพื่อความยั่งยืนในอนาคต”

ผลตรงนี้ เมื่อดูรายละเอียดในการสร้างเครือข่ายระดับนานาชาติจะพบว่า คณะแพทยศาสตร์ฯไม่เพียงถูกคัดเลือกให้เป็นสำนักงานเลขาธิการฝั่งอาเซียน (Permanent Secretary General) หาก “ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์” ยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานฝ่ายอาเซียนอีกด้วย

ขณะเดียวกัน การจัดการทางด้านการศึกษา โดยเฉพาะหลักสูตรใหม่ต่อจากนี้ไปการเรียนการสอนจะเป็นลักษณะของ “Hybrid Program 6” คือ เรียนแพทย์ 6 ปี แต่ถ้านักศึกษาคนไหนสนใจ หรือมีศักยภาพสูง สามารถเลือกเรียนสาขาอื่นในระดับปริญญาโทควบคู่ไปพร้อมกันระหว่างการเรียนแพทย์อีก 1 สาขา

ซึ่งนักศึกษาจะได้ 2 ปริญญา แต่ใช้เวลาเท่าเดิม ทั้งนั้นเพื่อเพิ่มศักยภาพบัณฑิต และมหาบัณฑิต ให้มีความสามารถที่หลากหลายมากขึ้น

นอกจากนั้น “ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์” ยังกล่าวถึงการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะ application SIRIRAJ ALUMNI ที่ตอนนี้มีการพัฒนาเชื่อมต่อกับระบบ SICMS และเว็บไซต์ของศิษย์เก่า

“เราต้องการปรับรูปแบบการแสดงข่าวสาร ประชาสัมพันธ์ ปฏิทินกิจกรรม ทะเบียนศิษย์เก่า การแก้ไขข้อมูลส่วนตัวผ่านแอปพลิเคชั่น เพื่อเพิ่มระบบการจัดเก็บข้อมูล การเข้าร่วมกิจกรรม การบริจาค หรือการเพิ่มช่องทางการติดต่อสื่อสารระหว่างศิษย์เก่ากับศิษย์เก่า หรือศิษย์เก่ากับคณะในระบบส่งข้อความ”

ยิ่งเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของมหันตภัยไวรัสร้ายอย่างนี้ด้วย

“ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์” บอกว่า นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน มีการวางยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉิน 2 เรื่องด้วยกัน คือ

หนึ่ง ยุทธศาสตร์ต้นน้ำ ด้วยการลดจำนวนผู้ป่วยใหม่

สอง ยุทธศาสตร์ปลายน้ำ ด้วยการลดอัตราการเสียชีวิต และเพิ่มอัตราการกลับบ้าน, อัตราการหายให้มากขึ้น

ที่สำคัญ ยังมีการวางแผนการบริหารความต่อเนื่องอีก 3 ด้านประกอบกัน คือ

หนึ่ง Preparing phase ที่ไม่เพียงต้องติดตามข่าวสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในต่างประเทศ และภายในประเทศ หากยังต้องประเมินผลกระทบต่อการให้บริการของโรงพยาบาล หากต้องรับผู้ป่วยโควิด-19

นอกจากนั้น ยังต้องประเมินความพร้อมของทรัพยากรที่จำเป็น และศักยภาพของหน่วยงาน ทั้งยังต้องกำหนดจุดคัดกรอง OPD ด้วยการรับผู้ป่วยที่ห้อง 127 IPD เพื่อแยกผู้ป่วยติดเชื้อ

สอง Disaster phase ด้วยการประชุมวอร์รูมคอมมิตตี เพื่อติดตามสถานการณ์ กำหนดนโยบาย การบริหารจัดการ แนวทางการรักษาผู้ป่วย

นอกจากนั้น ยังมีประชุม BCM Hospital Committee เพื่อมอบหมายนโยบาย และสื่อสารวิธีปฏิบัติงาน เพื่อหาทางดูแลผู้ป่วยเฉพาะกลุ่ม ที่สำคัญ ยังเข้าร่วมประชุมกับหน่วยงานภายนอก ได้แก่ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อทราบนโยบายประเทศ และเสนอข้อคิดเห็นในการวางแผนเชิงนโยบาย

สาม Recovery phase ประกาศใช้แผนกอบกู้ธุรกิจ, การเจาะเลือดแบบไดรฟ์ทรู, การรับยาทางไปรษณีย์, ทบทวนแผน BCM โรคติดเชื้อ, การถอดบทเรียนโควิด-19 และการดำเนินงานตามวิถีใหม่

ทั้งหมดนี้ “ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์” บอกว่า เราจะมีการกำหนดหัวข้อหลัก ๆ เพื่อสำหรับวางแผน พร้อม ๆ กับดำเนินการติดตามการทำงานแบบวันต่อวัน เพื่อให้กระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพสูงสุด

ผลเช่นนี้ จึงทำให้คณะแพทยศาสตร์ฯจึงจำเป็นต้องมุ่งการบริหารทรัพยากรบุคคล โดยแบ่งออกเป็น 3 มิติด้วยกัน คือ

หนึ่ง มิติคนพอ

สอง มิติคนสามารถ

สาม มิติคนผูกพัน

“สำหรับมิติคนพอ เราทำการสรรหาบุคลากรที่มีความรู้ และทักษะที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน ขณะเดียวกัน เราก็มีการประเมินขีดความสามารถของบุคลากร และกำหนดอัตรากำลังให้สอดคล้องกับพันธกิจ”

“ส่วนมิติคนสามารถ เราให้ความสนใจกับบุคลากรที่มีความรู้ และทักษะที่จำเป็นในการปฏิบัติภารกิจ โดยมีการฝึกอบรม, ประเมินผลความรู้ และเพิ่มทักษะของบุคลากรเข้าไป โดยเฉพาะการประเมินผลการปฏิบัติงานที่เป็นธรรม ตรวจสอบได้แต่จะต้องสอดคล้องตามผลลัพธ์ของการดำเนินงานขององค์กร”

“สำหรับมิติคนผูกพัน เราจะมุ่งเน้นรักษาบุคลากร พร้อม ๆ กับสร้างความผูกพันของบุคลากร ด้วยการสร้างสภาวะแวดล้อมในการทำงานที่เอื้อต่อการปฏิบัติงาน และธำรงไว้ซึ่งสุขภาพ และสวัสดิภาพของบุคลากร ขณะเดียวกันก็ต้องสนับสนุน และเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรแก่บุคลากรด้วย”

นอกจากนั้น “ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์” ยังกล่าวถึง “Siriraj Logic Model” เพื่อยกระดับการทำงานให้บรรลุเป้าหมายร่วมกันที่จะต้องมีอย่างน้อย 2 เรื่องด้วยกัน คือ

หนึ่ง วิเคราะห์กระบวนการทำงานหลักให้สอดคล้องวัตถุประสงค์ และเป้าหมายของคณะ ทั้งยังต้องกำหนดตัวชี้วัดผลลัพธ์ (KPI) และตัววัดกระบวนการ (PI) เพื่อใช้ติดตามประเมินผลร่วมกัน

สอง ถ่ายทอด KPI, PI สู่ระดับต่าง ๆ จนถึงรายบุคคล เพื่อนำไปออกแบบ และพัฒนางาน พัฒนาคนให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่กำหนด เพื่อสร้างคุณค่าการทำงานเป็นทีม

“ฉะนั้น Siriraj Logic Model จึงต้องเริ่มจากฝ่ายบริหาร (รองคณบดี) เพื่อถ่ายทอดกระบวนการหลักทั้ง 2 ส่วน (KPI, PI) ไปยังคณะ, หัวหน้าฝ่าย, งาน, หน่วย, ทีม และบุคลากรทุกคน ด้วยการมอบหมายกำกับดูแล ที่ปรึกษา เพื่อพัฒนาสมรรถนะ, งาน พร้อมกับประเมินความก้าวหน้าโดยไม่ใช้ผลลัพธ์มาเป็นตัววัด และตัดสิน”


จึงจะทำให้ความสำเร็จเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน