เคาะแล้ว MOU นำเข้าแรงงาน เร่งแก้ปัญหาลักลอบเข้าเมืองทะลักชายแดน

แรงงานต่างด้าว

กระทรวงแรงงานเตรียมหารือ 4 หน่วยงาน ถึง 7 ประเด็น หลัง ศปก.ศบค.เห็นชอบหลักการนำเข้า MOU แก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติทะลักชายแดน

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เห็นชอบแนวทางการนำแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานตาม MOU ในสถานการณ์โควิดตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยให้เร่งหารือร่วมกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.), กระทรวงการต่างประเทศ (กต.), กระทรวงสาธารณสุข (สธ.), และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เพื่อดำเนินการนำเข้าโดยเร็ว

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ห่วงใยปัญหาแรงงานข้ามชาติลักลอบเข้าเมืองตามเส้นทางธรรมชาติ และการเคลื่อนย้ายแรงงานผิดกฎหมาย

หลังพบสถานประกอบการในประเทศจำนวนมากขาดแคลนแรงงาน จึงได้มอบหมายกระทรวงแรงงานแก้ปัญหาดังกล่าว และวางแนวทางการนำเข้าแรงงานตาม MOU ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด ซึ่งวิธีนี้จะแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างตรงจุด ส่งผลให้ปัญหาลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายเพื่อทำงานลดน้อยลง

สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน

MOU แบ่งกลุ่มแรงงาน 3 สี

สำหรับแนวทางเบื้องต้นยังคงจัดกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่อนุญาตให้เข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

  1. กลุ่มสีเขียว ที่ฉีดวัคชีนครบ 2 เข็ม เป็นระยะเวลา 1 เดือนขึ้นไป จะได้พิจารณาเป็นลำดับแรก โดยต้องแสดงวัคซีนพาสปอร์ต
  2. กลุ่มสีเหลือง ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม แต่ยังไม่ครบกำหนดระยะเวลา 1 เดือน
  3. กลุ่มสีแดง ที่ฉีดวัคซีนเพียง 1 เข็ม หรือยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเลย

“ทั้งนี้ นายจ้าง/สถานประกอบการเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายซึ่งประกอบด้วย ค่าสถานที่กักกัน ค่าตรวจหาเชื้อโควิด-19 ค่ารักษากรณีคนต่างด้าวติดเชื้อ หากแรงงานอยู่ในกิจการที่อยู่ในระบบประกันสังคม และเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 หลังครบกำหนดระยะเวลากักตัวจะได้รับวัคซีนตามสิทธิผู้ประกันตน กรณีไม่ได้เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 นายจ้างจะต้องเป็นผู้จัดหาวัคซีนทางเลือกให้แก่แรงงานข้ามชาติ ซึ่งการอนุญาตให้นำเข้าจะอนุญาตตามจำนวนสถานที่รองรับในการกักตัว”

มติ ครม.ผ่อนผันขึ้นทะเบียน

นายสุชาติกล่าวต่อไปถึงมาตรการที่กระทรวงแรงงานดูแลแรงงาน 3 สัญชาติ (เมียนมา กัมพูชา ลาว) ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมาว่า กระทรวงแรงงานดำเนินการปรับเปลี่ยนระเบียบ นโยบาย หรือมาตรการต่าง ๆ เพื่อสอดรับกับสถานการณ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนนายจ้าง/สถานประกอบการที่ขาดแคลนแรงงาน

พร้อมกับควบคุมป้องกันมิให้เกิดการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ โดยเสนอ ครม. เพื่อความเห็นชอบ ซึ่งได้รับความเห็นชอบแล้ว 3 มติ ดังนี้

1.มติ ครม. เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ให้คนต่างด้าว 3 สัญชาตินี้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ โดยให้นายจ้างที่จ้างแรงงานข้ามชาติที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ยื่นบัญชีรายชื่อแจ้งความต้องการจ้างคนต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งทำให้แรงงาน 3 สัญชาติ กว่า 4 แสนรายได้รับอนุญาตทำงาน

2.มติ ครม. เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่แล้ว หรือเคยได้รับอนุญาตทำงาน แต่ไม่สามารถดำเนินการขอใบอนุญาตทำงานตามขั้นตอนปกติเนื่องจากมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเพื่อการทำงานได้ต่อไปถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 หรือ 2 ปี นับแต่วันที่การอนุญาตเดิมสิ้นสุด รวมทั้งขยายเวลาการหานายจ้างจาก 30 วัน เป็น 60 วัน ซึ่งทำให้แรงงานต่างด้าวได้รับอนุญาตทำงานกว่า 1 แสนคน ช่วยแก้ปัญหาให้นายจ้างที่ขาดแคลนแรงงาน และลดภาระค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก

3.มติ ครม. เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 เห็นชอบให้กระทรวงแรงงานดำเนินการตรวจสถานที่ก่อสร้าง สถานประกอบการ โรงงาน และสถานที่ทำงาน เพื่อให้คำแนะนำการปฏิบัติตนตามมาตรการทางสาธารณสุขแก่นายจ้างและแรงงานต่างด้าว เป็นระยะเวลา 30 วัน เก็บตกแรงงาน 3 สัญชาติ ที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

โดยจะบันทึกข้อมูลนายจ้างและแรงงานต่างด้าว กำหนดวันนัดหมายให้นายจ้างมาดำเนินการยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนแรงงงานต่างด้าว ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 เพื่อเข้าสู่ระบบการจ้างงานตามกฎหมายประเทศไทย และได้รับการดูแลตามสิทธิที่พึงมี

หากอยู่ในกิจการที่มีประกันสังคมมีสิทธิเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และได้รับการคุ้มครอง และสิทธิการรักษาพยาบาลเช่นเดียวกับคนไทยที่อยู่ในระบบประกันสังคม หรือหากไม่อยู่ในกิจการที่มีประกันสังคมก็ได้รับสิทธิประกันสุขภาพตามสิทธิประกันที่มีการกำหนดให้ทำเมื่อเข้ามาทำงานในประเทศไทย

นายสุชาติกล่าวด้วยว่า กระทรวงยังมีโครงการให้ความช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวด้านอาหาร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่แรงงานต่างด้าวในแคมป์ก่อสร้าง และลดภาระนายจ้าง/สถานประกอบการที่ถูกปิดตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ ร่วมระยะเวลา 27 วัน รวมแจกข้าวกล่องถึง 1.3 ล้านกล่อง สามารถช่วยเหลือคนต่างด้าวได้เกือบ 8 หมื่นคน

ไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน

แผนงาน 7 ด้านรองรับนำเข้าแรงงาน

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า จากนี้จะเร่งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในเรื่องรายละเอียดขั้นตอน โดยจะหารือใน 7 เรื่องหลัก ได้แก่

  1. การยื่นแบบคำร้องขอนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ
  2. การดำเนินการของประเทศต้นทาง
  3. การยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว
  4. การอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศ
  5. จุดผ่านแดน/ด่านตรวจคนเข้าเมือง
  6. สถานที่กักตัว และระยะเวบากักตัวแต่ละกลุ่ม (กลุ่มสีเขียว, กลุ่มสีเหลือง, กลุ่มสีแดง)
  7. การอบรมและรับใบอนุญาตทำงาน

เมื่อได้แนวทางที่ชัดเจน จะเสนอต่อที่ประชุม ศบค. เพื่อเริ่มดำเนินการทันที